- Details
- Published: Monday, 07 October 2024 14:46
- Hits: 3045
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับสู่เกณฑ์ร้อนแรงอย่างมาก สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลเข้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยฉุดคือความขัดแย้งระหว่างประเทศและความไม่แน่นอนทางการเมือง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกันยายน 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-30 กันยายน 2567) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” ที่ระดับ 175.64 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดนับแต่ทำการสำรวจ นักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ และ ความผันผวนของค่าเงินบาท
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนกันยายน 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
● ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธันวาคม 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” (ช่วงค่าดัชนี 160-200) ที่ระดับ 175.64
● ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก”
● หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM)
● หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์ (AUTO)
● ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าของเงินทุน
● ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
“ผลสำรวจ ณ เดือนกันยายน 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 2.3% มาอยู่ที่ระดับ 147.62 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 21.2% มาอยู่ที่ระดับ 175.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 16.7% มาอยู่ที่ระดับ 140.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 60.0% อยู่ที่ระดับ 200.00
ในช่วงเดือนกันยายน 2567 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปัจจัยบวกในประเทศจากทั้งการเปิดขายกองทุนวายุภักษ์มูลค่า 150,000 ล้านบาท การจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปอย่างราบรื่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง การแข็งค่าของค่าเงินบาท และจากปัจจัยนอกประเทศ อาทิ การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ลง 0.5% ครั้งแรกในรอบ 4 ปี และการไหลเข้าของเงินทุน โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 ปิดที่ 1,448.83 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 62,503 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 28,904 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 94,789 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทางการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยูโรโซน อังกฤษ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทางการจีนทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านตลาดทุน รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการเติมโตของเศรษฐกิจไทยซึ่งได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งอาจจะกระทบการส่งออก แนวทางของ กนง. ในการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งถัดไป การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2567 และการเริ่มเข้าลงทุนในกองทุนวายุภักษ์”
10200