WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าลุ้นรีบาวด์จำกัดตอบรับศก.ชะลอแล้ว-เล็ง Window Dressing

        นายเกียรติก้อง เดโช นักกลยุทธ์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะรีบาวด์ขึ้นได้ในกรอบจำกัด หลังจากที่ดัชนีลงมาทดสอบบริเวณ 1,500 จุดแล้วก็มีแรงซื้อกลับเข้ามา วานนี้ตลาดฯปรับตัวลงรับผลจากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอตัวลง หลังจากที่ ADB ได้ปรับลดคาการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.6% รวมถึงตัวเลขการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์จะประกาศในวันพรุ่งนี้(26 มี.ค.)ที่ตลาดคาดว่าจะออกมาไม่ดี มองว่าตลาดฯได้ discount ไปเรียบร้อยแล้ว แต่หากออกมาดีอาจทำให้ตลาดฯดีดกลับขึ้นไปได้ และยังมีความคาดหวังจากการทำ Window Dressing ในช่วงก่อนปิดงบฯไตรมาส 1/58

       ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบคละกัน โดยการเจรจาหนี้ของกรีซยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใดออกมา แต่เชื่อว่าสุดท้ายก็จะประนีประนอมกันได้ เพราะเชื่อว่ากรีซยังไม่พร้อมออกจากยูโรโซน

       พร้อมให้แนวรับ 1,505-1,500 จุด ส่วนแนวต้าน 1,520-1,525 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน

        - ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่าสุด(24 มี.ค.58)ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 18,011.14 จุด ร่วงลง 104.90 จุด(-0.58%),ดัชนีNASDAQ ปิดที่ 4,994.73 จุด ลดลง 16.24 จุด(-0.32%),ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,091.50 จุด ลดลง 12.92 จุด(-0.61%)

         - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 32.30 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 10.46 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 10.93 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 7.59 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 1.79 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 0.46 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.61 จุด

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(24 มี.ค.58)1,514.45 จุด ลดลง 5.56 จุด(-0.37%)

                - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 356.12 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 มี.ค.58

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(24 มี.ค.58) ปิดที่ 47.51 ดอลลาร์/บาร์เรล ขยับขึ้น 6 เซนต์

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(24 มี.ค.58)ที่ 9.12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 32.50/52 ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย หลังตัวเลข ศก.สหรัฐออกมาดี

                - ผู้ประกอบการภูธร"ค้าปลีก-ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง-อสังหาฯ"ประสานเสียงกำลังซื้อทรุดทุกภาคเหตุราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา "สงขลา"เผยยอดขายรถยนต์ 2 เดือนแรกหดตัว 25% เร่งบริหารสต็อก รายเล็กทยอยปิดกิจการ ขณะค้าปลีกเชียงใหม่ แจงแข่งเดือด อัดโปรโมชั่นกระตุ้นการซื้อสินค้า ตลาดค่าวัสดุก่อสร้างหดตัว 30% ตลาดรถจักรยานยนต์ มองข้ามช็อตรอฟื้นปีหน้า

                - กำลังซื้อร่วงหนักฉุดยอดขายรถ 2 เดือนแรกติดลบ 11.8% ส.อ.ท.ห่วงยอดขายในประเทศปีนี้หลุดเป้า 9.5 แสนคัน หวัง"บางกอก มอเตอร์โชว์"ดันยอดขยับ ตั้งเป้ายอดจองกว่า 4 หมื่นคัน ค่ายรถดันรุ่นใหม่ พร้อมอัดแคมเปญกระตุ้น

                - ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้เหลือ 3.6% จากเดิม 3.9% เนื่องจากการส่งออกน่าจะขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด เดือน ม.ค. มูลค่าส่งออกโตติดลบ 3.5% ซึ่งปีนี้คาดว่าส่งออกไทยจะขยายตัวที่ระดับ 1-2%

                - ส.อ.ท.เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แถมอีก 3 เดือนข้างหน้าค่าดัชนียังต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เหตุกำลังซื้อประชาชนยังคงซบยอดผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรกยังไม่ฟื้นลดลง 15.57% เคาะปีนี้ผลิตรถ 2.15 ล้านคัน ด้านผลสำรวจเอสเอ็มอีหนุนรัฐเว้นตรวจสอบภาษีฯ ย้อนหลัง

                - สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯประเมินทั้งปี'58 รายได้ท่องเที่ยวไม่ถึง 2.2 ล้านล้าน เหตุเศรษฐกิจทั่วโลกซึม นักเที่ยวไทย-เทศหันเที่ยวแบบประหยัด หวัง'ประวิตร'เสนอ ครม.อนุมัติออกมัลติเพิลวีซ่า กระตุ้นทัวร์นอก คาดนโยบายให้หยุดงานยาวไม่ส่งผลอานิสงส์คนไทยเที่ยวไทย ตรงข้ามแห่เที่ยวนอก

*หุ้นเด่นวันนี้

                - AAV(ดีบีเอส วิคเคอร์ส)"ซื้อ"เป้า 6.60 บาท กำไรสุทธิ 4Q57 ดีกว่าตลาดคาด Core Profit (ไม่รวมกำไรจาก FX)อยู่ที่ 412 ล้านบาท ฟื้นจาก Core Loss ใน 3Q57 ที่ 293 ล้านบาท ปัจจัยหนุน ราคาน้ำมัน Jet Fuel ที่ลดลงและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวใน 4Q57 แนวโน้มปี 58 คาดกำไรดีขึ้นแข็งแกร่งที่ 1.6 พันล้านบาท ปัจจัยผลักดัน คือ จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15% ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ, Cabin factor เพิ่มเป็น 83% จาก 80% และรายได้เฉลี่ยต่อตั๋วเพิ่มขึ้น 3% เป็นผลปรับเพิ่มเส้นทางบินต่างประเทศ, ต้นทุนน้ำมันลด และฝูงบินเพิ่มขึ้นอีก 5 ลำเป็น 45 ลำในสิ้นปี 58

                - TRC(บัวหลวง)"ซื้อ"เป้าขึ้นเป็น 11.5 บาท อิง PE 20 เท่า มองฐานะการเงินที่แข็งแกร่งหลังการเพิ่มทุนเพียงพอให้สามารถลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ได้ มีแนวโน้มลงทุนเพิ่มใน APMC อย่างน้อยเป็น 25% เป็นปัจจัยบวกช่วยให้บริษัทได้รับงานก่อสร้าง Processing Plant เหมืองโปแตซ มูลค่า 2 หมื่นล้าน คาดบริษัทจะประกาศงานก่อสร้างถนนมูลค่า 1,200 ล้านบาทเป็นปัจจัยหนุนระยะสั้น สำหรับโครงการในอนาคตที่ยังไม่ได้รวมในราคาเป้าหมายได้แก่ กำไรจากการขายแร่โปแตซคาดรับรู้ในปี 2019 และงานรถไฟทางคู่ผ่าน JV ทุกๆ 1,000 ล้านบาทที่บริษัทได้รับงาน คาดกำไรปี 2016 และราคาเป้าหมายจะปรับเพิ่มราว 6%

                - ITD(โกลเบล็ก)ราคาสูงสุด Consensus 10.40 บาท Backlog สูงถึง 3 แสนลบ. รองรับรายได้อีก 5-6 ปี,เจรจารัฐบาลเมียนมาร์ทำนิคมอุตสาหกรรมทวายและโรงไฟฟ้า คาดสรุปกลางปี 58, โครงการเหมืองโปรแตซที่อุดรธานีหนุนรายได้และกำไรในอนาคตเติบโตมั่นคง และยังมีการประมูลโครงการขนาดใหญ่ล เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ

ตลาดหุ้นเอเชียดีดขึ้นเช้านี้ หลังหุ้นกลุ่มวัสดุ-สินค้าอุปโภคบริโภคทะยาน

                ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้นกลุ่มวัสดุและสินค้าอุปโภคบริโภค

                ดัชนี MSCI Asia Pacific เพิ่มขึ้น 0.2% แตะระดับ 148.98 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ตามเวลาโตเกียว

                ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,745.75 จุด เพิ่มขึ้น 32.30 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,410.53 จุด เพิ่มขึ้น 10.93 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,739.25 จุด เพิ่มขึ้น 7.59 จุด

                ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,043.16 จุด เพิ่มขึ้น 1.79 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,413.72 จุด เพิ่มขึ้น 0.46 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,812.43 จุด ลดลง 1.61 จุด

 ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 17.99 จุด หลังหุ้นเหมืองอ่อนแรง

                ตลาดหุ้นลอนดอนปิดอ่อนแรงลงเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) หลังจากปรับตัวในแดนบวกมา 6 วันทำการ โดยมีปัจจัยถ่วงจากหุ้นกลุ่มเหมืองที่ปรับลดลง

                ดัชนี FTSE 100 ลดลง 17.99 จุด หรือ 0.26% ปิดที่ 7,019.68 จุด

                หุ้นกลุ่มเหมืองแร่นำตลาดร่วงลง โดยหุ้นริโอ ทินโต รูดลง 1.99%, หุ้นเกลนคอร์ ปรับลง 1.87% และหุ้นแองโกล อเมริกัน ลดลง 1.84%

                ส่วนหุ้น Wolseley ร่วงลง 2.7% หลังบริษัทเปิดเผยว่าผลกำไรก่อนหักภาษีลดลงในช่วงครึ่งปีแรก

                สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษที่มีการรายงานเมื่อวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ได้ลดลงแตะระดับ 0% ในเดือนก.พ. โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 55 ปีที่เงินเฟ้อไม่มีการปรับตัวขึ้น

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดบวก ขานรับ PMI ยูโรโซนแข็งแกร่ง

                ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานของมาร์กิต อิโคโนมิคส์ที่ระบุว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนมี.ค.พุ่งขึ้นระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร

                ดัชนี Stoxx 600 ปรับขึ้น 0.3% ปิดที่ 402.49 จุด

                ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,088.28 จุด เพิ่มขึ้น 33.76 จุด หรือ +0.67% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,005.69 จุด พุ่งขึ้น 109.85 จุด หรือ +0.92% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,019.68 จุด ลดลง 17.99 จุด หรือ -0.26%

                ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นหลังจากมาร์กิต อิโคโนมิคส์ เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนมี.ค. ปรับตัวขึ้นแตะ 54.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือน จากระดับ 53.3 ในเดือนก.พ. บ่งชี้ว่ากิจกรรมในภาคธุรกิจขยายตัวขึ้น

                สำหรับ ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนมี.ค.ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 54.3 ซึ่งสูงสุดในรอบ 46 เดือนเช่นกัน จากระดับ 53.7 ในเดือนก.พ. และดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นแตะที่ 51.9 ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 51.0 ในเดือนก.พ.

                หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้น โดยหุ้นบังโค ซานตานเดร์ และหุ้นอินเทซา ซานเปาโล ต่างก็ปรับตัวขึ้นกว่า 1.5% ขณะที่หุ้นโซซิเอเต เจนเนอราล ทะยานขึ้น 2.5%

                หุ้นสายการบินดอยช์ ลุฟฮันซา ร่วงลง 1.6% หลังจากมีรายงานว่าเครื่องบินแอร์บัส 320 ของสายการบินเจอร์มันวิงส์ (Germanwings) ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในเครือลุฟต์ฮันซา ตกลงในบริเวณเทือกเขาแอลป์เมื่อวานนี้

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 104.90 จุด จากคาดการณ์เฟดขึ้นดบ.

                ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐอาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

                ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,011.14 จุด ร่วงลง 104.90 จุด หรือ -0.58% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,994.73 จุด ลดลง 16.24 จุด หรือ -0.32% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,091.50 จุด ลดลง 12.92 จุด หรือ -0.61%

                ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเพราะได้รับแรงกดดันจากกระแสการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ หลังจากมีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย มาร์กิตเปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐประจำเดือนมี.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว

                ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 7.8% ในเดือนที่แล้ว สู่ระดับ 539,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2008 ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว และเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.

                ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของดัชนี CPI อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่โซเฟีย เคียร์นีย์-เลเดอร์แมน นักวิเคราะห์จากเอฟเอ็นที ไฟแนนเชียล กล่าวว่า ยอดขายบ้านใหม่ที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีนั้น อาจจะทำให้เฟดมีเหตุผลที่ดีพอในการตัดสินใจใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ย

                หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพร่วงลงติดต่อกัน 2 วันทำการ โดยหุ้นไบโอเจปรับตัวลง 2.4% และหุ้นนาสแดค ไบโอเทค ดิ่งลง 2.9% ส่วนหุ้นวิทติง ปิโตรเลียม คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ในรัฐนอร์ธดาโกตา ร่วงลงอย่างหนักถึง 19.5%

                นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนมี.ค., จีดีพีขั้นสุดท้ายช่วงไตรมาส 4/2557 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนมี.ค.จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!