- Details
- Hits: 2020
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร’บ.ไมโครลิสซิ่ง’ ที่ ‘BB+’ และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น ‘Negative’ จาก ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BB+’ ในขณะเดียวกันยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ จาก’Stable’หรือ’คงที่’โดยสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์และผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอกว่าคาด
ซึ่งได้ส่งผลกดดันต่อสถานะเงินทุนและการทำกำไรของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ว่าสถานะเงินทุนของบริษัทยังคงได้รับการประเมินว่า’แข็งแกร่งมาก’ แต่ก็อ่อนแอลงอันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ขยายสินเชื่อเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม สถานะทางการตลาดที่อยู่ในระดับปานกลางในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองและธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ของบริษัท ตลอดจนการทำกำไรรวมถึงสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับปานกลางยังคงเป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตต่อไป
ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงปัจจัยในด้านสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจเช่าซื้อซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับปานกลาง
ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่องต่อไปซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะความมั่นคงทางธุรกิจของบริษัท แม้ว่าผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตอาจจะต้องใช้เวลาที่จะเห็นผล แต่การขยายขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและคุณภาพสินทรัพย์ของธุรกิจใหม่ที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะส่งผลในด้านบวกต่อสถานะเครดิตของบริษัท
พอร์ตสินเชื่อของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2565 มาอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยเพิ่มขึ้น 31% จากสิ้นปี 2564 การเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองที่เติบโตที่ระดับ 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและจากธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไมโครพลัส ลีสซิ่ง จำกัด (MPLUS) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายเครือข่ายสาขาเป็น 25 แห่งจาก 19 แห่งในปี 2565
MPLUS เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2565 ผ่านสาขา 8 แห่งที่เปิดร่วมกับบริษัท แม้ว่า MPLUS จะมีการขยายตัวของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง แต่ตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ โดยในปี 2566 บริษัทวางแผนการที่จะเพิ่มการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่และเพิ่มฐานลูกค้าเพื่อทำการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ประกันภัยและสินเชื่อส่วนบุคคล
นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดโดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่และความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายของผู้บริหารที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของบริษัทด้วยเช่นกัน
สถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้ง ยังคงประเมินให้สถานะเงินทุนและภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับ ‘แข็งแกร่งมาก’ โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนที่ปรับความเสี่ยงแล้ว (RAC Ratio) ของบริษัทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 25% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สินเชื่อใหม่จะเติบโตที่ระดับ 5%-10% และอัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 40%
อย่างไรก็ตาม RAC Ratio ของบริษัทลดลงอย่างมากเหลือ 38.4% ณ เดือนธันวาคม 2565 จาก 51.1% ณ เดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ หากการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าวเป็นไปอย่างแข็งแกร่งก็อาจส่งผลทำให้ RAC Ratio ปรับตัวลดลงได้เร็วขึ้น
ความสามารถในการสร้างผลกำไรอ่อนแอลง
ทริสเรทติ้ง ประเมินให้ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางโดยคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2%-3% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ต้นทุนทางด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%-5% ซึ่งเป็นผลมาจากการก่อตัวของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่ (Non-performing Loan (NPL) Formation) ที่เพิ่มขึ้นและส่วนต่างดอกเบี้ยที่ระดับ 10% ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย (Cost of Fund)
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ’ลบ’ ยังสะท้อนถึงการลดลงอย่างมากของ EBT/ARWAs ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.7% ในปี 2565 จาก 7.1% ในปี 2564 เนื่องจากผลขาดทุนจากสินทรัพย์รอการขายและค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มลูกค้าของบริษัท
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทยังเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่สูงขึ้นเพื่อสรรหาพนักงานใหม่ของ MPLUS รวมทั้งเพื่อการขยายสาขาและค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ที่สูงขึ้น
รายได้ค่าธรรมเนียมซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากนายหน้าประกันภัยมีสัดส่วน 16% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2565 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 19% ในปี 2564 บริษัทมีแผนจะเพิ่มประเภทของผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ดำเนินงานโดยบริษัทลูกคือ บริษัท ไมโคร อินชัวร์ โบรคเกอร์ จำกัด ทั้งนี้ แหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายมากขึ้นสามารถเสริมสถานะความมั่นคงทางธุรกิจของบริษัทได้
คุณภาพสินทรัพย์อ่อนตัวลง
ทริสเรทติ้ง ประเมินให้บริษัทมีสถานะด้านความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่นเดียวกับสถานะเงินทุนและการทำกำไรที่อ่อนแอลง คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทก็ปรับตัวลดลงอย่างมากโดยเป็นผลมาจากการเติบโตที่ก้าวกระโดดของสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปี 2565 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแออยู่แล้วยิ่งถดถอยลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกซึ่งมีผลต่อลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทซึ่งเป็นผู้ซื้อรถบรรทุกมือสอง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และจำนวนรถยึดเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ณ สิ้นปี 2565 จาก 3.5% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรถบรรทุกมือสอง นอกจากนี้ NPL Formation ก็เพิ่มขึ้นเป็น 4.9% ของสินเชื่อเฉลี่ยในปี 2565 จาก 3.1% ในปี 2564
และส่งผลทำให้ต้นทุนทางด้านเครดิต (ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือ ECL ต่อสินเชื่อถัวเฉลี่ย) เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ในปี 2565 จาก 4.0% ในปี 2564 ผลที่ตามมาก็คืออัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage Ratio) ลดลงเหลือ 103% จาก 123% ณ สิ้นปี 2564 ในขณะเดียวกันจำนวนรถยึดที่สูงขึ้นก็ส่งผลทำให้ผลขาดทุนจากสินทรัพย์รอการขายเพิ่มขึ้นสูงถึง 3.2% ของสินเชื่อเฉลี่ยในปี 2565 จาก 0.9% ในปี 2564
เพื่อแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ บริษัทได้ใช้นโยบายการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นและเพิ่มมาตรการต่างๆ รวมถึงการเร่งรัดกระบวนการติดตามหนี้ให้เร็วขึ้นโดยเริ่มมาตั้งแต่กลางปี 2565 การดำเนินการเหล่านี้คาดว่าจะค่อยๆ ส่งผลทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทดีขึ้นในระยะปานกลาง
อย่างไรก็ตาม การขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ซึ่งโดยทั่วไปมีแนวโน้มของความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงกว่าสินเชื่อรถบรรทุกมือสองก็อาจทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทแย่ลงหากไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดี โดยคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้
สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมของบริษัทประกอบด้วยหุ้นกู้เป็นหลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 84% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด ณ สิ้นปี 2565 ทั้งนี้ บริษัทได้แก้ไขความไม่สัมพันธ์กันระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินโดยยืดอายุการกู้ยืมให้ยาวขึ้นซึ่งส่งผลทำให้เงินกู้ยืมระยะสั้น (ไม่รวมหนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) มีสัดส่วนเพียง 1% ของเงินกู้ยืมทั้งหมดของบริษัท โดยลดลงจาก 11% ในปี 2564
ในด้านสภาพคล่องนั้น บริษัทมีวงเงินสินเชื่อในรูปของเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินหลายแห่งแต่วงเงินสินเชื่อในส่วนนี้ลดลงเหลือ 1.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 จาก 2.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ซึ่ง 77% ของวงเงินสินเชื่อดังกล่าวยังไม่มีการเบิกใช้
ทั้งนี้ ในระยะสั้นถึงระยะปานกลางทริสเรทติ้งมองว่าวงเงินสินเชื่อของบริษัทน่าจะเพียงพอต่อการสนับสนุนด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ บริษัทยังมีความยืดหยุ่นทางการเงินเนื่องจากบริษัทสามารถเข้าถึงตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ได้เมื่อมีความต้องการด้านเงินทุน
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเนื่องจากการกู้ยืมจากธนาคารจำเป็นจะต้องมีการวางสินทรัพย์เป็นหลักประกัน ดังนั้น ในมุมมองของทริสเรทติ้งจึงเห็นว่าบริษัทอาจมีข้อจำกัดในด้านความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารสำหรับการขยายสินเชื่อในอนาคต
การส่งออกที่หดตัวและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงส่งผลต่อยอดขายรถบรรทุก
ยอดขายรถยนต์โดยรวมในปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) คลี่คลายลงจนนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ซึ่งส่งผลทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในปี 2565 เติบโต 11.9% จากปี 2564 โดยรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์นั่งมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ระดับ 15.2% และ 5.3% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่หดตัวจากผลของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อ่อนตัวลงและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนได้ทำให้ยอดขายรถบรรทุกในปี 2565 มีอัตราคงที่จากปี 2564 โดยลดลงจากอัตราการเติบโตที่ระดับ 36% ในปี 2564 ทั้งนี้ จากสถานการณ์ตลาดรถยนต์โดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นได้ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 5.6% ในปี 2565
โดยสูงขึ้นจากอัตราการเติบโตที่ระดับ 0.5% ในปี 2564 ทว่าคุณภาพสินเชื่อรถยนต์โดยภาพรวมนั้นถดถอยลงในปี 2565 ซึ่งยังถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในอนาคต
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
- ยอดสินเชื่อจัดใหม่จะเติบโตที่ระดับประมาณ 5%-10% ต่อปี
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 10%
- อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5%-5.0%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงสถานะเงินทุนและการทำกำไรของบริษัทที่ลดลงรวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนตัวลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะเงินทุนและการทำกำไรของบริษัทได้ในอนาคต
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถดถอยลงอย่างมาก หรือหากสถานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลทำให้ RAC Ratio ลดต่ำลงกว่าระดับ 25% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
ในขณะที่การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ นั้นอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถปรับปรุงการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะเงินทุนโดยมี RAC Ratio อยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 25%
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563 |
บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MICRO)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Negative |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html