WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SECสมชาย พงษพฒนาศลปก.ล.ต.'แบล็คลิสต'ผลสืบเนื่องจากการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ เดือนสิงหาคม 2559

ถ้อยแถลงกรณีการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ล.ต.

เรียนสื่อมวลชน

     ต่อกรณีที่มีประเด็นสอบถามเรื่องคำพิพากษาศาลจังหวัดพระโขนงว่า จะมีผลต่อการดำเนินการของ ก.ล.ต. ที่ได้แจ้งบุคคล 8 ราย ว่ามีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจเป็นกรรมการและผู้บริหาร เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2559 หรือไม่นั้น

     ก.ล.ต. ขอแจ้งว่า คดีที่ศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งซึ่งผู้ถือหุ้นของ NMG ได้ยื่นฟ้องต่อ NMG และกรรมการของบริษัท  อย่างไรก็ดี การดำเนินการของ ก.ล.ต. เป็นผลสืบเนื่องจากการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการในเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นผลให้บุคคลทั้ง 8 ราย มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนใด ๆ ไปจนกว่าการดำเนินคดีอาญาจะสิ้นสุด  ซึ่งผลของคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลจังหวัดพระโขนงจะเป็นคุณต่อบุคคลทั้ง 8 ราย ในคดีอาญาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่ง ก.ล.ต. มิอาจก้าวล่วงได้

     ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาของ ก.ล.ต. ในกรณีดังกล่าวได้เริ่มขึ้นและดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างรัดกุม นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. ได้รับทราบเรื่องการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ โดย ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานกับสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และหารือผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าได้ข้อเท็จจริงและความเห็นที่ครบถ้วนเพียงพอ ซึ่งการดำเนินตามที่กล่าวได้แล้วเสร็จก่อนที่ศาลจังหวัดพระโขนงจะมีคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าว

      อย่างไรก็ดี บุคคลทั้ง 8 ราย มีสิทธิที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของบุคคลทั่วไปภายใต้กรอบของกฎหมาย

        ก.ล.ต. ยืนยันว่า การดำเนินงานของ ก.ล.ต. ยึดหลักความซื่อตรง และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ล.ต. ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มี

   นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การดำเนินการของ ก.ล.ต. เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่กำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วพบว่าเข้าองค์ประกอบ บุคคลกลุ่มดังกล่าวก็จะขาดคุณสมบัติในทันที ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ ก.ล.ต. ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจให้เป็นอื่น

1aบอรดเนชน

'บอร์ดเนชั่น'ร้องขอความเป็นธรรม ก.ล.ต. 'แบล็คลิสต'ไม่ชอบธรรม ชี้คำสั่ง ก.ล.ต.ขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง

   อดีตกรรมการเนชั่น ร้องขอความเป็นธรรม กรณีสำนักงาน ก.ล.ต.ให้พ้นตำแหน่งเพราะขาดความน่าไว้วางใจ ชี้เป็นคำสั่งที่ไม่มีความชอบธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง ขาดหลักการกำกับดูแลที่ดี และมีมุมมองแตกต่างจากศาลอย่างสิ้นเชิง

     ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่ข่าวฉบับที่ 95/2559 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 เพื่อแจ้งว่ากรรมการบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) ชุดเดิมทั้งคณะจำนวน 8 ราย เป็นบุคคลที่ขาดความน่าไว้วางใจที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการต่อไป ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้บุคคลทั้ง8 ราย ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกบริษัทที่ตนเองดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันในทันทีแล้ว บุคคลทั้ง 8 ยังถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ทุกบริษัทอีกด้วย จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์

    ทั้งนี้ กรรมการ บริษัทเนชั่นกรุ๊ป ชุดเดิมทั้งคณะจำนวน 8 รายประกอบด้วย 1) นายสุทธิชัย  แซ่หยุ่น 2) นายเสริมสิน  สมะลาภา  3) นางสาวดวงกมล โชตะนา 4) นายปกรณ์ บริมาสพร 5) นายเชวง  จริยะพิสุทธิ์  6) นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ  7) นางสาวเขมกร  วชิรวราการ  และ 8) นายพนา จันทรวิโรจน์ ซึ่งในปัจจุบันนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น นายปกรณ์ บริมาสพร และนายเชวง จริยะพิสุทธิ์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของเนชั่นกรุ๊ปแล้ว แต่ยังคงได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกาศขาดคุณสมบัติของ ก.ล.ต. โดยกรณีของนายปกรณ์  ต้องออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานกรรมการตรวจสอบของบริษัท ไลท์ติ้งแอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (L&E) และบริษัท พรพรหมแม็ททอล จำกัด (มหาชน) (PPM) ในทันที

     การประกาศขาดคุณสมบัติกรรมการของเนชั่นกรุ๊ปยกชุดของ ก.ล.ต.ครั้งนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของกรรมการแต่ละคน แต่การที่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจำนวน 5 คนต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที คงเหลือกรรมการบริษัทที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เพียง 2 ท่านคือ นายวัชรา ตันตริยานนท์ และ นางพิจิตรา มหาพล ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของเนชั่นกรุ๊ป

      โดยตรงทั้งในเรื่องของเครดิตและสินเชื่อจากธนาคาร การดำเนินธุรกิจปกติที่ต้องหยุดชะงัก สร้างความเสียหายต่อเนื่องต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัท นอกจากนี้ กรรมการที่เหลืออยู่เพียง 2 ท่านไม่เพียงพอที่จะจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทให้ครบองค์ประชุมเพื่อกระทำกิจการใดๆ ได้ตามกฎหมายอีกด้วย

      เหตุการณ์ที่ ก.ล.ต. แบล็คลิสต์ กรรมการเนชั่นกรุ๊ป ยกชุดครั้งนี้เป็นเรื่องที่บริษัทเนชั่น ไม่เข้าใจเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุใด ก.ล.ต. ถึงมีมุมมองต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการชุดเดิมของเนชั่นกรุ๊ป ทั้ง 8 รายว่ามีความบกพร่องร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องถือว่าขาดความน่าไว้วางใจที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการบริษัทได้ต่อไป

   คำแถลงของกรรมการเนชั่นกรุ๊ป ตั้งคำถามต่อคำสั่งของ ก.ล.ต. โดยระบุว่า มุมมองของ ก.ล.ต. แตกต่างจากศาลได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน  เนื่องจากศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำพิพากษาในวันที่ 6 ต.ค.2559 ในคดีที่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการชุดเดิมของ เนชั่นกรุ๊ปทั้ง 8 ราย ซึ่งศาลตัดสินหลังจากที่ได้ฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วว่า กรรมการชุดเดิมทั้ง 8 รายไม่ได้มีส่วนร่วมในการสั่งห้ามผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม และไมได้กระทำการอันใดที่ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์  จึงไม่ต้องรับผิดและไม่มีเหตุให้ต้องออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท

      ขณะที่ทางด้าน ก.ล.ต. เองในช่วงที่ผ่านมาก็ร้องทุกข์กล่าวโทษเฉพาะ นายณิทธิมน เพียงคนเดียวเท่านั้น และได้ชี้แจงต่อบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนจุดยืนที่ ก.ล.ต. เห็นว่า กรรมการชุดเดิมทั้ง 8 รายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ได้มีกรณีที่ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตามกฎหมาย

     “ในแง่ของกระบวนการตรวจสอบและสอบทานของ ก.ล.ต. การแบล็คลิสต์ครั้งนี้  ยิ่งเป็นเรื่องที่เราชาวเนชั่น ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ ก.ล.ต. ได้หยิบยกกรณีแบล็คลิสต์ขึ้นพิจารณาใหม่ สืบเนื่องจากการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ โดยได้ประสานงานกับสำนักงานอัยการ หารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และได้วินิจฉัยดำเนินการไปว่าบุคคลดังกล่าวสมควรต้องแบล็คลิสต์  ทั้งที่ ก.ล.ต. เองก็ยอมรับว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินการกับผู้ที่ ก.ล.ต. มิได้กล่าวโทษโดยตรงด้วย

      คณะกรรมการเนชั่นกรุ๊ป ยังแถลงด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดๆ จากบุคคลที่โดนแบล็คลิสต์ทั้ง 8 ราย และไม่มีการเรียกให้ไปชี้แจงเพิ่มเติม หรือนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของเลยแม้แต่น้อย การกระทำเช่นนี้เป็นการไม่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกบังคับใช้กฎหมายได้มีโอกาสพิสูจน์หักล้างข้อเท็จจริง หรือข้อสงสัยของ ก.ล.ต. ซึ่งขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างสิ้นเชิง

     ในประเด็นนี้ คณะกรรมการเนชั่นกรุ๊ป ขอยกข้อความเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งระบุชัดเจนอยู่บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เองด้วยซ้ำ เพื่อให้ร่วมพิจารณาว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้  กรรมการเนชั่นกรุ๊ปได้รับความเป็นธรรมแค่ไหนเพียงใด

การบังคับใช้กฎหมาย

     ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายผ่านช่องทางใด สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการบนพื้นฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานที่ปรากฏ โดยคำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่ถูกกล่าวหาในการที่จะมีโอกาสได้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐานต่อสำนักงาน  ตลอดจนได้วางกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลภายในองค์กรไว้รัดกุมตามสมควร  ได้แก่ การมีคณะกรรมการตรวจสอบ  และฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สอบทานรายงานการเงินและข้อมูลทางการเงินของสำนักงานเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจหน้าที่ในการทบทวนและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน ทบทวนและสอบทานการปฏิบัติตามกฎระเบียบ กำกับดูแลหน่วยงานตรวจสอบภายใน และปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วย 

     นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการด้านตรวจสอบและคดี ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการจากหลายส่วนงานร่วมพิจารณาให้ความเห็นก่อนเสนอเรื่องต่อในระดับสำนักงานซึ่งเลขาธิการมิได้อยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว  และหากเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาปัญหาทางเทคนิคเฉพาะด้าน  สำนักงาน ก.ล.ต. ยังมีการแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาให้ความเห็นในเชิงเทคนิค เช่น ด้านวิชาชีพผู้สอบบัญชี การปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น

(ที่มา http://www.sec.or.th/TH/Enforcement/Pages/backup/LawEnforcement.aspx )

       คณะกรรมการเนชั่น ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายตรวจสอบ และให้ความเห็นว่าการแบล็คลิสต์ของ ก.ล.ต. ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลจะมีผลอย่างไร รวมถึงสิทธิทางกฎหมายของกรรมการที่โดน แบล็คลิสต์ ทั้ง 8 รายในทางกฎหมายด้วย โดยในเบื้องต้นกรรมการทั้ง 8 รายจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งการขาดคุณสมบัติ ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อไปซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ศาล ยกฟ้องบอร์ดเนชั่น ชื้ทำหน้าที่กรรมการได้ @ ระบุทำหน้าที่สื่อไม่ได้สร้างความเสียหาย ด้วยนะคะ

ศาล ยกฟ้อง บอร์ดเนชั่น ชื้ทำหน้าที่กรรมการได้

@ ระบุทำหน้าที่สื่อไม่ได้สร้างความเสียหาย

    ศาลพิพากษายกฟ้อง'สุทธิชัย หยุ่น' และกรรมการเนชั่นกรุ๊ปทั้งหมดกรณี นิวส์'ฟ้องเรียกค่าเสียหายและให้ออกจากตำแหน่ง ระบุเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชน ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่บริษัทนิวส์เน็ตเวิร์ค พร้อมสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทนายให้ด้วย

     กรณีที่ บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น โดยนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพระโขนง กล่าวหาบมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กับกรรมการของบริษัทรวม 10 คน ในข้อหากระทำผิดตาม พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พุทธศักราช 2535   โดยให้กรรมการของ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำนวน 9 คน จ่ายค่าเสียหายให้แก่บมจ. เนชั่น กรุ๊ป จำนวน 42.5 ล้านบาท และให้กรรมการทั้ง 9 คน ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท วานนี้ (6 ต.ค.2559)  ศาลจังหวัดพระโขนง ได้นัดฟังคำพิพากษาโดยมีคำสั่งยกฟ้อง กรรมการของเนชั่นกรุ๊ป ทั้งหมด โดยวินิจฉัยว่า การดำเนินการไม่ให้ผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่ง เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเนชั่นกรุ๊ป เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2558  เป็นคำสั่งของจำเลยที่ 10 คือ นายณิทธิมณ หัสดินทร ณ อยุธยาในฐานะประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพียงคนเดียว ขณะที่กรรมการทั้ง 8 คนไม่มีส่วนต่อการตัดสินใจดังกล่าว  จึงมีคำสั่งยกฟ้อง  และศาลยังมีคำสั่งให้โจทก์ คือ บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ยกฟ้องด้วย

     ศาลระบุว่า  นายณิทธิมนได้ยอมรับว่า ในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปี  เป็นผู้สั่งการห้ามผู้ถือหุ้นกลุ่มที่มีความน่าสงสัยว่า เข้าถือหุ้นบริษัทเพื่อครอบงำกิจการเข้าประชุม ซึ่งบ่งชี้ว่า กรรมการบริษัทเนชั่นกรุ๊ปทั้งหมดไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และถือว่าเป็นไปตามพ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด ฯ มาตรา 105 ที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ

     นอกจากนี้พยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่สามารถฟังไม่ได้ว่า กรรมการของบริษัทกระทำการอันใด  อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท หรือมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงไม่มีเหตุให้กรรมการของบริษัทเนชั่นกรุ๊ป ต้องออกจากการเป็นกรรมการ  เนื่องจากนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร พยานของโจทก์ได้เบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ไม่เบิกความถึงการกระทำหรือพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนว่า คนไหนกระทำการใด อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง

    ส่วนประเด็นการนำเสนอข่าวของเครือเนชั่น ศาลวินิจฉัยว่า ข่าวดังกล่าวมีสื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอ เมื่อเนชั่น กรุ๊ป ซึ่งทำธุรกิจสื่อสารมวลชนเสนอข่าวเรื่องการครอบงำกิจการ จึงเป็นเรื่องปกติ  อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้ตรวจสอบและกล่าวโทษบริษัทนิวส์ เกี่ยวกับพฤติการณ์เข้าครอบงำกิจการเนชั่น กรุ๊ป โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงถือว่า การนำเสนอข่าวของเนชั่นกรุ๊ปไม่ได้ทำให้บริษัทนิวส์เสียหายแต่เป็นการเสนอข้อเท็จจริงจนนำไปสู่การตรวจสอบและกล่าวโทษดำเนินคดีแก่บริษัทนิวส์

     ทั้งนี้ ศาลได้พิพากษาให้ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา จำเลยที่ 10 ที่เป็นผู้สั่งการในการประชุมผู้ถือหุ้นที่ถูกศาลสั่งให้เป็นโมฆะจ่ายค่าเสียหายแก่เนชั่น กรุ๊ป จำนวน 987,102.50 บาทตามค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 และให้บริษัทนิวส์โดยนายอารักษ์จ่ายค่าทนายให้บริษัทเนชั่น กรุ๊ป และกรรมการทั้ง 8 คนๆ ละ 10,000 บาท ให้นายณิทธิมนจ่ายค่าทนายให้แก่บริษัทนิวส์ 20,000 บาท

    บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ได้ยื่นฟ้องต่อ บมจ.เนชั่น มัลิตมีเดีย กรุ๊ป เป็นจำเลยที่ 1 และ นายณิทธิมณ หัสดินทร ณ อยุธยา เป็นจำเลยที่ 10 ส่วนกรรมการของบริษัททั้ง 8 คน เป็นจำเลยที่ 2 – 9 ซึ่งประกอบด้วย  นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น, นายพนา จันทรวิโรจน์, นายเชวง จริยะพิสุทธิ์, นายปกรณ์ บริมาสพร, น.ส. ดวงกมล โชตะนา, นายเสริมสิน สมะลาภา, นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ และน.ส.เขมกร วชิรวราการ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!