- Details
- Category: กลต.
- Published: Thursday, 21 November 2024 17:40
- Hits: 2075
‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’
โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ (ตอนที่ 2)
โดย ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่โลกกำลังเผชิญ โดยวิกฤตนี้เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับธุรกิจ สำหรับตอนที่สอง จะเป็นตอนจบของบทความนี้ ที่จะนำเสนอภาพของความพยายามจากทั่วโลก ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่ธุรกิจควรตระหนักและดำเนินการตอบสนองอย่างเหมาะสม
การตอบสนองต่อวิกฤติจากทั่วโลก
เพื่อรับมือกับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประชาคมโลกได้ร่วมกันจัดทำและรับรอง “กรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก หรือ Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework (KM-GBF)” ขึ้นในการจัดประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) สมัยที่ 15 (COP 15)[1] เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยกรอบงานนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก และเพื่อถ่ายทอดหรือแปลงไปสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ โดยประเทศไทยที่เป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวก็ได้ลงนามในอนุสัญญา CBD[2] ซึ่งจะต้องนำกรอบงานนี้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศด้วย
นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ[3] เช่น สหภาพยุโรปออกกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า[4] (Deforestation-free Products) เพื่อห้ามไม่ให้บริษัทในสหภาพยุโรปรับซื้อสินค้าที่มีการตัดไม้ทำลายป่า และขยายไปยังธุรกิจการเงิน เพื่อป้องกันการสนับสนุนการทำลายป่า การกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ลงทุน[5] รายงานด้านความยั่งยืนตามเกณฑ์ Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR)[6] ที่ครอบคลุมการดำเนินงานหรือกิจกรรมของธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางความหลากหลายทางชีวภาพ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ออกกฎหมาย the Energy-Climate Law[7] เพื่อให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย หลังจากที่ได้ลงนามในอนุสัญญา CBD แล้ว ปัจจุบันภาครัฐโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) ฉบับที่ 5 รวมทั้งจัดทำเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (National Targets) ให้สอดคล้องกับ KM-GBF ด้วย โดยในบางเป้าหมายมีความเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะตลาดทุนไทย อาทิ การติดตามการดำเนินงานของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินการขจัดแรงจูงใจและเงินอุดหนุนที่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน
มาตรฐานการรายงานความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากความร่วมมือในระดับนานาชาติในการส่งเสริมและผลักดันการปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้มีการพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถประเมินและรายงานผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสากล อาทิ ข้อแนะนำของ The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD Recommendations) ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการพึ่งพาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิธีจัดการกับผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ตลอดจนช่วยให้ธุรกิจสามารถบูรณาการประเด็นด้านธรรมชาติเข้าผนวกในการตัดสินใจของธุรกิจ และดำเนินการได้สอดคล้องกับเป้าหมายของกรอบ KM-GBF[8]
The Global Reporting Initiative (GRI) ได้ออกมาตรฐาน GRI 101: Biodiversity 2024 เมื่อต้นปี 2567 เพื่อเป็นมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ และวิธีการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น[9] ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีทั้งข้อแนะนำและมาตรฐานการรายงานตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว สองหน่วยงาน คือ TNFD และ GRI ได้ร่วมมือกันจัดทำคู่มือเพื่อเชื่อมโยงการเปิดเผยข้อมูล[10][10] เพื่อช่วยให้ผู้รายงานตาม GRI สามารถจัดทำรายงานให้สอดคล้องกับข้อแนะนำของ TNFD ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ที่ใช้ข้อแนะนำของ TNFD สามารถเปิดเผยข้อมูลได้สอดคล้องตามมาตรฐาน GRI รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรายงานซ้ำซ้อนด้วย โดยทั้งสองหน่วยงานได้เผยแพร่คู่มือดังกล่าว
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ The International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ The IFRS Foundation ได้เปิดเผยแผนงาน[11] สำหรับ ปี 2567 - 2569 ว่าอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานในประเด็นความเสี่ยงและโอกาสด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และบริการระบบนิเวศ (Biodiversity, ecosystems and ecosystem services: “BEES”) ซึ่งความพยายามในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษา BEES สามารถช่วยจัดการความเสี่ยงหรือสร้างโอกาสที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของบริษัทตามที่ระบุไว้ในมาตรฐาน IFRS S1[12] ทั้งนี้ การศึกษานี้
จะครอบคลุมถึงการพิจารณาความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานการรายงานในเรื่อง BEES นี้ด้วย
ตลาดทุนไทยกับความหลากหลายทางชีวภาพ
ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้ธุรกิจในตลาดทุนไทยผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เอาไว้และการมีธรรมาภิบาล (ESG) ตลอดจนการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้ผู้ลงทุน คู่ค้า ลูกค้า ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง (stakeholders) มีข้อมูลทั้งด้าน ESG และ SDGs ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศตลาดทุนที่ยั่งยืน ซึ่งการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีความครอบคลุมเรื่อง
ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเห็นได้จากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ที่มีแนวปฏิบัติที่ระบุถึงการที่คณะกรรมการบริษัทควรดูแลให้มีกลไกเพื่อทำให้มั่นใจว่ากิจการจะประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยป้องกัน ลด จัดการ และดูแลให้มั่นใจว่าบริษัทจะไม่สร้างหรือก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมการดูแลและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ[13]
และในคู่มือแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี / รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ก็ระบุถึงการเปิดเผยข้อมูลการจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม และการจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจที่อธิบายลักษณะห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (value chain)[14] ด้วย
นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ก.ล.ต. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพผ่านช่องทางต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้จัดสัมมนา “เสริมสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ”[15] ให้แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดทิศทางจากผู้นำองค์กร (tone at the top) ซึ่งสามารถติดตามได้ผ่านเว็บเพจ One Report (sec.or.th)
ธุรกิจจะเริ่มปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไร
จากความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบ ตลอดจนแรงกดดันต่างๆ ที่ได้กล่าวมา ถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจต้องดำเนินการในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเริ่มจากการมี tone at the top ที่นำมาสู่การดำเนินการทั่วทั้งองค์กรและตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การประเมินสาระสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อธุรกิจ ทั้งในเชิงของความเสี่ยงและโอกาส การกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานที่มีเป้าหมายชัดเจนและครอบคลุม การลดผลกระทบ การจัดการ และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางและมาตรฐานที่เป็นสากล
หากถามว่าธุรกิจรอได้ไหม หรือทำเมื่อไรดี คำตอบก็เป็นที่ชัดเจนแบบไร้ข้อสงสัยว่า “ทำเลย อย่ารอ” เพราะการชะลอเวลาจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การลงมือทำทันทีไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจอีกด้วย ก.ล.ต. พร้อมส่งเสริมภาคธุรกิจในการดำเนินการและการเปิดเผยข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งในระยะต่อไปจะจัดให้มีเครื่องมือและกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น คู่มือสำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง และการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
[1] ที่มา: กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ – กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ (onep.go.th)
[2] อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536 โดยประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2535 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 ปัจจุบันอนุสัญญาฯนี้มีประเทศภาคีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 196 ประเทศ (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566) (ที่มา: อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) (mnre.go.th))
[3] ที่มา: What Biodiversity Loss and COP15 Mean for Investors - MSCI, p.12-13
[4] ที่มา: Regulation on Deforestation-free products - European Commission (europa.eu)
[5] ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคาร บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญ บริษัทประกันภัย (ที่มา: The guide to Sustainable Finance Disclosure Regulation (apiday.com))
[6] ที่มา: Sustainable Finance Disclosures Regulation - European Commission (europa.eu)
[8] ที่มา The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (tnfd.global)
[9] ที่มา: globalreporting.org/publications/documents/english/gri-101-biodiversity-2024-english/
[10] คู่มือ Interoperability mapping between the GRI Standards and the TNFD Recommended Disclosures and metrics (ที่มา: Interoperability mapping between the GRI Standards and the TNFD Recommended Disclosures and metrics – TNFD)
[11] ที่มา: IFRS - Biodiversity, ecosystems and ecosystem services
[12] ที่มา: IFRS - IFRS S1 General Requirements for Disclosure of Sustainability-related Financial Information
[13] แนวปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ 5.2 : คณะกรรมการควรติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและสะท้อนอยู่ในแผนดำเนินการ (operational plan) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกฝ่ายขององค์กรได้ดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก และแผนกลยุทธ์ (strategies) ของกิจการ โดยในหัวข้อ 5.2.1 (5) ระบุถึงการที่คณะกรรมการบริษัทควรดูแลให้มีกลไกที่ทำให้มั่นใจว่ากิจการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยป้องกัน ลด จัดการ และดูแลให้มั่นใจว่าบริษัทจะไม่สร้างหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมการใช้วัตถุดิบ การใช้พลังงาน (สำหรับการผลิต ขนส่ง หรือในสำนักงาน) การใช้น้ำ การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน การดูแลและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ การปลดปล่อยและจัดการของเสียที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
[14] แบบ 56-1 One Report (ทจ. 55/2563) และคู่มือแบบ 56-1 One Report (รายละเอียดตามคู่มือจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปีแบบ 56-1 One Report) ในหัวข้อ 3. การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หัวข้อย่อย 3.1 นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน 3.2 การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ และ 3.3 การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม
[15] สามารถรับชมย้อนหลังและดาวน์โหลดเอกสารการสัมมนาได้ที่ Thai One Report (sec.or.th)
11576