WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้มีโอกาสลงตามภูมิภาค กังวลศก.สหรัฐฯ-การเมืองไม่เคลียร์

     นายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่า มีโอกาสจะปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่จะปรับตัวลงไปอยู่ในแดนลบ จากความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯหดตัวลง

     ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังไม่มีความชัดเจน และในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ผู้ชุมนุมก็ได้นัดหมายออกมาชุมนุมกัน ส่งผลให้ช่วงนี้ยังมีแรงขายกดดันตลาดหุ้นไทยอยู่

พร้อมให้แนวรับ 1,385 จุด แนวต้าน 1,400 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :

       - ตลาดหุ้นนิวยอร์ควานนี้(15 พ.ค.)ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 16,446.81 จุด ลดลง 167.16 จุด (-1.01%), ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 1,870.85 จุด ลดลง 17.68 จุด(-0.94%),ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 4,069.29 จุด ลดลง 31.34 จุด(-0.76%)

       - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้านี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิด ลดลง 210.45 จุด หรือ -1.47% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิด ลดลง 6.72 จุด หรือ -0.33% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิด ลดลง 23.53 จุด หรือ  -0.27% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิด ลดลง 5.66 จุด หรือ -0.17% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิด ลดลง 0.01 จุด หรือ -0.00%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิด ลดลง 85.34 จุด หรือ -0.38% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิด ลดลง 1.37 จุด หรือ -0.07% ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียเปิด ลดลง 1.10 จุด หรือ -0.02% และดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิด เพิ่มขึ้น 0.53 จุด หรือ +0.01%

       - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(15 พ.ค.) ที่ 1,395.21 ลดลง 0.82 จุด(-0.66%)

      - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 595.76 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 พ.ค.57

       - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(15 พ.ค.)ที่ 101.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 87 เซนต์

       - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(15 พ.ค.)ที่ 5.65 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

      - เงินบาทเปิดที่ 32.48/50 ทรงตัวรอปัจจัยใหม่

     - ผบ.ทบ.ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ลั่นพร้อมใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบพร้อมมาตรการปราบปรามขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงหากสถานการณ์บานปลายมีแนวโน้มจลาจล เตือนพวกเตรียมปิดล้อมหน่วยทหารให้เลิกคิด ขู่ผู้กระทำผิดจะไม่สามารถเรียกร้อง ค่าเสียหายใดๆ ได้ หน่วยงานความมั่นคงแปลความอาจเตรียมใช้ "กฎอัยการศึก" ด้านที่ประชุมส.ว.กับองค์กรต่างๆ เห็นพ้องต้องมีรัฐบาลอำนาจเต็มแก้วิกฤติประเทศ

     - แบงก์ชาติ ระบุ การเมืองกลับมากดดันบาทอ่อน ขณะค่า"ความเสี่ยง"ผิดชำระหนี้ทรงตัว สวนทางภูมิภาคปรับลดลง ขณะหอการค้าเผยเอสเอ็มอีเริ่มเผชิญปัญหาสภาพคล่อง คาดยืดเยื้อนานส่อปิดกิจการ 8 แสนราย กระทบนักศึกษาจบใหม่ตกงาน 3 แสนคน

    - นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประเมินหากการเมืองรุนแรงขึ้นภายใน 3 เดือนจากนี้ไป มีโอกาสที่เอสเอ็มอีจะปิดกิจการมากถึง 30-40% หรือประมาณ 7-8 แสนราย จากทั้งหมด 2.5 ล้านราย

    - "อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย"เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ จะเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่รอการพิจารณาอยู่กว่า 40 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยโครงการลงทุนส่วนใหญ่จะมีขนาดการลงทุน 250-750 ล้านบาท

     - นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับการแจ้งจากกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ใกล้จะอนุมัติให้นำเข้าไก่สดแปรรูปจากไทยแล้ว หลังประกาศห้ามนำเข้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากไทยมาตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากปัญหาโรคไข้หวัดนก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จหลังจากได้เจรจาและเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์นำเข้าไก่สดแปรรูปจากไทยมาโดยตลอด

     - ตลาดหลักทรัพย์ชี้ พื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังดี จากต้นปีปรับขึ้นแล้ว 8.9% เป็นอันดับ 4 ในภูมิภาค เผยนับตั้งแต่มีปัญหาการชุมนุม มีหุ้นขนาดกลางและเล็กปรับขึ้นกว่า 200 ตัว โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเหมืองแร่ปรับขึ้นสูงสุด ผลจากพื้นฐานธุรกิจดี นักลงทุนสนใจ และบางตัวปรับลดลงไปมากแล้วก่อนหน้านี้

      - ศูนย์วิจัยทองคำเผยผลสำรวจผู้ค้าทอง มองครึ่งปีหลังไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อบาททองคำ เหตุคิวอี-ค่าเงินกระทบ มองเป็นโอกาสซื้อทองรูปพรรณ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเดือนพ.ค.อยู่ที่ 50.46 จุด ปัจจัยบวกจากความตึงเครียดยูเครน

      - ธปท.เล็งปรับข้อสมมติฐานภาคการคลังใหม่และประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานนโยบายการเงินวันที่ 27 มิ.ย.นี้ หลังเลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐ ชี้ช่วงนี้เศรษฐกิจไทยแค่ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง แต่หากไม่มี shock รอเวลาดีขึ้น เผยเงินบาทอ่อน แต่ยังเกาะกลุ่มภูมิภาค ต่างชาติลงทุนบอนด์ไทยยังปกติ

*หุ้นเด่นวันนี้

       - CK(ฟินันเซีย ไซรัส)"ซื้อ"เป้า 20 บาท กำไรดีตามคาด โดยกำไรปกติ 1Q14 เพิ่ม 59% Q-Q และ 27% Y-Y คิดเป็น 42% ของประมาณการทั้งปีซึ่งเราคงไว้ก่อน หากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทจะทบทวนประมาณการอีกครั้ง

      - TVO(ฟินันเซีย ไซรัส)"ซื้อ"เป้า 27 บาท กำไรดีตามคาด New high ในรอบ 6 ไตรมาส โดยกำไรสุทธิ 1Q14 เพิ่ม 16% Q-Q และ 686% Y-Y ได้อานิสงส์จากการมีวัตถุดิบราคาต่ำใช้ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาสที่ 13.1% กำไรดังกล่าวคิดเป็น 31% ของประมาณการทั้งปีที่คาดโต 75% Y-Y โดยคาดว่า 1Q14 จะเป็นไตรมาสดีสุดของปีนี้ แต่ราคาหุ้นปัจจุบันคิดเป็น PE เพียง 10.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 13 เท่า และให้เงินปันผลตอบแทนดี 7%

       - SAMART(เคเคเทรด)"ซื้อ"เป้า 27.40 บาท หุ้นในกลุ่ม SAMART ประกาศผลการดำเนินงานใน 1Q57 ออกมาประทับใจที่สุดในมุมมองของเรา ทั้งในส่วนของบริษัทแม่อย่าง SAMART ที่ผลการดำเนินงานจากธุรกิจปกติมีกำไรเพิ่มขึ้น YoY และ QoQ ใกล้เคียงคาด อันเป็นผลจากผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของบริษัทลูกอย่าง SIM และ SAMTEL ขณะที่ผลจากการนำบริษัทลูกอย่าง วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จะส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการขายหุ้นราว 38 ล้านบาท หรือ 0.03 บาท/ หุ้น แนวโน้มผลการดำเนินงานใน 2Q57 จะดีต่อเนื่อง ตามผลการดำเนินงานของ SIM และธุรกิจที่ลงทุนโดยตรง

       - TRUE(เคเคเทรด)"ซื้อเก็งกำไร"เป้า 7.20 บาท ผลประกอบการใน 1Q57 ออกมามีกำไรสุทธิครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ 3,855 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรับรู้รายการพิเศษจากการปรับมูลค่าเงินทุนใน TRUEIF และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามา ขณะที่ผลการดำเนินงานจากธุรกิจปกติยังคงขาดทุน 730 ล้านบาท อย่างไรก็ดีมองว่าผลการดำเนินงานปกติที่ขาดทุนลดลงใน 1Q57 และส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มเป็น 8,568 ล้านบาท จะช่วยคลายกังวลต่อข่าวเพิ่มทุนในระยะสั้น ๆ ได้ ด้านของความเสี่ยงจากระดับ Net D/E ที่สูงถึง 24 เท่า ทำให้มองมีโอกาสที่จะเห็นการเพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นผันผวนในระยะต่อไป

ตลาดหุ้นเอเชียปรับลดลงเช้านี้ เหตุวิตกเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว

      ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากสหรัฐเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลง และจีนเปิดเผยตัวเลขหนี้เสียที่ปรับตัวสูงขึ้น

     ดัชนี MSCI Asia Pacific Index ปรับตัวลง 0.8% เมื่อเวลา 09.59 น.ตามเวลาโตเกียว

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดที่ 14,087.76 จุด ลดลง 210.45 จุด หรือ -1.47% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดที่ 2,003.48 จุด ลดลง 6.72 จุด หรือ -0.33% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดที่ 8,857.12 จุด ลดลง 23.53 จุด หรือ  -0.27% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดที่ 3,266.83 จุด ลดลง 5.66 จุด หรือ -0.17% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดที่ 1,879.82 จุด ลดลง 0.01 จุด หรือ -0.00%

      ส่วนดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ 22,645.52 จุด ลดลง 85.34 จุด หรือ -0.38% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดที่ 2,023.60 จุด ลดลง 1.37 จุด หรือ -0.07% ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียเปิดที่ 5,509.70 จุด ลดลง 1.10 จุด หรือ -0.02% และดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดที่ 6,849.86 จุด เพิ่มขึ้น 0.53 จุด หรือ +0.01%

      ตลาดหุ้นเอเชียได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดการผลิตของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค หดตัวลง 0.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.1%

      ขณะที่จีนเปิดเผยว่า หนี้เสียของธนาคารพาณิชย์จีนในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ 6.461 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 54.1 หมื่นล้านหยวนจากช่วงต้นปีนี้

      นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) รายงานว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 0.4%

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 37.60 จุด หลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐหดตัว

    ดัชนี FTSE 100 ที่ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (15 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงเกินคาดในเดือนเม.ย.

    ดัชนี FTSE 100 ปิดลดลง 37.60 จุด หรือ 0.55% ที่ 6,840.89 จุด

     ตลาดหุ้นลอนดอนร่างลงจากระดับสูงสุดในรอบกว่า 14 ปี เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดการผลิตของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค หดตัวลง 0.6% ในเดือนเม.ย. ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต ปรับตัวลดลง 0.7% สู่ระดับ 78.6% เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ของสหรัฐได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต

     ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยับลงเพียง 0.1% และอัตราการใช้กำลังการผลิตจะขยับลงเล็กน้อย สู่ระดับ 79%

      หุ้นโวดาโฟนร่วงลง 2.3% หลังจากโกลด์แมนด์ แซคส์ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นบริษัท ขณะที่หุ้นดิกซันส์ รีเทลและหุ้นคาร์โฟน แวร์เฮาส์ กรุ๊ป ต่างร่วงหนัก หลังจากทั้งสองบริษัทตกลงที่จะควบรวมกิจการกัน

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : วิตกเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัว ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ

     ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (15 พ.ค.) หลังจากมีรายงานว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้น้อยกว่าการคาดการณ์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานผลประกอบการของบริษัทเอกชน

    ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.9% ปิดที่ 338.5 จุด

    ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,444.93 จุด ลดลง 56.11 จุด หรือ -1.25% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,656.05 จุด ลดลง 98.34 จุด หรือ -1.01% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,840.89 จุด ลดลง 37.60 จุด หรือ -0.55%

      ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) รายงานว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 0.4% โดยเศรษฐกิจอิตาลีและโปรตุเกสหดตัวลง 0.1% และ 0.7% ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจฝรั่งเศสทรงตัว เนื่องจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ที่มีจุดประสงค์เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณลงนั้น ได้เพิ่มแรงกดดันต่อผู้บริโภค

    หุ้นดอยช์ โพสต์ ร่วงลง 5.2% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ยในไตรมาสแรกอยู่ที่ 726 ล้านยูโร ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 752 ล้านยูโร

    ขณะที่หุ้นโธมัส คุ๊ก ร่วงลง 13% ส่วนหุ้น H&M ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่อันดับสองของยุโรป ดีดตัวขึ้น 3.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 17% ซึ่งสูงกกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10.1%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 167.16 จุด เหตุวิตกผลประกอบการ

      ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (15 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทเอกชน รวมถึงวอลมาร์ท ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐที่หดตัวลงในเดือนเม.ย.

    ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,446.81 จุด ร่วงลง 167.16 จุด หรือ -1.01% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,069.29 จุด ลดลง 31.34 จุด หรือ -0.76% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,870.85 จุด ลดลง 17.68 จุด หรือ -0.94%

    ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงตั้งแต่ตลาดเปิดทำการ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดการผลิตของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค หดตัวลง 0.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.1% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต ปรับตัวลดลง 0.7% สู่ระดับ 78.6% เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ของสหรัฐได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต

    นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทเอกชน โดยบริษัทวอลมาร์ท เปิดเผยว่ากำไรไตรมาสแรกลดลงสู่ระดับ 1.10 ดอลลาร์ต่อหุ้น อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในสหรัฐ พร้อมกับคาดการณ์ว่าผลกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2 จะอยู่ที่ 1.25 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.28 ดอลลาร์ต่อหุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นวอลมาร์ทร่วงลง 2.43% ในการซื้อขายเมื่อคืนนี้

      อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงบวกในระหว่างวันจากรายงานที่ว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค.ของสหรัฐ ลดลง 24,000 ราย สู่ระดับ 297,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 320,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง

    หุ้นโคห์ล คอร์ป ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งนั้น ดิ่งลง 1.1% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่หุ้นบริสทอล-เมเยอร์ สควิบบ์ ร่วงลง 6.1% หลังจากบีเอ็มโอ แคปิตอล มาร์เก็ตส์ ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นดังกล่าวลงสู่ระดับ "market perform" จากระดับ "outperform"

    หุ้นเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ร่วงลง 1.7% เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเรียกคืนรถยนต์ของบริษัทจีเอ็ม

    ส่วนหุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ พุ่งขึ้น 6% หลังจากบริษัทคาดการณ์ว่ารายได้ในไตรมาส 2 จะอยู่ที่ 1.23 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์

                        อินโฟเควสท์

                

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!