WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'สมาคมเพื่อนชุมชน'ดันโรงงานเดินหน้าสู่เมืองอุตฯ เชิงนิเวศ

   บ้านเมือง : ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 กันแล้วสำหรับ'สมาคมเพื่อนชุมชน'ซึ่งในปีที่ 5 นี้ก็จะก้าวไปอีกขั้นที่เรียกได้ว่าเข้มข้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายให้โรงงานของกลุ่มสมาชิกยกระดับสู่การเป็นต้นแบบโรงงานเชิงนิเวศแห่งแรกของประเทศไทยอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวมาบตาพุดมาอย่างต่อเนื่องกันตลอดระยะเวลา 4 ปี

  ทั้งหมดนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านงาน 'ก้าวสู่ปีที่ 5 ของสมาคมเพื่อนชุมชน'ซึ่ง 5 กลุ่มบริษัทที่ร่วมก่อตั้งสมาคมเพื่อนชุมชน ได้แก่ กลุ่ม ปตท. เอสซีจี กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และกลุ่มบริษัทโกลว์ ได้ประกาศตอกย้ำเจตนารมณ์ที่จะรวมกลุ่มเพื่อนสมาชิกให้มุ่งสู่ต้นแบบโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) อย่างสมบูรณ์แบบ

ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม

    สำหรับ โรงงานเชิงนิเวศ มีสาระสำคัญตรงที่ผู้ประกอบการในพื้นที่มาบตาพุด วางเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เป็นความร่วมมือในทิศทางเดียวกันในการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมในระดับมาตรฐานสากล เทียบชั้นประเทศที่พัฒนาแล้ว

   โดยขณะนี้ได้นำหลักเกณฑ์โรงงานเชิงนิเวศที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาขึ้น และได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม มาใช้ปรับเปลี่ยนทุกโรงงานในกลุ่มสมาชิกเพื่อนชุมชนทั้ง 42 โรงงาน มุ่งสู่โรงงานเชิงนิเวศในปี 2558

    จากนั้นจะขยายความร่วมมือไปยังโรงงานของสมาชิกสมทบและโรงงานอื่นๆ อีกในมาบตาพุด ที่มีอยู่ทั้งหมด 120 โรงงาน พร้อมส่งเสริมให้เกิดต้นแบบชุมชนเชิงนิเวศ และโรงเรียนเชิงนิเวศ เพื่อเร่งเดินหน้ายกระดับมาบตาพุดให้เป็นต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2561

หลักเกณฑ์สู่โรงงานเชิงนิเวศ

   สำหรับ กรอบของหลักเกณฑ์ที่สมาคมฯ กำหนดขึ้นนั้น โรงงานที่จะเข้าสู่โรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 14 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การจัดการด้านขนส่งและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย 4.การผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานสีเขียว 5.การจัดการพื้นที่และภูมิทัศน์สีเขียว 6.การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีประสิทธิภาพ 7.การจัดการน้ำและน้ำเสีย 8.การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 9.การจัดการมลภาวะทางอากาศ 10.การจัดการกากของเสีย 11.ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน 12.กิจกรรมของโรงงานลดอัตราการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและทรัพยากรธรรมชาติ 13.การสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชน 14.การเปิดเผยข้อมูลและรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบ

    อย่างไรก็ตาม 14 หลักเกณฑ์ข้างต้น ไม่ใช่เรื่องยากที่โรงงานจะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่หากสามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 14 ข้อ ก็สามารถก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้อย่างเต็มรูปแบบ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้

ตั้งเป้าสู่โรงงานต้นแบบ

    นายชลณัฐ ญาณารณพ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยถึงการวางยุทธศาสตร์การทำงานของสมาคมเพื่อนชุมชนว่า 5 ผู้ก่อตั้งพร้อมที่จะเป็นโรงงานต้นแบบ และผลักดันให้ในปี 2560 ทุกโรงงานในกลุ่มสมาชิกจะมุ่งสู่ต้นแบบโรงงานเชิงนิเวศแห่งแรกไปด้วยกัน โดยจะให้ความสำคัญต่อการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ

     "การจะเดินหน้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นับเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะต้องทำทุกมิติ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยในส่วนของโรงงานต้องครอบคลุมหลักเกณฑ์โรงงานเชิงนิเวศ 14 ข้อ อาทิ การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย, การจัดการน้ำและน้ำเสีย, ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน, การสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชน และการเปิดเผยข้อมูลและรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบ เป็นต้น ส่วนมิติของชุมชนนั้นต้องครอบคลุม 5 มิติ ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ ซึ่งจุดสำคัญของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือ การที่ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ของตัวเองและได้ทำประโยชน์ร่วมกันนั่นเอง" นายชลณัฐ กล่าว

    ขณะเดียวกัน สมาคมเพื่อนชุมชน ได้เตรียมส่งเสริมให้เกิดต้นแบบชุมชนเชิงนิเวศ และโรงเรียนเชิงนิเวศขึ้น โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ส่งเสริมการดูแลจัดการส่งแวดล้อมชุมชนและโรงเรียนตามหลัก 3R คือ Reduce หรือการลดใช้วัสดุและลดขยะ Recycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ และ Replenish การจัดระบบโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกและเผยแพร่ให้ความรู้ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนและนักเรียน

    อย่างไรก็ตาม หากเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศประสพผลสำเร็จ สามารถใช้เป็นต้นแบบ (โมเดล) ให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หรือเมืองใหญ่ๆ สามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งจะช่วยแก้ทุกปัญหา ทั้งเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานกับชุมชน การเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น ซึ่งสมาคมเพื่อนชุมชนจะพยายามเดินหน้าสู่เป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้สำเร็จต่อไป

อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

     นายปองศักดิ์ ชาลวัลย์ ประธานชุมชนเขาไผ่ จังหวัดระยอง ในฐานะที่เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับโรงงานมานาน ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายกับเมืองมาบตาพุด โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งสมาคมเพื่อนชุมชนขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ได้เฝ้าดูการทำงานของเพื่อนชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงแรกอาจจะยังมีข้อสงสัย แต่จากการเฝ้าดูมาอย่างต่อเนื่องจึงได้เห็นการดูแลชุมชนที่มากขึ้น ทั้งการจัดทีมแพทย์ลงพื้นที่ดูแลประชาชน การให้ทุนการศึกษานักเรียนพยาบาล การจัดติวเตอร์ให้กับเด็กนักเรียน และการปรับปรุงพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์กับชุมชนอย่างมาก

      สำหรับ ปีที่ 5 ของสมาคมเพื่อนชุมชน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันทุกภาคส่วน ทั้งโรงงาน ชุมชน โรงเรียน เพื่อนำพาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แต่นับเป็นพันธสัญญาที่ 5 บริษัทผู้ก่อตั้ง และสมาชิกเครือข่ายสมาคมเพื่อนชุมชน จะจับมือกันเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และผลักดันให้เป็นต้นแบบกับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ นำไปใช้ เพื่อทำให้โรงงานและชุมชน รวมถึงสังคมทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขสมดังสโลแกน "อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน"

จัดเวิร์คช็อปสร้างองค์ความรู้

      สมาคมเพื่อนชุมชนจัด "ประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการวางกลยุทธ์และกรอบแผนงานของสมาคมเพื่อนชุมชน" ในโครงการโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และกำหนดกรอบแนวทางการเข้าสู่หลักเกณฑ์ของ Eco Factory ให้กับบริษัทสมาชิกในสมาคมเพื่อนชุมชนได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น และให้ทุกโรงงานมีการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดอย่างยั่งยืน

    ทั้งนี้ ในกรอบการดำเนินการตามแนวทางของ Eco Factory จะมีหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ให้โรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการทั้งหมด 14 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การจัดการด้านขนส่งและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย 4.การผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานสีเขียว 5.การจัดการพื้นที่และภูมิทัศน์สีเขียว 6.การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีประสิทธิภาพ 7.การจัดการน้ำและน้ำเสีย 8.การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 9.การจัดการมลภาวะทางอากาศ 10.การจัดการกากของเสีย 11.ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน 12.กิจกรรมของโรงงานลดอัตราการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและทรัพยากรธรรมชาติ 13.การสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชน 14.การเปิดเผยข้อมูลและรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบ

    "ตามกรอบแผนการดำเนินงานของการเข้าสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สมาคมเพื่อนชุมชนถือได้ว่ามีการเตรียมความพร้อม โดยในปีนี้มีแผนผลักดันให้บริษัทในกลุ่ม 5 สมาชิกผู้ก่อตั้งให้เข้าร่วม ส่วนแผนการดำเนินการในปีหน้าจะขยายผลไปในกลุ่มบริษัทสมาชิกสมทบ และถ่ายทอดองค์ความรู้กฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กับบริษัทนอกกลุ่มสมาชิกสมาคมเพื่อนชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ใน 5 มิติ 22 ด้าน"

ช่วยยกระดับคุณภาพชุมชน

   อย่างไรก็ตาม Factsheet ผลการดำเนินงานสมาคมเพื่อนชุมชนในปี 2557 ประกอบด้วย ด้านการศึกษาโครงการ "เพื่อนชุมชนติวเตอร์" ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในจังหวัดระยอง โดยดูจากผลคะแนน ONET เฉลี่ยทั้งประเทศของสานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 (สพม.เขต 18) พบว่า คะแนน ONET ขยับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยับจากลำดับที่ 11 ในปี 2553 ขึ้นมา อยู่ลำดับที่ 3 ในปี 2556 จัดมหกรรมการศึกษา Rayong Education EXPO โดยช่วยเปิดวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในจังหวัดระยอง เน้นการแนะแนวเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการวางแผนพัฒนาศักยภาพการเรียนในแต่และช่วงวัยอย่างเหมาะสม โครงการทุนปริญญาตรีต่อเนื่องเพื่อนชุมชน รวม 27 ทุน เป็นเงิน 10.8 ล้านบาท (สาขาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และครุศาสตร์ สาขาละ 9 ทุน)

    ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยมีจำนวนโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ 7 ราย เพื่อยกระดับการจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน (เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การฝึกอบรม และการติดตามและประเมินผล) การบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียวต่อเนื่องที่ถนนสาย 363 ตั้งแต่สี่แยกเนินสำลี จนถึงทางเข้านิคมฯ มาบตาพุด ระยะทาง 2.5 กิโลเมตรจัดทำแผนฉุกเฉินชุมชนเพื่อให้ชุมชนรู้จักป้องกันตัวจากสาธารณภัย โดยจัดต่อเนื่องจนครบทั้ง 38 ชุมชนในมาบตาพุด โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554-2557 สนับสนุนการซ้อมแผนฉุกเฉินโรงเรียนและเตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ทั้ง 21 แห่ง เพื่อให้รู้ถึงหลักการหลบภัยในสถานศึกษา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!