WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AAEDC

กรมสรรพากร ร่วมกับ 2 สถาบันการเงิน เพิ่มช่องทางให้บริการรับชำระภาษีอากรผ่านเครื่อง EDC

      กรมสรรพากร ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในการรับชำระภาษีอากรผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC)

       กรมสรรพากร ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  ในการรับชำระภาษีอากรผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด โดยเป็นการเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินของส่วนราชการให้สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึงทั้งประเทศ

       วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2561) กรมสรรพากร โดย นางศิริวัลย์ แก้วมูลเนียม รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้ร่วมลงนามในบันทึกความตกลงการให้บริการใช้เครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในการรับชำระภาษีอากร กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดย นายอภิชาติ เจริญเรืองเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มราชการสัมพันธ์ และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดย นายอมร สุวจิตตานนท์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โดยมีผู้บริหารของทั้งสามหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่มีการรับเงินจากประชาชนโดยธนาคารทั้งสองแห่งให้บริการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ให้เพียงพอต่อความต้องการในการใช้บริการ

        นางศิริวัลย์ แก้วมูลเนียม รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในการดำเนินการติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อให้บริการรับชำระภาษีอากรตามโครงการดังกล่าว จะทำให้กรมสรรพากรสามารถขยายการให้บริการรับชำระภาษีด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตร TAX SMART CARD) ได้ทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่ผู้เสียภาษีชำระภาษีอากรด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เฉพาะสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เพียงจำนวน 82 แห่งเท่านั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจของกรมสรรพากรที่มุ่งมั่นมอบบริการที่ดีเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้รับความพึงพอใจได้มากที่สุด”

 

สรรพากร ชี้ 1 มี.ค.นี้ พร้อมใช้เครื่อง EDC รับชำระภาษีทั่วประเทศ -ชี้มาตรการลดหย่อนภาษี ทำปีนี้สูญรายได้ 2-3 พันลบ.

      สรรพากรเร่งติดตั้งเครื่อง EDC เกือบ 3,000 เครื่องทั่วประเทศ เพื่อรองรับการชำระเงินผ่านบัตรตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป ด้านยื่นภาษียอมรับยังอืด หลังประชาชนรอใบเสร็จรับรองจากประกันชีวิต จากมติครม.ที่ให้นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ พร้อมระบุปีนี้ มีผู้ยื่นขอคืนภาษีเพิ่มเป็น 4 ล้านราย จากปีที่ผ่านมา 3 ล้านราย  คาดปีนี้สูญรายได้ 2-3 พันลบ. จากมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ของรัฐบาล

     นางศิริวัลย์ แก้วมูลเนียม รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือให้บริการใช้เครื่อง EDC ในการรับชำระภาษีอาการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ Kbank และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในวันนี้ว่า กรมสรรพากรจะเดินหน้าติดตั้งเครื่องรับชำระเงิน หรือ EDC ของทั้ง 2 ธนาคารรวมเกือบ 3,000 เครื่อง ที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง เพื่อรองรับการชำระภาษีอากรทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งเครื่องแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะเริ่มใช้เครื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป

      สำหรับ ความคืบหน้าการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ปัจจุบันยังมีผู้ยื่นแบบภาษีค่อนข้างน้อย หรือประมาณ 30,000 รายเท่านั้น และมียอดเงินขอคืนภาษี 500,000-600,000 บาท เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอใบรับรองประกันชีวิต ที่ได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเพิ่ม

      โดยในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีผู้ยื่นภาษีประมาณ 1 ล้านราย  ทั้งนี้ สรรพากรคาดว่าจากมาตรการหักลดหย่อนภาษีต่างๆของรัฐบาลที่ออกมานั้น จะทำให้กรมฯสูญรายได้จากการจัดเก็บภาษีประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

     “ยอมรับว่า โครงการต่างๆหรือมาตรการที่ภาครัฐให้นำมาลดหย่อนภาษีนั้น ทั้งการลงทุน ชอปช่วยชาติ และอื่นๆ คงมีผลต่อการจัดเก็บภาษีของกรมฯบ้าง แต่คงไม่ได้กระทบอะไร เพราะสรรพากรก็ต้องหาแนวทาง เพื่อให้มีรายได้เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี รวมถึงการพิจารณาการจัดเก็บภาษีอื่นๆ เช่น การจัดเก็บภาษีการขายสินค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรอบที่ 3”นางศิริวัลย์ กล่าว

     สำหรับ ในปีนี้ กรมฯคาดว่าจะมีผู้ยื่นแบบภาษีเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีผู้ขอคืนภาษีประมาณ 4 ล้านราย มียอดขอคืนภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 11-12 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่มียอดขอคืน 10 ล้านบาท จากจำนวนผู้ยื่นภาษี 11 ล้านราย เป็นจำนวนผู้ขอคืนภาษีรวมทั้งสิ้น 3 ล้านราย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!