- Details
- Category: CSR
- Published: Tuesday, 27 June 2023 12:20
- Hits: 1312
พลังชุมชนสร้างคนด้วยปัญญา ลดเหลื่อมล้ำ ย้ำเครือข่ายชุมชน ส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่
เอสซีจี เปิดต้อนรับครอบครัวพลังชุมชนจากทั่วประเทศ กับงาน “พลังชุมชน สร้างคนด้วยปัญญา” ในโครงการ “พลังชุมชน” หลักสูตรอบรมวิสาหกิจชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้ชุมชน ด้วยการให้ความรู้คู่คุณธรรม นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด ให้พึ่งพาตนเอง โดยใช้หลักการตลาด เช่น แปรรูปผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มและตรงใจผู้บริโภค หาวิธีการจำหน่ายสินค้าหลากหลาย เช่น ขายออนไลน์ ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมอบรม 650 คนจาก 14 จังหวัด เกิดรายได้เพิ่ม 4-5 เท่า จาก 1,150 ผลิตภัณฑ์ การจ้างงาน 3,410 คน นำไปสู่การส่งต่อความรู้ 26,310 คน เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทาง ESG 4Plus
หัวใจสำคัญของคนไทยอยู่ที่สถาบันครอบครัว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ ฝากข้อคิดไว้ว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้ชนชาติไทยคงอยู่มาได้ถึงสองพันกว่าปี ว่าเกิดจาก “น้ำใจ 3 ระดับ” ระดับแรก น้ำใจในครอบครัว ผู้ใหญ่ในครอบครัวมีหน้าที่ “เลี้ยงดูและอบรม” ลูกหลาน และลูกหลานควร “รู้คุณและตอบแทนคุณ” ระดับที่ 2 น้ำใจในชุมชน มี 3 ประโยคศักดิ์สิทธิ์ หนึ่ง เราเป็นพี่น้องกัน สอง เราต้องมีน้ำใจต่อกัน สาม เราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สุดท้ายคือ ระดับอาณาจักร ผู้นำต้องเสียสละ สร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน ประชาชนในอาณาจักรก็ต้องให้ความจงรักภักดีต่อผู้นำ และต้องสามัคคีกันเพื่อความอยู่รอด
“โครงการพลังชุมชน ให้ความสำคัญกับครอบครัว และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน แม้ว่าจะมีเป้าหมายแรก คือ แก้ความยากจน แต่ยังมีสิ่งที่งดงามและมีคุณค่าอีกมากมาย โดยเฉพาะสิ่งที่เห็นในวันนี้ คือ ครอบครัวอบอุ่น มีคุณค่าและความหวัง มีคนที่เรารัก และเขาก็รักเราด้วย” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม กล่าว
แปรรูปวัตถุดิบรอบตัวให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เกิดรายได้หลักล้าน
ฟ้าเสรี ประพันธา ผู้ก่อตั้งบริษัท ไร่นาฟ้าเอ็นดู จ.อุบลราชธานี จากอุทกภัยใหญ่ของจ.อุบลราชธานี ปี 2560 ข้าวในนาทั้งผืนหายวับไปกับตา การได้พบกับโครงการพลังชุมชน ทำให้เธอลุกยืนขึ้นด้วยมุมมองและความเชื่อที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มจากตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง ผืนนาล่มแต่พืชผักสมุนไพรที่หัวไร่ปลายนายังรอดสามารถนำมาสร้างสิ่งใหม่ คือ “น้ำพริกย้อนวัย” สร้างตำนานขายผ่านโลกออนไลน์ใน 6 เดือน ได้มูลค่ามากกว่าข้าวที่หายไปกับน้ำท่วมถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ยังมีเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่า และเมล็ดกระบกในท้องถิ่นนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม จำหน่ายในโลกออนไลน์ ปลดหนี้ล้านกว่าบาทได้ภายในเวลา 2 ปี มีเงินเหลือมาแก้ปัญหาน้ำท่วม ยอดขายทะลุ 1,500,000 บาท จนตั้งเป็นบริษัท ไร่นาฟ้าเอ็นดู จำกัด ขับเคลื่อนให้ชุมชนมีรายได้
ที่สำคัญเธอได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชน คือ ลูกสาวทั้งสองที่เกิดแรงบันดาลใจการสร้างธุรกิจผ้า Eco Print แบรนด์ 2Sky ขึ้นมา
สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และส่งต่อความรู้ชวนคนรุ่นใหม่ขายผ่านออนไลน์
ภัทชา ตนะทิพย์ ศูนย์นวัตกรรมกล้วยหอมทองครบวงจร จ.แพร่ ได้ฉายา “นวัตกรตัวแม่” ด้วยนิสัยที่ชอบค้นคว้าทดลอง มุ่งมั่นทำหลายอย่างจนขาดเอกลักษณ์ของตัวเอง จนโครงการพลังชุมชนได้เข้ามาทำให้เธอชัดเจน และแนะนำให้ทำเรื่อง “กล้วย” ให้ปังและดังไปเลย และส่งต่อความรู้ให้เยาวชนได้สร้างอาชีพและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชุมชนต่อไป
ภัทชาทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบปรับสูตรให้ได้กลิ่นรสที่ถูกปากคนไทย การพยายามลดน้ำมันคงเหลือในผลิตภัณฑ์ ไม่เคยหยุดพัฒนาเพื่อผู้บริโภค เกิดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยหอมหลากหลาย เช่น กล้วยหอมทองชีเรียลผสมกระบกรสคาราเมล ข้าวเม่าชีเรียลผสมธัญพืช ไซรัปกล้วยหอมทอง
รู้ใจลูกค้า เข้าใจตลาด กลายเป็นสินค้าขายดีประจำจังหวัด
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องแกงชาววัง จ.นครศรีธรรมราช เกิดจากความตั้งใจของ จีระยุทธ ไข่นุ่นเจ้าของกลุ่มเครื่องแกงชาววัง จ.นครศรีธรรมราช ให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้พี่ป้าน้าอาในชุมชนที่ปลูกสมุนไพรต่างๆ นำมาผลิตเครื่องแกง เครื่องแกงส้ม เครื่องแกงกะทิ และเครื่องแกงคั่วกลิ้ง และสร้างการรับรู้ผ่านการสร้างแบรนด์ “เครื่องแกงชาววัง”
การเข้าร่วมโครงการพลังชุมชนทำให้จีระยุทธ ได้รู้จักพลังของการแบ่งปัน เรียนรู้ ต่อยอดเครือข่าย และเปิดใจของเขาให้รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น โดยนำแนวคิดในการทำงานและความรู้ทางด้านธุรกิจ มาปรับใช้ในการทำงานกลุ่ม โดยเน้นผลิตจากความต้องการของลูกค้า ทั้งยัง เปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ทั้งด้านการสร้างอาชีพ และด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืช “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” ช่วงวิกฤติโควิดยังร่วมกับลูกสาวปั้นแบรนด์ “ไตปลาแม่ค้าตัวน้อย” ให้ลูกสาวมารับไม้ต่อ ช่วยคุณพ่อสร้างรายได้ผ่านช่องทางโซเชียล
ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรสวนมาลี เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาดูงาน
ใต้ร่มเงาของต้นจามจุรีใหญ่ยักษ์ อายุ 140 ปี มีคณะดูงานผลัดเปลี่ยนเข้ามาเพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในการมาดูงานที่สวนมาลีที่ดูแลโดย สุรัตน์ เทียมเมฆา เจ้าของสวนมาลี จ.กาญจนบุรี เกษตรกรรุ่นที่ 3 ของครอบครัว ปลูกผักสมุนไพรและผลไม้ แปรรูปเป็นผลไม้แช่อิ่ม และมีโอกาสเข้าร่วมโครงการพลังชุมชนเมื่อ 4 ปีก่อน สวนมาลีรอดวิกฤติโควิดได้ด้วยการขายออนไลน์แทบจะ 100% และเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญกลางปี 2565 สวนมาลีได้ตัดสินใจเปิดรับคณะดูงาน นำเสนอองค์ความรู้การแปรรูปและสถานที่สวยงามตามธรรมชาติ ปัจจุบัน ผ่านการรับผู้ศึกษาดูงานมามากกว่า 3 พันคนแล้ว มีรายได้ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการขายสินค้าให้คณะศึกษาดูงาน มีการกลับมาดูงานซ้ำเป็นคณะใหญ่ขึ้น สมาชิกกลุ่มแปรรูปมีรายได้เพิ่มขึ้น กระจายรายได้สู่ชุมชน
ต่อยอดจากสิ่งที่มี ไม่สร้างหนี้เกินตัว
“ส่วนลึกๆ ของพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกมาอยู่ใกล้ๆ ทุกอย่างแม่ทำให้ลูกได้หมด ถ้าลูกกลับมาอยู่บ้าน” อารีพร สุยะ แห่งไม้หมอนฟาร์มคาเฟ่ จ.เชียงราย กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนร้านก๋วยเตี๋ยวริมทางมาเป็นร้านกาแฟ เพื่อความฝันของ กนกกาญจน์ สุยะ ผู้เป็นลูกสาว
การได้มีโอกาสเรียนรู้กับโครงการพลังชุมชน และนำทุกกลยุทธ์ที่เรียนรู้มาพัฒนาพื้นที่ 15 ไร่ แบ่งเป็นโซนทำนา โซนปลูกผักสวนครัวและสมุนไพร เช่น มินต์ นำมาแปรรูปเป็นชาและสกัดน้ำมันหอมระเหย และกระจายกล้าพันธุ์ให้เครือข่ายในชุมชนไปปลูกนำผลผลิตมาขายให้ทางร้าน วันนี้ ไม้หมอนฟาร์มย่างเข้าปีที่ 8 กนกกาญจน์ได้ดูแลคิดค้นสร้างเมนูจากวัตถุดิบในสวน พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปร่วมกับคุณแม่ “ขอบคุณโครงการพลังชุมชนที่ทำให้ครอบครัวเรามาได้ถึงจุดนี้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง” กนกกาญจน์กล่าว
พลิกชีวิตผู้ป่วยซึมเศร้า ด้วยผ้าทอปกาเกอะญอ “ชูใจ”
อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ผู้นำชุมชนบ้านแม่แดดน้อย จ.เชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ผ้าทอชูใจ” เพื่อบำบัดอาการซึมเศร้าของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สามีฆ่าตัวตาย โดยให้สมาชิก 48 คนได้ทอผ้าโดยใช้สีและปักลายตามใจชอบ แล้วนำมาแบ่งปันเรื่องราว เกิดการรับฟัง ปรึกษาและเยียวยาซึ่งกันและกัน จากกิจกรรมบำบัดมีการต่อยอด สร้างเป็นแบรนด์ผ้าทอ “เดปาถู่” สะท้อนความผูกพันกับธรรมชาติและแนวคิด “การดูแลซึ่งกันและกัน” ของชุมชนชาวปกาเกอะญอ “ต้นไม้ใหญ่ก็ต้องเอื้อให้ต้นไม้เล็ก คนที่เข้มแข็งก็ต้องดูแลคนที่อ่อนแอกว่า การดูแลกันและกันด้วยคำพูดดีดี ให้ความรู้สึกดีๆ จิตใจก็จะฟูขึ้นมา” อานันต์ศรี กล่าว
ส่งต่อแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลงานผลิตภัณฑ์จากปลา
เวทีพลังชุมชนในปี 2566 ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม จ.อุดรธานี ได้มานำเสนอ “โครงงานอาชีพนานาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากปลา ภายใต้แบรนด์กล้าดี SP Shop” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงระดับประเทศ อรณิชชา พิทักษ์จารุพันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษา โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม จ.อุดรธานี กล่าวว่า “เด็กๆ กลุ่มนี้คือ ความภาคภูมิใจของโรงเรียนและชุมชน ขอบคุณ วิสาหกิจชุมชนวังธรรมผลิตและแปรรูปปลาครบวงจร ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพธุรกิจปลาส้มผ่านการลงมือทำจริง และนำไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ คือการผลักดันสู่การเป็นหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับสถานศึกษา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปในท้องถิ่นได้มีโอกาสศึกษาเพื่อสร้างอาชีพได้จริง”
A6842