- Details
- Category: กรมสรรพสามิต
- Published: Monday, 10 June 2024 13:53
- Hits: 12108
‘เอกนิติ อธิบดีสรรพสามิต’เสวนา’นโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม’ช่วยเดินหน้าประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน
สรรสามิต สนองนโยบายรัฐด้าน ESG ช่วยรัฐขับเคลื่อนประเทศ จัดเก็บภาษี Carbon Tax เปลี่ยนวิธีเก็บภาษีน้ำมันเป็นแบบผูกการปล่อยก๊าซ CO2 ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ ใช้มาตรการดึงดูด EV หนุนโรงงานผลิตรถลงทุนไทย กระตุ้นตลาดรถกว่า 8 หมื่นลบ.จดทะเบียนสูงสุดในอาเซียน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยในงานสัมมนา ‘UNLOCKING ESG VALUE FOR BUSINESS SUCCESS’ จัดโดย สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ในหัวข้อ’นโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม’ ว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ที่อยากให้กรมฯ มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยให้ภาษีสรรพสามิตมาช่วยเดินหน้าประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนของรัฐบาล โดยที่ผ่านมากรมฯได้ดำเนินการทั้งภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีความเค็ม-หวาน ล่าสุด อยู่ระหว่างดำเนินการแผนการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) คาดว่าจะสามรถใช้ได้ในปีงบประมาณ 68 โดยจะเริ่มเปลี่ยนการเก็บภาษีน้ำมัน เป็นการผูกกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“เรื่อง Carbon Tax เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จะทำให้เกิดราคาคาร์บอน ผลประโยชน์จะตามมามากหมาย โดยเฉพาะตลาดคาร์บอนจะเกิดขึ้นในไทย โดยปัจจุบันมีการซื้อ-ขายตลาดคาร์บอนเครดิตในยุโรป แต่ตลาดไทยยังไม่มี ซึ่งจะเป็นรากฐานการสร้างตลาดคาร์บอน โดยเรื่องนี้จะหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปีงบประมาณหน้า”
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และไม่ต้องกังวล เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีน้ำมัน จะอยู่ในภาษีสรรพสามิตปกติ เช่น น้ำมันเบนซิน ในอนาคตจะเสียภาษีคาร์บอนหรือราคาคาร์บอนในภาษีสรรพสามิต ประมาณ 0.436 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซล จะอยู่ที่ประมาณ 0.540 บาทต่อลิตร เป็นต้น
ด้านผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมัน ในขั้นแรกยืนยันว่าไม่รับกระทบ แต่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันจะถูกเรียกเก็บภาษีจากต่างประเทศอยู่แล้ว และบริษัทน้ำมันปัจจุบันเริ่มปรับตัว โดยมีการประกาศว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ โดยวิธีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย แต่ยอมรับภาคธุรกิจจะต้องปรับตัว เพราะในอนาคตจะบีบบังคับให้ต้องใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
“ภาษีดูเป็นอะไรที่น่ากลัว แต่จะทำให้คนตระหนักรู้ว่า เติมน้ำมันทีเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ โดยยืนยันว่าราคาไม่ได้เพิ่มขึ้น เหมือนตอนเปลี่ยนการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่เก็บตามกระบอกสูบที่จะเสียแพงเมื่อกระบอกสูบใหญ่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์แทน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”นายเอกนิติ กล่าว
ด้านภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ซื้อน้ำมันหลอมเหล็ก ซึ่งปีหน้า EU จะเก็บภาษีพรมแดน หากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงจะถูกเก็บภาษี หรือ ค่าธรรมเนียมสูง ดังนั้นธุรกิจไทยที่ซื้อน้ำมันเตาหลอมเหล็ก อยู่ระหว่างเจรจานำส่วนดังกล่าวมาหักลดได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้
นายเอกนิติ กล่าวว่า ในระยะต่อไป กรมยังอยู่ระหว่างการพิจารณา การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์สำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาการจัดเก็บภาษีรถโบราณ
ด้านการจัดเก็บรายได้ปีนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันกรมฯจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากตั้งเป้าไว้สูงที่ 598,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่ 25% โดยการเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้า จากการดำเนินมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชน และมาตรการ EV ที่เก็บภาษี 2% ขณะที่รถสันดาปเก็บภาษี 25-35% แต่ข้อดีคือเห็นการย้ายฐานการผลิตมายังไทย ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ เพราะกรมฯ จัดเก็บภาษีน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการจัดเก็บภาษีทั้งหมด ด้านรถยนต์ 60%
“ส่วนแนวคิดที่จะให้ลดภาษีสรรพสามิตต่อนั้น เป็นเรื่องนโยบายที่ต้องหารือกัน แต่ต้องบอกว่า ทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย เช่น นโยบายภาษีน้ำมัน ปีนี้เสียรายได้ 25,000 ล้านบาท ก็มีข้อดี และข้อเปรียบเทียบด้วย แต่ต้องหารือกันทางนโยบาย ขณะที่ทั้งปีนี้ คาดว่าจะเก็บรายได้ประมาณ 520,000 ล้านบาท หากไม่มีการดำเนินนโยบายภาษีเพิ่มเติม”นายเอกนิติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีสรรพสามิต สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมาตรการด้านภาษีด้าน ESG เช่น การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยกรมฯ ได้เปลี่ยนการจัดเก็บภาษีจากความจุกระบอกสูบ เป็น การเก็บภาษีที่เชื่อมโยงกับคาร์บอนไดออกไซด์ และปรับเกณฑ์ CO2 ให้เข้มขึ้น
ขณะที่มาตรการ EV3 โดยลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เหลือ 2% และลดอาการขาเข้า 20-40% รวมถึง รัฐบาลยังให้เงินอุดหนุนรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ด้วย และมาตรการ EV 3.5 คือ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ลดอาการขาเข้าไม่เกิน 40% สำหรับรถยนต์ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท รวมถึงยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ทางภาษี คือ การให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล ทั้งรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์
ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ ยอดขายรถยนต์ EV เติบโต 685% ซึ่งส่งผลให้ไทยมีอัตราการเติบโตของยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในไทยเกือบ 80,000 ล้านบาท และจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมถึงปัจจุบัน 90,804 คัน