WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

SEC

SEC Insights : เพิ่มมูลค่าตลาดทุนไทยด้วยตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond) ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ลงทุนไทยต่ออัตราผลตอบแทน

โดย นางสาวกริญา งามสมสุข และนางสาวสุพรรณี เอกประทุมชัย

ฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนข้อมูล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

          ปัจจุบันแนวคิด “การลงทุนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยความยั่งยืน” เป็นหัวข้อที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชนซึ่งรวมถึงธุรกิจและผู้ลงทุน แต่ละหน่วยงานต่างหันมาให้ความสนใจกับประเด็นของการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่ไม่เพียงคำนึงถึงผลตอบแทนสูงสุดในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่ทว่าต้องสนับสนุนในเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีธรรมาภิบาลด้วย หรือ ESG 

          สถิติข้อมูลการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าตราสารหนี้ความยั่งยืน (Sustainable bond) มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond) ที่มีมูลค่าการการเสนอขายอยู่ที่ราว 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 96% นับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งสะท้อนถึงความสนใจของบริษัทผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนที่มีต่อประเด็นความยั่งยืนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

          ดังนั้น การพัฒนาตลาด Green bond ให้เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญในระยะยาว จึงจำเป็นต้องทราบความคิดเห็นของผู้ลงทุนไทยและผลตอบแทนที่คาดหวังเมื่อลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ระดมทุน และผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนในการทำความเข้าใจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอันนำไปสู่การกำหนดนโยบายได้อย่างเหมาะสม ผู้เขียนจึงขอเสนอผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น โดยใช้การศึกษา 2 วิธี ได้แก่

          (1) สำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนไทยทั้งผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investor) และผู้ลงทุนบุคคล (Retail investor) เกี่ยวกับมุมมองการให้คุณค่าในตราสารหนี้ประเภท Green bond ผ่านการประเมินมูลค่าความเต็มใจจ่าย (Willingness to pay: WTP) ของผู้ลงทุน 

          (2) ศึกษาวิเคราะห์ส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Yield) จากการลงทุน Green bond เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป (Conventional bond) หรือค่า Greenium[1]  

          ในส่วนแรกของการศึกษา ได้สำรวจความคิดเห็นในเชิงการให้คุณค่าของผู้ลงทุนไทยที่มีต่อ Green bond ผ่านการประเมินมูลค่าความเต็มใจจ่าย[2] ของผู้ลงทุน ซึ่งในบริบทของการศึกษานี้ จะพิจารณาจาก ระดับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำที่สุดที่ผู้ลงทุนยอมรับได้เมื่อลงทุนใน Green bond เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนใน Conventional bond โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสำรวจแบบสุ่มเจาะจง หรือ Purposive sampling ซึ่งเป็นการเลือกสำรวจเฉพาะ “กลุ่มผู้ลงทุนส่วนบุคคล” และ “ผู้ลงทุนสถาบัน” ที่ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย 

          จากผลการสำรวจพบว่า เหตุผลหลักที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจลงทุน หรือลงทุนใน Green bond คือต้องการส่งเสริมหรือมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน[3] แบ่งเป็นผู้ลงทุนสถาบัน (27%) และผู้ลงทุนส่วนบุคคล (37%) ทั้งนี้ ผู้ลงทุนไทยมีมูลค่าความเต็มใจจ่าย (Willingness to pay) เมื่อลงทุนใน Green bond หรือยอมรับอัตราผลตอบแทนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีลงทุนใน Conventional bond โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.10% เมื่อแบ่งผลสำรวจตามประเภทผู้ลงทุนและตามช่วงวัย (Generation) พบว่า ผู้ลงทุนบุคคลยอมรับส่วนต่างผลตอบแทนที่ลดลงได้มากกว่าผู้ลงทุนสถาบันที่ 0.14% ในขณะที่กลุ่มผู้ลงทุนบุคคลที่มีอายุน้อย ได้แก่ กลุ่ม Gen Y และ Gen Z ยอมรับอัตราผลตอบแทนที่น้อยลงได้มากกว่ากลุ่มผู้ลงทุนที่มีอายุมาก โดยมีค่าเท่ากับ 0.22%. และ 0.25% ตามลำดับ[4] 

          ในส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาการประเมินผลต่างอัตราผลตอบแทน (Yield spread) ระหว่าง Green bond และ Conventional bond (ตราสารหนี้ทั่วไป) หรือค่า Greenium โดยใช้การศึกษา 2 วิธี ได้แก่

          (1) วิธี Top-Down approach เป็นการศึกษาเปรียบเทียบ Yield spread ของ Green bond กับ ตราสารหนี้ทั่วไปที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ผลการศึกษาพบว่า อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted average) ของ Green bond ต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไปเท่ากับ 0.125% ดังรูปที่ 1

 

รูปที่ 1 ผลการศึกษา Yield spread ระหว่าง Green bond และ Conventional bond ด้วยวิธี Top-down approach

 

11467 SEC 01

ที่มา: สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ณ เดือนมิถุนายน 2566 และคำนวณโดยฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนข้อมูล ก.ล.ต.

 

          (2) วิธี Bottom-up approach โดยการวิเคราะห์ตราสารหนี้ Green bond และ Conventional bond แบบรายตัว ที่มีคุณสมบัติเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน เพื่อประเมินส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้น[5] โดยการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนด้วยวิธีนี้มี 2 แนวทาง คือ 

          แนวทางที่ 1 Exact matching เป็นการประเมิน Greenium โดยจับคู่ตราสารหนี้ 2 ชนิด คือ Green bond และ Conventional bond ที่มีคุณสมบัติตามกำหนดเหมือนกันทุกประการ 

          แนวทางที่ 2 Propensity score matching เป็นการวิเคราะห์ Greenium โดยการจับคู่ตราสารหนี้ 2 ชนิดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ โดยใช้การประเมินค่าความโน้มเอียง (Propensity score) และเลือกจับคู่ตราสารหนี้ Green bond และ Conventional bond ที่มีคะแนนใกล้เคียงกันมากที่สุด โดยผลการศึกษาพบว่า Green bond ของไทยมี Yield spread โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.035% - 0.019% (รูปที่ 3) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษา Yield spread ของประเทศเยอรมนี (-0.31%. ถึง -0.26%) ฝรั่งเศส (-0.62% ถึง -0.06%) และจีน (-0.34%. ถึง -0.33%)

  

รูปที่ 2 ผลการศึกษา Yield spread ระหว่าง Green bond และ Conventional bond ด้วยวิธี Bottom-up approach

 

11467 SEC 02

ที่มา: ฐานข้อมูล Bloomberg ณ เดือนมิถุนายน 2566 และคำนวนโดยฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนข้อมูล ก.ล.ต.

** ผลการศึกษาจากการทบทวนวรรณกรรมโดยตัวเลขที่ได้เป็นค่าเฉลี่ยจากการทำการศึกษาด้วยหลายแบบจำลอง

 

          ปัจจุบัน Green bond ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีโอกาสในการเติบโตสูง และได้รับความสนใจจาก ผู้ลงทุนทั้งผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนส่วนบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ลงทุนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจและผู้กำหนดนโยบาย ต้องเข้าใจถึงมุมมองของผู้ลงทุน เพื่อที่จะได้นำเสนอและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายต่อไป 

          ผู้สนใจสามารถรับชมการนำเสนอผลการศึกษาชิ้นนี้ได้ในงาน สัมมนาวิชาการ SEC Capital Market Symposium 2023 ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live ได้ที่เพจ “สำนักงาน กลต.” หรือติดตามงานสัมมนานี้ได้ที่เว็บไซต์ https://www.sec.or.th และเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/sec.or.th

 

 

[1] Green bond premium or Greenium: the difference in yield between green bonds and conventional bonds of a similar characteristics หรือ ผลต่างระหว่างผลตอบแทนของตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (Non-Green bond) (Zerbib, O. D., 2016)

[2] ความเต็มใจจ่าย หรือ Willingness to pay (WTP) ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง การที่ผู้บริโภคมีความยินดีที่จะยอมเสียสละเงินสูงสุดหรือทรัพย์สินที่ตนมีอยู่เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการเหล่านั้นมา

[3] เหตุผลรองลงมาสำหรับผู้ลงทุนสถาบันได้แก่ เป็นไปตามแนวทางการดำเนินงาน/แผน/นโยบายการลงทุนของกองทุนหรือหน่วยงาน (20%) ในขณะที่เหตุผลรองลงมาสำหรับผู้ลงทุนบุคคล ได้แก่ กระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน (22%)

[4] ผลการศึกษาที่ได้ข้างต้นสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุน ต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลุ่มความยั่งยืน (ESG) ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาโดย Stanford Graduate School of Business (2022) ซึ่งพบว่า ผู้ลงทุนกลุ่ม Generation Y และ Z ราว 85% ให้ความสำคัญในการลงทุนเพื่อสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะลดลง 

[5] คุณสมบัติ (Criteria) ของ Bond ที่นำมาพิจารณามี 6 ประการ ได้แก่ (1) ผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer) (2) ปีที่ออกตราสารหนี้ (Issuance year) (3) ปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน (Year to maturity) (4) อายุคงเหลือของตราสารหนี้ (Time to maturity) (5) สกุลเงิน (Currency) และ (6) อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating)

 

 

11467

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

kbank 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!