WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SCGCSR29

เอสซีจี ประสานพลังชุมชนเปิดตัว ‘สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก’ขยายผลโครงการรักษ์น้ำฯ สู่ต้นแบบชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

     เอสซีจี ประสานพลังชุมชนเปิดตัว’สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก’ ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ส่งเสริมชุมชนถอดบทเรียนโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต รวบรวมองค์ความรู้ และตัวอย่างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงจากการสร้างฝายชะลอน้ำ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด เน้นการพึ่งพาตนเอง จนเกิดเป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง พร้อมแบ่งปันให้ชุมชนอื่นๆ เพื่อขยายผลเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

    ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวในโอกาสเปิดสถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก ว่า ตั้งแต่ปี  2550 ที่ชุมชนบ้านสาสบหก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เข้าร่วมโครงการ ‘เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต’ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าของหมู่บ้านและป้องกันไฟป่า ทำให้ระบบนิเวศคืนสู่สมดุลอีกครั้ง น้ำในห้วยมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนสามารถนำน้ำจากฝายมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรภายในชุมชน ตลอดระยะเวลาการดูแลผืนน้ำและผืนป่าที่ผ่านมา ชุมชนสาสบหกมีความเข้มแข็งและมีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ และพร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆ จึงร่วมกับเอสซีจี จัดตั้ง “สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก”  เพื่อถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับชุมชน รวบรวมองค์ความรู้ และตัวอย่างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงจากการสร้างฝายชะลอน้ำ เป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ นำไปเป็นแนวทางสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

    “การสร้างฝายชะลอน้ำนอกจากจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำและทำให้ธรรมชาติมีความสมดุลแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสามัคคีในชุมชน จากการรวมตัวกันคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลบนความถูกต้องอย่างมีศีลธรรม เพื่อตัดสินใจแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน โดยชุมชนสาสบหกได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า’กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น’ภายใต้การนำโดยพี่เลี้ยงจากเอสซีจี ลำปาง และฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาปรับใช้ในการทำงานในชุมชน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนเพื่อฝึกการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบ เกิดการต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นๆ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.สุเมธ กล่าว

     นายธงชัย งามสม ผู้ใหญ่บ้านสาสบหก กล่าวว่า “วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนสาสบหกประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ต้องพึ่งพิงธรรมชาติแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีการดูแลรักษา ทำให้เกิดปัญหาขาดความสมดุล จนกระทบกับปากท้องและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน แต่หลังจากชุมชนเข้าร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” มากว่า 7 ปี ฝายชะลอน้ำที่ชุมชนร่วมกันสร้าง นอกจากจะช่วยป้องกันไฟป่าในหน้าแล้งและป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝนแล้ว ยังทำให้ป่าไม้และสัตว์ต่างๆ กลับคืนสู่ป่า และระบบนิเวศกลับมาสมดุล วันนี้เราพร้อมที่จะนำประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้คนที่สนใจมาเรียนรู้ ใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตผ่านสถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก แห่งนี้”

   สถานีปลูกคิดปันสุข คือ ชุมชนที่เปิดต้อนรับผู้สนใจให้แวะมาศึกษาเยี่ยมเยือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ด้วยการปลูกคิด ให้มีกระบวนการคิดที่ทันสมัย เป็นเหตุเป็นผล คิดนอกกรอบ ใช้ปัญญาแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ รู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปันสุข เมื่อชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ก็พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งที่เป็นอุปสรรคและผลสำเร็จให้กับทุกคนได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นชุมชน เพื่อเป้าหมายคือ ความสุขอย่างยั่งยืน โดยเอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนเปิด “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านเตย” เป็นแห่งแรก ที่ชุมชนบ้านเตย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557  ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมชุมชนถอดบทเรียนจากโครงการนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูดินเค็ม  ทั้งนี้ เอสซีจีมุ่งหวังว่าสถานีปลูกคิดปันสุขจะขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งและช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้สามารถพัฒนาความคิดและพึ่งพาตนเองเพื่อความสุขที่ยั่งยืนต่อไป 

สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

 

สถานี “ปลูกคิดปันสุข”

    ด้วยความปรารถนาที่จะแบ่งปันความรู้และความเข้มแข็งของชุมชนบ้านสาสบหก  เอสซีจี และชุมชน   สาสบหก ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีปลูกคิดปันสุข สาสบหก”  เพื่อถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับเกษตรกร และรวบรวมองค์ความรู้ พร้อมตัวอย่างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ   เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

    สถานีปลูกคิดปันสุข คือชุมชนที่เปิดต้อนรับผู้สนใจให้แวะมาศึกษาเยี่ยมเยือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ด้วยการปลูกคิด ให้มีกระบวนการคิดที่ทันสมัย เป็นเหตุเป็นผล คิดนอกกรอบ ใช้ปัญญาแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ รู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปันสุข เมื่อชุมชนพึ่งพาตนเองได้ก็ยังมีความปรารถนาที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งที่เป็นอุปสรรคและผลสำเร็จให้กับทุกคนได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นชุมชน เพื่อเป้าหมายคือความสุขอย่างยั่งยืน

 

สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก

ที่มาของ “สาสบหก”

      ในอดีต บ้านสาหลวง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นพี่เป็นน้องกัน สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำวัง ในปี 2505 ได้มีการก่อสร้างเขื่อนกิ่วลม ทำให้พื้นที่บ้านสาหลวงถูกน้ำท่วม  ชุมชนจึงเคลื่อนย้ายอพยพกระจายออกเป็นหลายหมู่บ้าน  ชุมชนบ้านสาสบหก หมู่ 2 ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่แยกตัวออกมาจากบ้านสาหลวง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมน้ำห้วยหกซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี

      ชุมชน  “สาสบหก” ตั้งอยู่บริเวณปากลำห้วยหก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไผ่หกมาก จึงเรียกว่า “สบหก”    ส่วนคำว่า  “สา”  ตั้งให้สอดคล้องกับชื่อขึ้นต้นของหมู่บ้านข้างเคียงในตำบลบ้านสา  จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “สาสบหก”  มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา  มีภูเขาล้อมรอบ

                - ทิศเหนือ                 ติดกับบ้านแป้นใต้

                - ทิศใต้                     ติดกับบ้านสา          

                - ทิศตะวันออก         ติดกับบ้านสาแพะ มีแม่น้ำวังไหลผ่าน

                - ทิศตะวันตก            เป็นที่ราบเชิงเขามีน้ำห้วยหกไหลลงอ่างเก็บน้ำ ติดกับบ้านขอ

ปัจจุบันมีจำนวนประชากร 445 คน หรือ 126 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

       ในอดีตผืนป่าห้วยหกถูกทำลายอย่างหนัก จากการตัดไม้เพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง เผาป่าเพื่อล่าสัตว์และเก็บของป่า โดยไม่มีการดูแลรักษาและฟื้นฟูผืนป่า ทำให้ห้วยหกมีปริมาณน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ทั้งชุมชนยังประสบปัญหาน้ำหลากท่วมหมู่บ้านทุกครั้งหลังจากฝนตกใหญ่

       ปี  2550 บ้านสาสบหกเข้าร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” สร้างฝายชะลอน้ำและป้องกันไฟ ดูแลป่าไม้ในพื้นที่ป่าของหมู่บ้านจนสามารถฟื้นป่าให้ระบบนิเวศกลับมาสมดุล และน้ำในห้วยมีปริมาณเพิ่มขึ้นทำเป็นประปาภูเขาได้  นอกจากการนำน้ำจากฝายมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรภายในชุมชน

      ตลอดระยะเวลาการดูแลผืนน้ำและผืนป่าที่ผ่านมา  ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ และด้วยความปรารถนาที่จะแบ่งปันความรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในปี 2557 ชุมชนสาสบหก และ เอสซีจี ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก”  เพื่อถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับเกษตรกรและชุมชน และรวบรวมองค์ความรู้ พร้อมตัวอย่างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

     “ผะหญา” แปลว่า ปัญญา ส่วนคำว่า “ฮอม” แปลว่า เอามารวมกัน จึงแปลรวมกันว่า “ชุมชนได้นำปัญญามาร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์เพื่อความสุขส่วนรวมร่วมกันของชุมชน” วัตถุดิบที่สำคัญที่สุดของ “ปัญญา”  คือ “ข้อมูลที่ถูกต้อง” เพราะ “ข้อมูล” คือ อาวุธที่ใช้ประกอบการคิด วิเคราะห์ อย่างเป็นเหตุเป็นผลบนความถูกต้องอย่างมีศีลธรรม เพื่อตัดสินใจแก้ไขปัญหาของชุมชน ชาวสาสบหกจึงได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า “กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ภายใต้การนำโดยพี่เลี้ยงจาก เอสซีจี ลำปาง และฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาปรับใช้ในการทำงานในชุมชนโดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน

งานวิจัยชุมชน...เครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน

     เมื่อชุมชนได้หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนนำมาซึ่งความเข้าใจกันมากขึ้น ผนวกกับความปรารถนาที่ต้องการให้ชุมชนรู้จักการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบบนหลักเหตุและผล  เอสซีจี ลำปาง จึงได้เชิญชวนให้ชุมชนลองทำงานวิจัย โดยหวังให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยคนในชุมชนได้ฝึกการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

        กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนสาสบหกเริ่มต้นจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนควบคู่กับแรงศรัทธาที่ต้องการรักษาผืนป่าที่ชุมชนหวงแหน ผ่านงานวิจัย “การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสืบสานตำนานม่อนก๋องข้าว” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าตำนานบรรพบุรุษของชุมชนสาสบหกและเป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำห้วยหก จึงเป็นเรื่องที่ชาวชุมชนสาสบหกเลือกขึ้นเป็นหัวข้อของการวิจัย ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานวิจัยล้วนสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เวทีชี้แจงแผนการดำเนินงานและสร้างความเข้าใจ กิจกรรมศึกษาและรวบรวมตำนานม่อนก๋องข้าว  การวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่จริง การประกวด ขับร้องเพลงซอสืบสานตำนานม่อนก๋องข้าว และการหาแนวทางการถ่ายทอดตำนานสู่สาธารณชน

โดยภายในสถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก มีแห่งเรียนรู้ดังนี้

สถานี “ฝายเปลี่ยนชีวิต”

      ปี 2550 เอสซีจี ลำปาง ได้ชักชวนชาวสาสบหกให้เข้าร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ด้วยการเชิญชวนตัวแทนคนในชุมชนเดินทางไปศึกษาดูงานที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  และบ้านป่าสักงาม อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่  เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการสร้างฝายชะลอน้ำอย่างถูกหลักวิธีตามศาสตร์ของพระราชา ซึ่งช่วยให้ชาวสาสบหกได้นำกลับมาทดลองทำโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้พื้นดินของชุมชน กระทั่งวันที่ 16 สิงหาคม 2550  นับเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างฝายตามแนวพระราชดำริ โดยมีทีมงานเอสซีจีเป็นพี่เลี้ยง สร้างฝายได้จำนวน 82 ฝาย เพื่อถวายแด่พ่อหลวงของแผ่นดิน

      หลังการทำฝายครั้งแรก ทีมงานเอสซีจีได้พาผู้แทนชุมชนไปดูงานที่บ้านสามขา ทำให้คนในชุมชนได้เห็นถึงความสำเร็จของการสร้างฝายชะลอน้ำ จึงกลับไปร่วมแรงสร้างฝายชะลอน้ำในชุมชน และเกิดความคิดสร้างสรรค์การสร้างฝายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น  “ฝายครอบครัว”  ที่มีป้ายชื่อคนในครอบครัวปักไว้ที่ฝาย “ฝายบุญ” สามารถมอบเงินให้กับชุมชน เพื่อให้ทำฝายชะลอน้ำแทน

     ผลสำเร็จจากการทำกิจกรรมฝายชะลอน้ำทำให้บ้านสาสบหกไม่ถูกน้ำท่วมในช่วงที่มีพายุนกเต็นเข้าในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อปี 2553 ในขณะที่หมู่บ้านรอบๆ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

     นอกจากนี้ ชาวชุมชนยังได้ร่วมกันทำ “แนวกันไฟ” เพื่อป้องกันไฟป่า ทำให้ป่าฟื้นคืนสภาพกลับมาสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร สามารถต่อระบบประปาภูเขานำน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน และนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจต่างๆ สร้างรายได้สู่ชุมชน ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้การบริหารจัดการ และสามารถนำวิธีการดังกล่าวมาใช้แก้ไขกับปัญหาต่างๆ ของชุมชนได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือ คนในชุมชนได้สื่อสารพูดคุยสร้างความเข้าใจกันมากขึ้น

สถานี “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า”

      ผลจากการสร้างฝายชะลอน้ำ การจัดทำแนวกันไฟ และงานวิจัยชุมชน ทำให้ชาวสาสบหกมีระบบความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีความรู้สึกเป็นเจ้าของสายน้ำและผืนป่า จึงช่วยกันดูแลน้ำให้กลับคืนมา ดูแลดินให้เกิดความชุ่มชื้น  ทำให้ผืนป่าค่อยๆ ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศของป่ากลับมาสมดุล ทำให้ปริมาณน้ำในห้วยหกเพิ่มมากขึ้น เพียงพอสำหรับใช้ตลอดทั้งปี สามารถนำมาใช้ทำการเกษตร เป็นน้ำประปาภูเขา ใช้เลี้ยงสัตว์ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว

  • สถานีย่อย...ผลผลิตอาหารจากป่า “ซุปเปอร์มาร์เก็ตกลางป่า”- การสร้างฝายชะลอน้ำ ทำให้ผืนป่าฟื้นคืนกลับมาสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว มีผลผลิตอาหารจากป่ามากมาย เช่น เห็ดไข่ห่าน เห็ดหล่ม เห็ดด่าน เห็ดลม ผักหวาน ผักพ่อค้าตีเมีย ดอกก้าน ต่อ ผึ้ง น้ำผึ้ง และพืชผักต่างๆ อีกมากมาย ชาวสาสบหกนำมาใช้เป็นอาหาร และนำไปขายเพื่อสร้างรายได้เสริม เช่น ในช่วงเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านสามารถเก็บเห็ดขายและสร้างรายได้ประมาณ 700-800 บาทต่อวัน เป็นต้น
  • สถานีย่อย...เลี้ยงกบ ครบวงจร อาชีพเสริม- ชาวสาสบหกสามารถใช้น้ำจากประปาภูเขาเลี้ยงกบซึ่งเป็นสัตว์ที่ต้องการน้ำสะอาดได้อย่างครบวงจร คือ ทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และลูกอ๊อด เพราะไม่มีคลอรีน ทำให้กบเจริญเติบโตได้ดี มีขนาดใหญ่กว่ากบที่เลี้ยงทั่วไป เกิดเป็นชุดความรู้ที่จะหารายได้เสริมให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
  • สถานีย่อย...เลี้ยงไก่ชน พลิกชีวิต แบ่งปันชุมชน- ชาวสาสบหกสามารถใช้น้ำจากประปาภูเขาทำความสะอาดเล้าไก่ชน เพราะไม่มีคลอรีน และใช้น้ำหมักชีวภาพรักษาความสะอาดของเล้าไก่ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน นับเป็นองค์ความรู้ที่เป็นศิลปะสืบต่อจากบรรพบุรุษ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน ช่วยพลิกชีวิต และสามารถแบ่งปันความสำเร็จจากการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนด้วยความรักความผูกพัน
  • สถานีย่อย...ภูมิปัญญาการเลี้ยงผึ้งป่า- การเลี้ยงผึ้งป่าทำให้คนหันมามีจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร เพราะเมื่อน้ำและป่าฟื้นคืนกลับมา ทำให้ปริมาณผึ้งป่าเพิ่มขึ้นด้วย การเลี้ยงผึ้งป่าของชาวสาสบหกลงทุนเพียงสร้างโพรงเท่านั้น จากนั้นปล่อยให้ฝูงผึ้งออกหาเกสรดอกไม้ในธรรมชาติ เป็นการช่วยขยายพันธุ์ไม้ป่า เพราะผึ้งจะไปผสมเกสร เป็นอาชีพที่ลงทุนน้อยให้รายได้สูง  น้ำผึ้งป่าราคาสูงถึงขวดละ 500 บาท
  • สถานีย่อย...เครื่องจักสาน ภูมิปัญญาที่ไม่เคยหายไปจากท้องถิ่น- ผลจากการอนุรักษ์ป่า ทำให้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในป่า จึงเกิดเป็นอาชีพเสริมทำเครื่องจักสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน และจำหน่าย สะท้อนให้เห็นคุณค่าของการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น
  • สถานีย่อย... “สบหกกรีน” ปลูกผักอินทรีย์ ปันความสุข- ชาวสาสบหกปลูกผักสวนครัวโดยไม่ใช้สารเคมีไว้รับประทาน และใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรค อีกทั้งยังสามารถส่งผลผลิตจำหน่าย ซึ่งเป็นอาชีพรองที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างดี โดยชาวบ้านได้เลือกปลูกผักตามสภาพแวดล้อม ปลูกพืชหมุนเวียนสลับชนิด หรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน ที่สำคัญเลือกปลูกให้ตรงตามฤดูกาลซึ่งจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและจำหน่ายได้ราคาดี
  • สถานีย่อย...การเลี้ยงหมูหลุมแบบธรรมชาติ- การเลี้ยงหมูหลุมของชาวสาสบหก เป็นการเลี้ยงหมูที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและจากธรรมชาติ ทำให้ลดต้นทุนการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี และไม่มีกลิ่นเหม็นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จากมูลของหมู ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
  • จุดเริ่มต้นของบ้านพักโฮมสเตย์  เกิดจาก “ฝาย” โดยรายได้การบริหารงานกลุ่มโฮมสเตย์ จะเก็บไว้เพื่อเป็นเงินกองทุนสาธารณะสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับป่า เช่น การดับไฟป่า การลาดตระเวน การทำฝาย เป็นต้น ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มาเยือนไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ (ค่าที่พักคืนละ 100 บาท ค่าอาหารมื้อละ 50 บาท) เพราะชาวสาสบหกเห็นว่าผู้มาเยือนมาทำประโยชน์ให้กับหมู่บ้าน จึงต้องดูแลและแบ่งปันน้ำใจให้แก่กัน
  • คุณค่าที่ชุมชนได้เรียนรู้
    • ชาวสาสบหกได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้  ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะการทำฝายให้กับเยาวชนและผู้ที่มาเรียนรู้ ทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน 
    • ชาวสาสบหกได้ทำบุญโดยที่ไม่ต้องไปวัด เมื่อเยาวชนได้มาเรียนรู้ บางคนอยู่บ้านไม่เคยหุงข้าว ถูบ้าน หลังจากมาร่วมกิจกรรมแล้วกลับบ้านไปก็ไปช่วยพ่อแม่ทำ เป็นการสร้างคนอีกทางหนึ่ง

สถานี “เกษตรอินทรีย์”

    คนในชุมชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกลับมาพึ่งพาตนเองในแนวทางที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ และร่วมกันรณรงค์วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ แบ่งปันกันบริโภค และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำเกษตรในระบบอินทรีย์

เดือนมกราคม มะนอย ถั่วฝักยาว

เดือนกุมภาพันธ์               บวบเหลี่ยม ฟักทอง มะเขือ พริก

เดือนมีนาคม  ช่วงเก็บผลผลิต จนถึงเดือนมิถุนายน

เดือนตุลาคม   มะเขือเจ้าพระยา ผักกวางตุ้ง ผักชีลาว

เดือนธันวาคม ผักชี กระเทียม หอมแดง  ผักสลัด

สถานี “พันธุ์ข้าว เรื่องราวที่เรียนรู้ไม่รู้จบ”

      ในอดีตชาวบ้านสบหก เคยประสบปัญหาเรื่องข้าวไม่พอต้องนำผักไปแลกข้าวจากหมู่บ้านอื่น แต่เมื่อชุมชนได้จัดการเรื่องทรัพยากรป่า สร้างฝาย มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวสาสบหกจึงให้ความสำคัญเรื่องการปลูกและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

     "ธัญสิริน" พันธุ์ข้าวเหนียวที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต้านโรคใบไหม้-ให้ผลผลิตสูง ชาวสาสบหกเรียนรู้การปลูกข้าวเพื่อคัดเมล็ดพันธุ์ที่ทนทานและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ บ้านสาสบหกจึงเป็นชุมชนต้นแบบการถ่ายทอดการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อกระจายไปสู่ชุมชนเครือข่ายอื่นๆ นับเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้แก่เกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในภาวะที่เกษตรกรขาดแคลนเมล็ดข้าวพันธุ์ดี เป้าหมายต่อไปของชาวสาสบหก คือ การปลูกข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยจากสารพิษ

สถานี “ถักทอชีวิตและมิตรภาพ”

     ชาวสาสบหกจัดตั้งกลุ่มถักทอขึ้น เพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเริ่มเรียนรู้การถัก
ไนลอนเป็นตะกร้า และถุงใส่ของ จากกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน แล้วจึงพัฒนาไปสู่การถักทอเพื่อใช้ประโยชน์ในครอบครัว เช่น ผ้าปูโต๊ะ จานรองแก้ว ผ้าคลุมกล่องกระดาษทิชชู่ เป็นต้น  เกิดเป็นงานศิลปะอันงดงาม สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยลวดลายที่โด่ดเด่นงดงามของบ้านสาสบหก คือ ลายไก่ฟ้าและหงษ์ขาว ที่เคยนำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนอุทยานแห่งชาติ
แจ้ซ้อน

     เสน่ห์งานถักทอ คือ ถักแล้ว “ม่วน” (สนุก เพลิดเพลิน)  ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบลวดลาย พบปะพูดคุยกันขณะรวมกลุ่ม สร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ช่วยสืบสานภูมิปัญญาชาวสาสบหกที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ และสามารถส่งสินค้าขายได้ ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

สถานี  “โฮมสเตย์”  สัมผัสวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชน

    โฮมสเตย์ของชุมชนสาสบหก จะทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นเสมือนญาติมิตรในท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงาม

เล่าขาน...ตำนานม่อนก๋องข้าว  ประวัติศาสตร์รวมใจคนในชุมชนตำบลบ้านสา

“ค่ำคืนหนึ่ง ฝูงนกแสกแตกรังส่งเสียงร้องดัง แกร๊ก ๆ บินข้ามหมู่บ้านไป ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างพากันสงสัย

มีลางจะเกิดขึ๊ด (อาเพศ) อันใดในชุมชนนี้หนอ ในคืนนี้ต่างก็เข้าหลับนอนกันอย่างหวาดผวาตลอดทั้งคืน 

แต่ก็มิได้เกิดอะไรขึ้น  ครั้นรุ่งเช้า แสงทองจับขอบฟ้า ช่วงเวลาไก่ขันปลุกคนในชุมชนตื่น

ก็ได้ยินเสียงคนส่งเสียงร้อง เย้ ๆ  เห็นกลุ่มคนถือดาบขี่ม้าเป็นพาหนะจำนวนหนึ่งบุกข้ามคูเมืองเข้ามา

ล้อมชุมชนชาวลัวะไว้  ซึ่งกลุ่มคนถือดาบขี่ม้ากลุ่มนี้ก็คือ โจรเงี้ยวหรือโจรม่าน ผ้าขะม้าแดงนั่นเอง

พวกโจรชอบปล้นจี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ รวมทั้งรังแกชาวบ้านตามชอบใจ มีผ้าสีแดงโพกหัวเป็นสัญลักษณ์

พวกโจรจับชาวบ้านมัดไว้ตามเสาบ้าน ต้นไม้ แล้วปล้นเอาสิ่งของเครื่องใช้ที่มีค่า สัตว์เลี้ยง อาหาร

รังแกและลวนลามผู้หญิง ผู้ใดขัดขืนก็จะทำร้าย  ชาวบ้านจึงทนจำยอมเพราะไม่สามารถสู้กับโจรได้

จึงอยู่อย่างหวาดผวาตลอดมา และอยู่ในความทรงจำของชาวลัวะมิเคยลืมเลือน

หลายปีผ่านมาเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นอีก ในเวลาพลบค่ำ
เมื่อฝูงนกแสกแตกรังส่งเสียงร้อง แกร๊กๆ บินข้ามหมู่บ้านไป

หญิงผู้เฒ่าคนหนึ่งมีนามว่า “แม่ย่า” ตะโกนบอกชาวบ้านให้เก็บข้าวของเครื่องใช้

หนีออกจากหมู่บ้านในคืนนี้เลย ทุกครอบครัวตกตะลึงกลัว ไม่มีใครคัดค้าน
ต่างเก็บข้าวของมีค่าใส่ตะกร้า กระบุง แยกย้ายออกจากเมืองไปหลบซ่อนในที่ต่าง ๆ

 “แม่ย่า” หญิงผู้เฒ่าได้รวบรวมลูกหลาน ญาติพี่น้อง

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งออกจากเมืองไปยังยอดเขาสูงทางทิศตะวันตก

ดวงอาทิตย์เพิ่งตก ส่องแสงสีทองมองเห็นได้ชัด

ความมืดเริ่มเข้ามาแทนที่ ต่างพากันเดินไปยังยอดเขาลูกนั้น ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด

และสามารถต่อสู้ป้องกันตัวได้ เพราะอยู่ที่สูงกว่า การเดินทางในช่วงเวลากลางคืนเป็นการเดินทางที่ลำบาก

แม่ย่า เดินนำหน้าพร้อมทั้งหาบกระบุง จุดแคร่ไม้ไผ่เดินนำหน้า พวกหนุ่ม ๆ ชายฉกรรจ์ก็ช่วยกัน

ทั้งแบกและหามเดินเข้าไปทางลำห้วย ทุกคนเดินอย่างระมัดระวังและเงียบที่สุด

พอมาถึงภูเขาลูกนี้ก็ปีนไต่ขึ้นไปยอดเขาอย่างทุลักทุเล พอถึงยอดเขา

ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างเพิงที่พักที่นอนเสร็จได้ในคืนนั้น พวกหนุ่ม ๆ ก็ช่วยกันเหลาไม้ไผ่ทำเป็นหลาว

เพื่อใช้เป็นอาวุธ และขนก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีอยู่ วางเรียงรายไว้ในที่พอเหมาะรายรอบภูเขาลูกนั้น

เพื่อที่จะโยนก้อนหินใส่เมื่อโจรบุกขึ้นมา

และได้ตั้งเวรยามอยู่เป็นที่ คาดว่าจะหลบโจรม่านอยู่บนภูเขานี้หลายวัน

แต่ก็มีปัญหาบนภูเขาลูกนี้ไม่มีน้ำเลย น้ำที่เตรียมมาใช้เพื่อดื่มเท่านั้น

แต่น้ำในลำห้วยข้างล่างนั้นยังพอมีอยู่ วันรุ่งขึ้นทุกคนต่างได้ยินเสียงโห่ร้องฟังไม่เป็นศัพท์ดังมาแต่ไกล ๆ

ควันไฟสีขาวพุ่งจากหมู่บ้านลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

เป็นทางยาว ใช่แล้ว!! โจรม่านมาจริง ๆ ทุกคนหวาดหวั่นกลัวโจรจะตามมาพบ

แต่ทุกคนก็เตรียมพร้อมสู้ในยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ 

แม่ย่านั่งอ้อนวอนขอแม่ธรณี เทพาอารักษ์ เจ้าป่าเจ้าเขา

ที่อยู่บนภูเขา ณ แห่งนั้น ให้คุ้มครองรักษาชีวิตให้แคล้วคลาด  ฝ่ายโจรม่านมาถึงหมู่บ้าน

รู้ว่าชาวบ้านรู้ตัว อพยพหนีไปก่อนก็โมโหจุดไฟเผาบ้านจนหมด และตามรอยเท้าไป  จึ

งรู้ว่าชาวบ้านขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูงลูกนี้ พวกโจรจึงตามขึ้นไปตามลำห้วยหกจนถึงตีนเขา

พวกโจรเห็นว่าชาวบ้านอยู่บนภูเขา ต่างพากันปีนไปบนภูเขาลูกนั้น พอถึงกึ่งกลางภูเขา

ชาวบ้านเห็นก็กลิ้งลูกหิน พุ่งหลาวไม้ไผ่เข้าใส่โจรจนบาดเจ็บกันมากมาย

และทำให้ขึ้นไปไม่ได้  หัวหน้าโจรจึงสั่งให้ลูกน้องเฝ้ายาม ซุ่มอยู่ที่ลำห้วยรอบ ๆ ภูเขาลูกนี้อย่างเงียบ ๆ

คิดว่าในเวลาไม่กี่วัน  บนภูเขาไม่มีน้ำ

ชาวบ้านต้องลงมาตักน้ำที่ลำห้วยนี้ หรือไม่ก็ล้อมให้อดน้ำตายอยู่บนภูเขา

ชาวบ้านรู้ว่าโจรไม่ยอมเลิกรา จึงหวั่นไม่มีน้ำกิน และแล้วน้ำก็หมด เด็ก ๆ ไม่มีน้ำกินต่างร้องไห้

ชาวบ้านจึงหาวิธีกินน้ำจากต้นกล้วย เถาวัลย์ ประทังชีวิตไป

เย็นวันนั้น แม่ย่า ได้เรียกผู้คนนำข้าวสารมารวมกัน บนเสื่อไม้ไผ่ผืนใหญ่ เรียกเด็ก ๆ มารวมกันบอกว่า

“ใครไม่ได้อาบน้ำ อยากอาบน้ำ มานี่ แม่ย่าจะอาบน้ำให้”

จากนั้นแม่ย่าก็ตักข้าวสารรดตัวเด็ก ๆ  เด็ก ๆ ต่างพากันสนุกสนาน แสดงท่าทางอาบน้ำ

เหตุการณ์นี้หน่วยสอดแนมโจรม่านเห็น จึงไปบอกหัวหน้าโจรว่า “ถ้าขืนล้อมพวกมันไว้อย่างนี้

เราต้องตายก่อนพวกมันแน่ ๆ เพราะบนดอยมีน้ำเยอะแยะ เด็ก ๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

หัวหน้าโจรเมื่อเห็นว่าการดักรอฆ่าคงไม่ได้ผล และพรรคพวกยังบาดเจ็บหลายคน อาหารที่มีมาก็หมด

โจรม่านจึงตัดสินใจหนีกลับไป ชาวบ้านได้รับความปลอดภัย

ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีโจรม่านผ้าขะม้าแดงมารบกวนอีก

ทราบว่าทางการได้ปราบปรามโจรพวกนี้แล้ว การได้รับชัยชนะทำให้โจรม่านถอยหนีไปในครั้งนี้

เกิดจากความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน  เกิดจากภูมิปัญญา  และกระบวนการคิด

ของหญิงชราผู้นำที่แก้ปัญหาในครั้งนี้”

ใต้ขื่อเหนือแป๋ ตั๊ดแก๋แลไขว้ ผะเลิดผะลาด ไม้แส้ฟาดกะเติง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!