WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SECจอมขวัญเปิดประตู SMEs สู่ตลาดทุน รุก เร็ว แต่รอบคอบ

โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA
ผู้ช่วยเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทีมโฆษก และฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2

 

          วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญและแก้ไขความยากจนของประเทศ โดยมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านบาท หรือ 43% เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ภาครัฐจึงมีนโยบายในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็ง มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดทุนได้ เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่างๆ มีหลักการและกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เข้มข้น และมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เดียวสามารถใช้กับกิจการทุกขนาด (one fit for all) จึงไม่เอื้ออำนวยสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก

          สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐและมีหน้าที่กำกับและพัฒนาตลาดทุนไทย พร้อม “เปิดประตูตลาดทุน” ให้กับ SMEs เพื่อให้ตลาดทุนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับกิจการทุกขนาดอย่างแท้จริง โดยยังคงคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ จึงเน้นความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของ SMEs เพื่อให้การกำหนดมาตรการต่างๆ เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้เกิดความสมดุลสำหรับฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน

          ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา SMEs ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 12 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ข้อจำกัด และกำหนดแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยลดอุปสรรคที่เคยมี รวมทั้งยังจัดตั้ง “คณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน สู่ตลาดทุนไทย” เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ ซึ่งจากการหารือ พบว่า ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ SMEs ยังไม่เข้าถึงตลาดทุน มีหลายสาเหตุ อาทิ ผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่เห็นประโยชน์หรือความจำเป็นของตลาดทุน และยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ และที่สำคัญคือกฎเกณฑที่เกี่ยวข้องยังไม่เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของ SMEs เท่าที่ควร

          ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแผนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และได้มีการขับเคลื่อนงานไปแล้วหลายส่วน ดังนี้

          1. จัดสัมมนาและกิจกรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระดมทุนในตลาดทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs 
ในต่างจังหวัด เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการระดมทุนผ่านตลาดทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัด เห็นประโยชน์ที่จะได้รับของการเข้าตลาดทุน และข้อมูลการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นในการเข้าสู่ตลาดทุน รวมไปถึงการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจระดมทุนผ่านตลาดทุนด้วย

          โดยตั้งแต่เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2562 ก.ล.ต. ได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัดภายใต้โครงการ “คาราวาน ก.ล.ต. ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด” ไปแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าฟังประมาณ 500 คน นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังร่วมมือกับหน่วยงานอื่น อาทิ ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านตลาดทุนแก่ผู้ประกอบการภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอีกด้วย

          2. จัดทำร่างหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมเปิดรับฟังความเห็น สำหรับการระดมทุนของ SMEs ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดให้สามารถเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพต่อผู้ลงทุนและพนักงาน เพื่อช่วยให้กิจการสามารถระดมทุนได้สะดวกมากขึ้น และยังเป็นการจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานได้มากขึ้น และได้มีการหารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงแนวทางการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ SMEs สามารถระดมทุนได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับสำหรับ SMEs ที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดกลางตามนิยามของ สสว. ก.ล.ต. จะหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนเกณฑ์อนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนและเกณฑ์รับหลักทรัพย์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับขนาดและประเภทของ SMEs

          3. จัดทำแผนพัฒนาช่องทางการลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบกองทุนหรือทรัสต์ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่กลุ่มผู้ที่สนใจลงทุนในกิจการ SMEs อย่างไรก็ดี เนื่องจากการลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก และมีความเสี่ยงจากการลงทุนมากกว่าบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. อาจจะต้องพิจารณาประเภทผู้ลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย

          นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้มีการดำเนินการอื่นๆ เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อร่วมกันสนับสนุน SMEs ที่อยู่ภายใต้การดูแลและพัฒนาของ กสอ. ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนด้วยเช่นกัน

          แม้ว่า แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดทุน ที่ ก.ล.ต. ได้ริเริ่มขึ้นนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม แต่หากสามารถทลายกำแพงและเปิดประตูตลาดทุนให้กับ SMEs ได้อย่างแท้จริงแล้ว จะเป็นการทำให้ตลาดทุนมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งอย่างแน่นอน

 


AO11277

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!