WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SECก.ล.ต. สั่ง POLAR จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ

      ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) (POLAR) จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง ความครบถ้วนในการบันทึกบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของหนี้สินตามที่ POLAR แจ้งไว้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเปิดเผยผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน

       POLAR นำส่งงบการเงินงวดสิ้นปี 2559 ต่อ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก 4,580 ล้านบาท แต่ POLAR ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 POLAR ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางว่า POLAR มีหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว รวมทั้งสิ้น 5,718 ล้านบาท ซึ่งอาจมากกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่

       ข้อมูลหนี้สินที่ POLAR เปิดเผยในงบการเงินแตกต่างจากมูลหนี้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหลักทรัพย์ หรือผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้                

      ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สั่งให้ POLAR จัดทำ special audit เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง ความครบถ้วนในการบันทึกบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลหนี้สินที่ POLAR แจ้งไว้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง (big 4) และให้ส่งผลการตรวจสอบต่อ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 30 วันด้วย

ตลท.ให้ POLAR แจงเพิ่มกรณีฟื้นฟูกิจการภายใน 21 มิ.ย.หลังพบข้อเท็จเท็จจริงไม่สอดคล้องกัน

     ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บมจ.โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีบริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยเผยแพร่ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 เนื่องจากคำชี้แจงของบริษัทมีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกันและไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทได้เคยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์

       ทั้งนี้ ตลท.ให้ POLAR ชี้แจงกรณีที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายเนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขณะที่งบการเงินประจำปี 2559 (ฉบับล่าสุด) บริษัทมีหนี้สินรวม 465 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่บริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อ ตลท.นั้น ทางบริษัทชี้แจงว่าเพราะยังมีความไม่แน่นอนในกระบวนการฟื้นฟูกิจการว่าศาลฯ จะมีคำสั่งเป็นประการใด และสาเหตุที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้รวม 5,254 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว

       ตามข้อกำหนดของ ตลท.ว่าด้วยเรื่องแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนกำหนดว่าบริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลทันทีเมื่อบริษัทจดทะเบียนหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 โดยไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ ตลท.นอกจากนี้มีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกันและไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทได้เคยแจ้งต่อ ตลท.

      ดังนั้น ตลท.จึงขอให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมและเผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่  21 มิถุนายน 2560

      สำหรับ สรุปลำดับเหตุการณ์สำคัญตามที่บริษัทชี้แจงได้ ดังนี้  วันที่ 3 พฤษภาคม 2560  คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติงบการเงินปี 2559 ,วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทเชิญที่ปรึกษากฏหมายและทนายความของบริษัทเข้าร่วมประชุม ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ตามที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและการต่อสู้คดีกับบุคคลที่ฟ้องร้องบริษัทจำนวน 3 ราย ตามข้อ 1-3 รวมทั้งนำส่งงบการเงินปี 2559 เผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯ โดยระบุหนี้ที่บุคคลทั้ง 3 รายฟ้องดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

      ทั้งนี้ สรุปข้อมูลที่โจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ได้ดังนี้ คดีดำที่ 343/2560  โจทก์ คือ บริษัท ซิมบา อินเตอร์ จำกัด ฟ้องค่าเสียหายจากการวางแผนโครงการพังงา มูลหนี้ 503 ล้านบาท โดยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 , คดีดำที่ 2082/2560 โจทก์ คือ บริษัท ยูไนเต็ด เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ฟ้องค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์จากการยกเลิกการลงทุนโครงการพังงา มูลหนี้ 2,772 ล้านบาท โดยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 และคดีดำที่ 2127/2560 โจทก์ คือ นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย  ฟ้องเรียกให้ชำระหนี้และค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด มูลหนี้ 345 ล้านบาท โดยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 รวมมูลค่าทั้งสิ้น  3,620 ล้านบาท

      ตลท.ขอให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้  1. เหตุใดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 จึงสามารถนำมูลหนี้ที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่ 21 และ 30 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่บริษัทไปยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 มาใช้ในการพิจารณาว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวและใช้เป็นข้อมูลในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯได้

     2.กรณีที่บริษัทแจ้งว่านายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ฟ้องให้บริษัทชำระหนี้และค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด 345 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้อีกจำนวนหนึ่งที่มีผลทำให้บริษัทพิจารณาว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวและยื่นฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯนั้น  ในขณะที่บริษัทได้เคยแจ้งสารสนเทศต่อ ตลท.ดังนี้ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559  คณะกรรมการบริษัทมีมติขายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด ทั้งหมดให้นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ในราคา 105 ล้านบาท และวันที่  21 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการบริษัทมีมติยกเลิกการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว เนื่องจากผู้ซื้อ ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าซื้อหุ้นอีกต่อไป ดังนั้น จึงขอให้บริษัทอธิบายว่าเหตุใดการที่ผู้ซื้อ (นายกำแหง) ซึ่งเป็นผู้ขอยกเลิกการซื้อหุ้นเอง จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว

     3.คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างไร จึงพิจารณาหนี้ที่เกิดจากการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์เป็นภาระหนี้ทั้งจำนวนของบริษัท จนเป็นเหตุให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว และยื่นขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯ

     4. ขอให้สรุปข้อมูลของแต่ละคดีที่โจทก์ทั้ง 3 ราย ฟ้องร้องดังนี้ ได้แก่ รายละเอียดของโจทก์แต่ละราย เช่น วันที่จัดตั้งบริษัท ทุนจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นและกรรมการ การประกอบธุรกิจ เป็นต้น ,ลักษณะการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทและโจทก์โดยละเอียด พร้อมระบุวันที่เกิดรายการ และสถานะปัจจุบันของโครงการพังงา , สรุปคำฟ้องของโจทก์แต่ละราย

     อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!