WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งไซต์เวย์-อิงบวก น้ำมันรีบาวน์-เงินต่างชาติไหลเข้า

    นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งไซต์เวย์ อิงแดนบวก เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงรีบาวน์ได้ และกระแสเม็ดเงินจากต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มที่จะไหลเข้าอยู่ แต่การขยับขึ้นของดัชนีฯอาจจถูกจำกัดจากแรงกดดันที่มาจาก SCB หลังจากที่เกิดเหตุไฟไหม้ที่สำนักงานใหญ่

    ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนลบเล็กน้อย แม้ว่าดาวโจนส์จะติดลบเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้สร้างความกังวลอะไร แต่ตลาดฯยังมีความกังวลเรื่องของกรีซ และยังมีความเป็นห่วงในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

    พร้อมให้แนวรับ 1,609-1,600 จุด ส่วนแนวต้าน 1,619-1,625 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน

    - ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่าสุด(6 ก.พ.58)ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,824.29 จุด ลดลง 60.59 จุด(-0.34%),ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,744.40 จุด ลดลง 20.70 จุด(-0.43%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,055.47 จุด ลดลง 7.05 จุด(-0.34%)

    - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 141.81 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ ลดลง 12.40 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ ลดลง 149.84 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 8.94 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ ลดลง 6.02 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ ลดลง 5.63 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 2.37 จุด

     - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(6 ก.พ.58) 1,613.63 จุด เพิ่มขึ้น 5.71 จุด(+0.36%)

      - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,826.24 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 ก.พ.58

      - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(6 ก.พ.58) ปิดที่ 51.69 ดอลลาร์/บาร์เรล .เพิ่มขึ้น 1.21 ดอลลาร์ หรือ 2.4%

     - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(6 ก.พ.58)ที่ 8.40 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

       - เงินบาทเปิด 32.61/62 แนวโน้มอ่อนค่า หลังตัวเลขศก.สหรัฐฯหนุนดอลล์แข็ง

       - นักเศรษฐศาสตร์-นักการเงิน ห่วงส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่อง หลังเงินบาทแข็งเทียบคู่ค้า-คู่แข่ง หวั่นสูญความสามารถการแข่งขัน "กอบศักดิ์" ชี้เงินบาทแข็งเกินพื้นฐาน ด้าน "ตีรณ" ห่วงติดลบเป็นปีที่ 3 มองเศรษฐกิจคู่ค้าไม่ฟื้น เชื่อแทรกแซงค่าเงินไม่ช่วยส่งออก ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรจ่อหั่นคาดการณ์ส่งออกลง

      - แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำชับมายังธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในกำกับดูแลให้เข้มงวดกับมาตรการดูแลเงินฝากของลูกค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ที่จะได้รับบริการพิเศษจากธนาคาร เช่น มีพนักงานไปรับฝากเงินถึงบ้าน ขอโอนเงินฉุกเฉินจากบัญชีไปชำระค่าสินค้าและเซ็นชื่อย้อนหลัง เป็นต้น โดยที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเพราะเป็นการดำเนินการตรงไปตรงมาของธนาคารกับลูกค้า

      - นายยอดขวัญ จุณณะปิยะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร รักษาการผู้อำนวยการเขตจตุจักร เปิดเผยถึงเหตุเพลิงไหม้ธนาคาร ไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ โซนเอเมื่อคืนวันที่ 7 ก.พ. 2558 ว่า จุดที่เกิดไฟไหม้มีเพียงชั้น 10 แต่เพื่อความปลอดภัยจะลงนามคำสั่งปิดอาคารโซนเอ ซึ่งมีทั้งหมด 34 ชั้น เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะให้หน่วยงานทางวิศวกรรมเข้าตรวจสอบ และมีหนังสือรับรองยืนยันความปลอดภัยว่าในชั้นอื่นๆ สามารถ ใช้งานได้

      - "วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ" รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้คลังเป็นห่วงการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2558 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลงมาก ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการ นำเข้าน้ำมันหายไปเดือนละ 3,000-4,000 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยภาษีที่หายไปมากขึ้น

     - "คลัง" เผยแบงก์รัฐเร่งทำโครงการช่วยเหลือคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตามมติ คสช.เผยแผนมีทั้ง "พักหนี้-ลดดอกเบี้ย" ดึง "เอสเอ็มอีแบงก์" ปล่อยกู้โอท็อป ตั้งวงเงิน 1 หมื่นล้าน คาดได้ข้อสรุป 16 ก.พ.นี้ ขณะที่ สศค. เตรียมเสนอ "สมหมาย" เซ็นมอบอำนาจให้ "แบงก์ชาติ" ดูแลเอสเอฟไอภายในเดือนนี้ ชี้ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย

     - แบงก์ชาติเผยยอดหนี้ต่างประเทศเดือน ธ.ค. รวมกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ลดจากเดือนก่อน 1.2 พันล้านดอลลาร์ ผลจากค่าเงินดอลลาร์แข็งเทียบสกุลอื่น ขณะที่ภาคธุรกิจเร่งคืนหนี้ ด้านทุนสำรองฯ เทียบหนี้ระยะสั้นยังสูงกว่า 2.7 เท่า

      - "ประจิน" เตรียมแผนสำรอง กู้ในประเทศ และตั้งกองทุนอินฟราฯ ลงทุนก่อสร้างรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-แก่งคอย-หนองคาย หลังจีนเสนอเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ย 2-4% เผยสูงเกินไป ชี้หากได้ต่ำสุดที่ 2% จะลดสัดส่วนเงินกู้จีนลงไม่ใช้ 100% แน่นอน เตรียมเจรจา 11-13 ก.พ.นี้ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนพร้อมแบ่งสัดส่วนงานก่อสร้างผู้รับเหมาไทยกับจีน

*หุ้นเด่นวันนี้

       - ITD(เมย์แบงก์ กิมเอ็ง)"ทยอยสะสม"เป้า 10.50 บาท คาดหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะตอบรับเชิงบวก จากการเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. เพื่อศึกษาและหาความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาโครงการคมนาคมขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ – กาญจนบุรี, กรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – อรัญประเทศ และกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา –แหลมฉบัง เชื่อ ITD จะได้รับ Sentiment เชิงบวกสูงสุด เนื่องจากจะมีการหารือกันเพื่อยืนยันความพร้อมในการลงทุนโครงการทวายระหว่าง 3 ประเทศได้แก่ ไทย, พม่า และญี่ปุ่น และคาดว่าจะเห็นการเซ็นสัญญากับ ITD เพื่อพัฒนาโครงการทวายอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือน ก.พ.

     - IFEC(บัวหลวง)ข่าวเซ็นสัญญาร่วมลงทุน (LOI) ร่วมลงทุนโครงการ Gwideok โรงไฟฟ้าลมนอกชายฝั่ง 200MW โดยให้แนวรับ 18 บาท ส่วนแนวต้านระยะสั้น 20 บาท

     - PTT(โกลเบล็ก)เป้า 400 บาท ได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างพลังงานในระยะยาว โดยการปรับขึ้นราคา NGV และ LPG ช่วยลดการขาดทุนได้ราว 9 พันลบ./ปี พร้อมคาดกำไรปี 2558 ที่ 7.4 หมื่นลบ. (+34%YoY)  ซึ่งยังไม่รวมกำไรพิเศษกว่า 1 หมื่นลบ. จาก Due ขายหุ้น BCP(27.22%) , IPO  GPSC  (30.10%)  และ SPRC (36%) เข้าตลท. และวานนี้ราคาน้ำมันดิบ +1.21 US/Barrel = 51.69 US/Barrel

      - SAWAD(ธนชาต)"ซื้อ"คาดผลการดำเนินงานเติบโตแข็งแกร่ง 52% y-y ใน 4Q14 และมีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลเป็น “หุ้นปันผล" ด้วยเป้าหมายระยะสั้นที่ 36.50 บาท

                - SIRI(ธนชาต)"ซื้อ"เป้า 2.60 บาท จาก 1) กำไร 4Q14 ทำจุดสูงสุดของปี 2) ปันผลอย่างน้อย 0.10 บาท หรือ Yield 5.2% สำหรับปี 2014 3) Valuation ต่ำที่สุดในกลุ่มที่ PE 8x 4) ราคายืนแนวต้าน 1.86 บาท เป้ามายระยะสั้น 2.0 บาท

ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่อ่อนตัวเช้านี้ หลังยอดส่งออกจีนลดลง

     ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ หลังยอดส่งออกของจีนปรับตัวลดลงในเดือนม.ค. แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นเพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยน

     ดัชนี MSCI Asia Pacific เคลื่อนไหวอย่างผันผวนที่ระดับ 141.24 จุด เมื่อเวลา 9.01 น.ตามเวลาโตเกียว

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 17,790.31 จุด เพิ่มขึ้น 141.81 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,063.51 จุด ลดลง 12.40 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,529.55 จุด ลดลง 149.84 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,465.12 จุด เพิ่มขึ้น 8.94 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,949.50 จุด ลดลง 6.02 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,425.73 จุด ลดลง 5.63 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,815.62 จุด เพิ่มขึ้น 2.37 จุด

                ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนระบุว่า ยอดส่งออกของจีนเดือนม.ค.ปรับตัวลง 3.2% เมื่อเทียบรายปี แตะ 1.23 ล้านล้านหยวน (2.0078 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนยอดการนำเข้าอยู่ที่ 8.6 แสนล้านหยวน ลดลง 19.7%

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 12.49 จุด หลังยอดขาดดุลการค้าสูง,วิตกกรีซ

      ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) หลังจากที่มีการเปิดเผยยอดขาดดุลการค้าอังกฤษที่เพิ่มสูงขึ้นในปีที่แล้ว ประกอบกับหุ้นเทต แอนด์ ไลล์ ร่วงลง หลังจากที่บริษัทปรับลดคาดการณ์ผลกำไรปีนี้

      ดัชนี FTSE 100 ลดลง 12.49 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 6,853.44 จุด อย่างไรก็ดี ตลอดสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวขึ้น 1.5% เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มดีดตัวขึ้น

      สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ยอดขาดดุลการค้าสินค้าและบริการอยู่ที่ 34.8 หมื่นล้านปอนด์ (5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2557 ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งยอดส่งออกและนำเข้าต่างลดลงในปีที่แล้วเมื่อเทียบกับปี 2556 โดยเฉพาะยอดส่งออกที่ลดลงอย่างมาก

      ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในกรีซ โดยรมว.คลังคนใหม่ของกรีซได้เข้าพบบรรดาเจ้าหนี้ในยุโรป ขณะที่รัฐบาลพยายามขอผ่อนปรนเงื่อนไขการรับความช่วยเหลือทางการเงิน

      หุ้นเทต แอนด์ ไลล์ ผู้ผลิตสารให้ความหวาน Splenda ร่วงลง 14% หลังจากที่บริษัทได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรปี 2558 ลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ย.

     นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวลดลงเช่นกัน นำโดยหุ้นแรนโกลด์ รีซอร์สเซส ที่ร่วงลงถึง 4.32% ตามด้วยเฟรสนิลโล 4.12% อังโกล อเมริกัน 2.26% และบีเอชพี บิลลิตัน 2.15%

    อย่างไรก็ดี หุ้นอเบอร์ดีน แอสเสท แมเนจเมนท์ บวก 2.3% หลังได้รับการปรับเพิ่มความน่าลงทุนในหุ้น ขณะที่หุ้นบาร์เคลย์พุ่งขึ้น 2.67% เป็นแกนนำหุ้นบวก

    ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปรับตัวขึ้นไปถึง 0.3% หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.เพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ก่อนที่ดัชนีจะกลับมาเคลื่อนไหวในแดนลบและปิดตลาดลดลงในที่สุด

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : จ้างงานสหรัฐสดใส หนุนหุ้นยุโรปปิดบวกต่อเนื่องเป็นวันที่ 5

    ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) เพราะได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลการจ้างงานเดือนม.ค.ของสหรัฐที่ออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

     ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.2% ปิดที่ 373.31 จุด และปรับตัวขึ้น 1.7% ตลอดทั้งสัปดาห์

     อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นประเทศชั้นนำของยุโรปปรับตัวลดลง โดยดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสลดลง 12.27 จุด หรือ 0.26% ปิดที่ 4,691.03 จุด ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันลดลง 59.02 จุด หรือ 0.54% ปิดที่ 10,846.39 จุด ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนลดลง 12.49 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 6,853.44 จุด

      ดัชนี หุ้นยุโรปได้ปรับตัวลดลงไปถึง 0.4% ในช่วงแรกของการซื้อขาย เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในกรีซ ในขณะที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลและเจ้าหนี้ต่างประเทศยังไม่คืบ

     อย่างไรก็ดี ภาวะการซื้อขายพลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด

      กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 257,000 รายในเดือนม.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นที่ราว 230,000 ราย โดยตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค.ถือเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 ราย

    ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 5.7% จาก 5.6% ในเดือนธ.ค.

    นักวิเคราะห์กล่าวว่า นักลงทุนในยุโรปขานรับตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่ออกมาดีมาก เพราะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร อันจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกในยุโรป

    ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกรีซ โดยล่าสุดนายยานิส วารูเฟกิส รมว.คลังกรีซ ได้เดินทางกลับถึงกรุงเอเธนส์แล้ว โดยไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ชาติยุโรปเห็นพ้องกับความต้องการของกรีซในการยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัด และทำการปรับโครงสร้างหนี้

     ทั้งนี้ ประเทศต่างๆที่นายวารูเฟกิสเดินทางเยือนในสัปดาห์นี้ แม้แต่ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายซ้ายเหมือนกับกรีซ ต่างก็ยืนกรานให้กรีซปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ทำไว้กับสหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่คัดค้านการปรับลดหนี้ให้แก่กรีซ

      บรรดารัฐมนตรีคลังของยูโรโซนจะจัดการประชุมพิเศษในวันที่ 11 ก.พ. เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินต่อกรีซ ขณะที่เตรียมการสำหรับผู้นำของ EU ที่จะเจรจาในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 12 ก.พ.

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 60.59 จุด เหตุวิตกเฟดขึ้นดบ.เร็วขึ้น หลังจ้างงานแกร่ง

    ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ (6 ก.พ.) แม้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.ที่เพิ่มขึ้นมากเกินคาดก็ตาม โดยภาวะการซื้อขายถูกกดดันจากการที่นักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยเร็วขึ้น

      ดัชนี DJIA ตลาดหุ้นนิวยอร์กลดลง 60.59 จุด หรือ 0.34% ปิดที่ 17,824.29 จุด ดัชนี S&P500 ลบ 7.05 จุด หรือ 0.34% ปิดที่ 2,055.47 จุด ดัชนี NASDAQ ลบ 20.70 จุด หรือ 0.43% ปิดที่ 4,744.40 จุด

    อย่างไรก็ดี แม้ปรับตัวลงในวันศุกร์ แต่ตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้งสามดัชนียังคงปรับตัวสูงขึ้น 3.8%, 3.0% และ 2.4% ตามลำดับ

    กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 257,000 รายในเดือนม.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นที่ราว 230,000 ราย โดยตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค.ถือเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 ราย

    นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย.และธ.ค. โดยปรับเพิ่มขึ้น 147,000 ตำแหน่งจากที่มีการรายงานก่อนหน้านี้

    ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 5.7% จาก 5.6% ในเดือนธ.ค.

    ด้านค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงของลูกจ้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 12 เซนต์ เป็น 24.75 ดอลลาร์ในเดือนม.ค. หลังจากที่ลดลง 5 เซนต์ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 2.2%

    ข้อมูลที่สดใสดังกล่าวได้จุดกระแสการณ์ในหมู่นักลงทุนว่า เฟดอาจจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงกลางปี หลังจากที่คงดอกเบี้ยไว้ที่ใกล้ 0% มาตั้งแต่เดือนธ.ค.2551

    สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่า ขณะนี้เทรดเดอร์มองว่ามีความเป็นไปได้ 62% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือนก.ย. ขณะที่มีความเป็นไปได้ 47% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่สูงเกินคาด และค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว

    ก่อนการเปิดเผยรายงานดังกล่าว เทรดเดอร์คาดว่าเฟดจะรอจนกว่าเดือนต.ค.สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

      คริส โลว์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่เอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล กล่าวว่า ข้อมูลจ้างงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่องจากเดือนพ.ย.และธ.ค. ประกอบกับการคลายความกังวลเกี่ยวกับค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนม.ค.หลังจากที่ลดลงในเดือนธ.ค. เขาจึงคาดว่าเฟดอาจเริ่มพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนเดือนมิ.ย.

      นอกจากกระแสคาดการณ์เรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กยังถูกกดดันจากการที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ระดับ B- จาก B และประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ ซึ่งยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจยุโรป

     ในส่วนของข่าวคราวความเคลื่อนไหวภาคธุรกิจนั้น หุ้นทวิตเตอร์ทะยาน 16.36% หลังจากที่บริษัทรายงานกำไรและรายได้สูงกว่าคาดการณ์ แม้จำนวนผู้ใช้น่าผิดหวัง

   หุ้นมูดีส์ คอร์ป พุ่ง 5.11% หลังบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2557 ที่แข็งแกร่ง พร้อมคาดการณ์แนวโน้มปี 2558 ในทิศทางเดียวกับตลาด

    ข้อมูลล่าสุดจากทอมสัน รอยเตอร์ แสดงให้เห็นว่า บรรดาบริษัทจดทะเบียน S&P 500 อาจมีผลกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 6.4% ขณะที่คาดว่ารายได้จะโต 1.8% โดยจนถึงขณะนี้มีบริษัทรวมทั้งสิ้น 322 บริษัทในดัชนี S&P 500 ที่รายงานงบการเงินไตรมาส 4 เรียบร้อยแล้ว

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!