- Details
- Category: CSR
- Published: Monday, 16 January 2023 18:30
- Hits: 2959
มูลนิธิต่อต้านการทุจริต กระทรวงวัฒนธรรม เครือซีพี-ทรู ประกาศรายชื่อ 12 ทีมผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ การประกวด ‘ต่อต้านทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์’ ประจำปี 2565
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 มูลนิธิต่อต้านการทุจริต, กระทรวงวัฒนธรรม, เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มทรู และมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมใจปลูกความดี ปลูกคุณธรรม นำไทยพ้นภัยคอร์รัปชัน จัดการประกวด ‘ต่อต้านทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์’ ประจำปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยสร้างสรรค์ผลงานรณรงค์ต่อต้านการทุจริตและปลูกฝังสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตให้กับชาวไทยทุกเพศ ทุกวัย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา มูลค่ากว่า 685,000 บาท
ล่าสุด คณะกรรมการได้คัดเลือก 12 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จากผู้ส่งเข้าประกวด 85 ผลงานจากทั่วประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พลเอกธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต นางสาวอัจฉรา เทพศิริ ผู้ช่วยอาวุโส ด้านธรรมาภิบาล สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายประพาฬพงษ์ มากนวล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ทรูปลูกปัญญา ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นายพิพัฒน์ พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และอาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมตัดสินผลงาน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฎ์ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ
พลเอกธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต เปิดเผยว่า ในครั้งนี้เป็นการตัดสินรอบรองชนะเลิศ ซึ่งมีทีมที่คณะกรรมการได้คัดเลือกไว้ 39 ทีม แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 16 ทีม และมัธยมศึกษา 23 ทีม วันนี้คัดเลือกให้เหลือ 12 ทีม ระดับการศึกษาละ 6 ทีม เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทั้ง 12 ทีมได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีความโดดเด่น ประยุกต์การแสดงได้อย่างสวยงาม และสอดแทรกเนื้อหาการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตให้แก่เยาวชนและประชาชนที่ได้รับชมผลงาน
ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า ขอชื่นชมในความสามารถของน้องๆ นักเรียน ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานซึ่งมีรูปแบบใหม่ๆ โดยนำศิลปะการแสดงไทยประยุกต์มาบูรณาการกับการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตได้อย่างลงตัว สวยงามและน่าสนใจ คณะกรรมการได้มีการอภิปราย และแสดงความคิดเห็นกันอย่างเข้มข้นกว่าจะคัดเลือกผลงานมาได้ 12 ทีมเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ และขอขอบคุณโรงเรียนที่ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้
ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ มีดังต่อไปนี้
ระดับประถมศึกษา จำนวน 6 ผลงาน
1. ผลงาน : ชาติภูนภาลัยต้านภัยทุจริต โรงเรียนบ้านราษฎร์ภักดี จ.เชียงราย
2. ผลงาน : โคราชต้านทุจริต โรงเรียนบ้านหนองหัวแรด จ.นครราชสีมา
3. ผลงาน : วิถีชาวนาไทย ไร้ทุจริต โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ กรุงเทพมหานคร
4. ผลงาน : สืบสาน วิถีไทย ต้านภัยทุจริต โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี จ.ลพบุรี
5. ผลงาน : ทักษิณาวิถี คนดีแดนใต้ โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา จ.นครศรีธรรมราช
6. ผลงาน : ช้าน้อง น้องอย่าช้า โรงเรียนวัดท้ายโนต จ.นครศรีธรรมราช
ระดับมัธยมศึกษา และระดับประกาศณียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 6 ผลงาน
1. ผลงาน : เยาวชนสืบสานหมอลำพื้นบ้านต่อต้านการทุจริต โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์
2. ผลงาน : เรือมกันตรึมสืบสานวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต โรงเรียนรมย์บุรีพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.บุรีรัมย์
3. ผลงาน : โขนสดประยุกต์ ชุดไทยช่วยไทย ไทยเจริญ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จ.อ่างทอง
4. ผลงาน : ลำตัดประยุกต์ปลุกจิตสำนึก วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
5. ผลงาน : ทอล์กโชว์หนังตะลุง “เท่งนุ้ย ชวนแหลงเรื่องต่อต้านทุจริต” โรงเรียนหัวไทรบํารุงราษฎร์ จ.นครศรีธรรมราช
6. ผลงาน : เยาวชนร่วมใจ ต้านภัยทุจริต โรงเรียนแจ้งวิทยา จ.สงขลา
ทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 12 ทีม จะได้เข้ารับการอบรมฟังคำแนะนำจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับปรุงพัฒนาการแสดง ในวันที่ 27 มกราคม 2566 โดยกำหนดจัดการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.acf.or.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ช่อสะอาดต้านทุจริต’
A1314