- Details
- Category: กรมบัญชีกลาง
- Published: Thursday, 04 January 2024 15:28
- Hits: 5771
อธิบดีกรมบัญชีกลาง พร้อมขับเคลื่อนภารกิจด้านการเงินการคลังภาครัฐอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้การกำกับและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุด
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางว่า ภารกิจหลักของกรมบัญชีกลางคือการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินและหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปโดยถูกต้อง ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ดังนี้
1. การกำกับและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน
เร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เนื่องจากขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น ขอให้หน่วยงานของรัฐเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนที่เป็นเรื่องภายในของหน่วยงานของรัฐไว้ก่อน เช่น การกำหนดรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะ (Specification) คุณสมบัติผู้เสนอราคา เงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้าง รูปแบบและเนื้อหาของสัญญาที่จะลงนาม เป็นต้น
และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และสามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สอดคล้องกับนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาล กรมบัญชีกลางได้เสนอลดระยะเวลาการเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป
2. เพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
กรมบัญชีกลางให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-GP) และมีการตรวจสอบช่องโหว่ของระบบอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีผู้ใดสามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบ e-GP ได้ เช่น รายชื่อผู้เสนอราคา ราคาของผู้เสนอราคา รวมทั้งไม่ให้ผู้ใดสามารถซื้อข้อมูลการเสนอราคา e-bidding จากเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางได้
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังได้สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริตผ่านโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) และโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative : CoST) รวมทั้งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป
3. สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมบัญชีกลางดำเนินการปรับรอบการประมวลผลข้อมูลการขึ้นสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล จากเดิมที่ขึ้นสิทธิทุก 15 วัน เป็นทุก 7 วัน (ทุกวันอังคาร) เพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้กำหนดแผนการดำเนินการกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา (Reimbursement Price)
สำหรับ ยาในกลุ่มลดไขมัน และน้ำตาเทียม ซึ่งมียาสามัญที่สามารถทดแทนยาต้นแบบได้เพื่อเป็นการบริหารค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้อยู่ภายในกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร รวมทั้งพิจารณาสิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและการบริบาลฟื้นสภาพระยะกลาง (Intermediate care; IMC) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิตามความเหมาะสม จำเป็น ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
4. นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง
(1) โครงการปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ โดยกรมบัญชีกลางได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2566 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้เตรียมความพร้อมของระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-payroll) ซึ่งพร้อมจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่เลือกรับเงินเดือน 2 รอบครั้งแรก ในวันที่ 15 มกราคม 2567
(2) การจ่ายเงินสวัสดิการสังคมตามโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ประกอบด้วย (1) สวัสดิการที่ให้เป็นวงเงิน สำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม และวงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ (2) สวัสดิการที่โอนเงินให้แก่ผู้มีสิทธิผ่านระบบพร้อมเพย์ ได้แก่ มาตรการเงินเพิ่มเบี้ยความพิการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 (3) สวัสดิการที่จ่ายตรงผู้ให้บริการ ประกอบด้วย มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า
มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา รวมทั้งการดำเนินการตามโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) โดยจ่ายตรงเงินสวัสดิการสังคมต่างๆ ให้แก่ ผู้มีสิทธิ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เงินค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)/เงินค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ และการจ่ายตรงเงินเดือนทหารเกณฑ์
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยภารกิจของกรมบัญชีกลางมีหลายด้านตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นภารกิจหลักที่มีส่วนสำคัญทั้งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การดูแลส่วนราชการ ภาคเอกชน บุคลากรภาครัฐ รวมทั้งประชาชนผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งบุคลากรของกรมบัญชีกลางทุกคนมุ่งมั่นในการทำให้ทุก ๆ ภารกิจสำเร็จอย่างเต็มศักยภาพ