WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

SEC copy

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารกิจการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

          สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การบริหารกิจการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีกลไกและระบบการควบคุมดูแลการบริหารกิจการและการดำเนินงานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ อีกทั้งสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

          ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านระบบงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (focus group) จากผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านโครงสร้างการบริหารกิจการและคุณสมบัติของกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2566 ซึ่ง ก.ล.ต. ได้นำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุงหลักการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับทางปฏิบัติยิ่งขึ้น และคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบแล้วนั้น 

          ก.ล.ต. จึงได้จัดทำร่างประกาศและเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

          (1) หลักเกณฑ์ด้านโครงสร้างการบริหารกิจการ (board governance) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีกรรมการในคณะกรรมการบริษัท (board of director) ไม่น้อยกว่า 5 คน โดยกรรมการอย่างน้อย 2 คนต้องเป็นกรรมการอิสระ และต้องจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อผู้ประกอบธุรกิจมีโครงสร้างองค์กรที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม คณะกรรมการบริษัทสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยผู้ประกอบธุรกิจประเภทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจที่มีขนาดเล็กซึ่งมีการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าน้อยกว่า 500 ล้านบาท และมีจำนวนลูกค้าน้อยกว่า 10,000 ราย ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ 

          (2) หลักเกณฑ์ด้านคุณสมบัติของกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดให้กรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านการอบรมในหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามรายชื่อหลักสูตรหรือลักษณะหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนด และต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ ก.ล.ต. ยอมรับ ทั้งนี้ หากกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการปัจจุบันไม่เคยผ่านการอบรมหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาก่อนต้องเข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าวภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

          (3) หลักเกณฑ์ด้านระบบงานและมาตรฐานในการประกอบธุรกิจ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการ ดังนี้ 

          - จัดให้มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงาน (check & balance) ทุกระบบที่สำคัญ 

          - ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

          - มีระบบงานในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยงและความซับซ้อนของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเหมาะสมกับลักษณะของลูกค้าแต่ละประเภท

          - ต้องจัดให้มีการแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าออกจากการปฏิบัติงานด้านอื่นเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และกำหนดระเบียบหรือวิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า รวมถึงมีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

          ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ด้านระบบงานและมาตรฐานในการประกอบธุรกิจภายใน 90 วันนับจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

          ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=952 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: thanapatk@sec.or.th pitchal@sec.or.th chananchida@sec.or.th หรือ ponwat@sec.or.th จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2566 

 

 

11168

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kbank 720x100 66

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!