- Details
- Category: CSR
- Published: Friday, 20 September 2024 17:41
- Hits: 7417
หลักทรัพย์บัวหลวง จัดกิจกรรม ‘บัวหลวงชวนรู้ วิถีชุมชน สัมผัสชีวิตชาวปกาเกอะญอ และชาวม้ง’
หลักทรัพย์บัวหลวงเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น ในปีนี้นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรม CSR ของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง จึงให้โอกาสพนักงานลงพื้นที่ไปเรียนรู้มิติการใช้ชีวิตกับชนเผ่าหลากชาติพันธุ์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชนเล็กๆ บนดอยสูง ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน เพื่อเรียนรู้และเห็นถึงคุณค่าของความแตกต่างพร้อมกับสนับสนุนวิถีชุมชนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
กิจกรรม “บัวหลวงชวนรู้ วิถีชุมชน สัมผัสชีวิต ชาวปกาเกอะญอ และชาวม้ง” ถูกจัดขึ้นให้พนักงานหลักทรัพย์บัวหลวง และบริษัทในเครือได้เข้าร่วม โดยก่อนเดินทางได้ปูพื้นฐานสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอและชาวม้ง พร้อมเกร็ดความรู้ต่างๆ ให้กับพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมก่อนเดินทาง และเมื่อถึงวันเดินทาง ทุกคนได้รวมตัวกันที่สถานีกลางบางซื่อเพื่อโดยสารรถไฟตู้นอนมุ่งสู่ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
ในวันฟ้าโปร่งกลางฤดูฝน ชาวคณะหลักทรัพย์บัวหลวงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก คุณเศรษฐศิลป์ แสงสกาวรัตน์นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว และคุณอภิรัตน์ มาศรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว ลัวฉือนี และประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.เชียงใหม่ จากนั้นเดินทางไปรับประทานอาหารท้องถิ่น ณ ชุมชนชาวปกาเกอะญอ ที่มีเมนูเด็ดมากมาย เช่น ข้าวเบ๊อะ หรือ ต่าพอเพาะ ที่ปรุงจากการนำข้าวไร่ ข้าวดอยที่ปลูกเอง มาปรุงรวมกับสารพัดผักต่างๆ ทั้งอิ่มและอร่อยเติมพลังกันอย่างเต็มที่ก่อนไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ต่อไป
เมื่อพร้อมแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มกิจกรรมแรก “คุณปลูก เราดูแล” พนักงานผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เช่น อะโวคาโด โดยมีผู้สูงวัยในชุมชนเป็นผู้ดูแลให้เติบโตต่อไป และก่อนจากกัน พือพือ และ พีพี หรือคุณตา คุณยายในชุมชน ได้กล่าวอวยพรเป็นภาษาปกาเกอะญอให้ชาวคณะบัวหลวงมีแต่ความสุขความเจริญอีกด้วย
กิจกรรมต่อมา ชาวคณะได้เข้าชมการสาธิตและทดลองทอผ้ากี่เอว ซึ่งเป็นการทอผ้าแบบดั้งเดิมของชนเผ่าชาวปกาเกอะญอที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยใช้อุปกรณ์ทอผ้าขนาดเล็กที่เรียกว่า “กี่เอว” มาทอผ้าและออกแบบให้เป็นลวดลายศิลปะที่มีอัตลักษณ์ซ่อนอยู่และเป็นความภาคภูมิใจของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งนอกจากการทดลองทอผ้ากี่เอวแล้ว ยังมีการทดลองตำข้าวแบบโบราณ โดยใช้เครื่องทุ่นแรง ที่เรียกว่า "กลิ" ในการคัดแยกเมล็ดข้าวและเปลือกออกจากกัน และในช่วงท้ายของการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้อุดหนุนสินค้าทำมือและข้าวกล้องดอยเพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้าชุมชนที่สวยงาม มีเอกลักษณ์และคุณภาพดี
หลังจากได้เรียนรู้และทดลองการทำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของชาวเผ่ากันอย่างสนุกสนานแล้ว ก็ถึงช่วงเวลาเข้าฟังบรรยายและเยี่ยมชมสวนผลไม้-ดอกไม้ของชาวม้ง ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการทำการเกษตรบนพื้นที่ภูเขาจากแนวคิดการทำการเกษตรแบบผสมผสานของรัชกาลที่ 9 และปิดท้ายมื้อค่ำให้เข้าบรรยากาศด้วยเมนูพื้นบ้านสุดพิเศษ 12 เซียนม้งทะเลหมอก ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากเมนูไก่ต้มสมุนไพร ให้กลายมาเป็นชาบูที่รับประทานง่ายและได้คุณค่าจากสมุนไพรท้องถิ่นหลากหลายชนิด เช่น ผักแพวแดง จิเตอเนง และตี๋ล่อ เป็นการเพิ่มกำลังวังชาเตรียมร่วมกิจกรรมในวันถัดไป
เช้าวันใหม่ คณะชาวหลักทรัพย์บัวหลวงเดินทางไปเรียนรู้การทำ “ตาแหล่ว” เครื่องรางของชาวเหนือ ซึ่งทำจากไม้ไผ่ นำมาสานเป็นทบๆ มีความเชื่อว่า ตาแหล่ว เปรียบเสมือนตาเหยี่ยว ที่คอยช่วยสอดส่องภัยชั่วร้าย และปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัว กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านบ่อแก้ว และได้น้องๆ นักเรียนเป็นผู้สอนพี่ๆ บัวหลวงอย่างใกล้ชิด ก่อนจะพาพี่ๆ ไปทำกิจกรรม “คุณปลูก เราดูแล” ต่อเนื่องจากวันแรก ซึ่งเป็นการร่วมกับน้องๆ เพาะพันธุ์ต้นกล้า อะโวคาโด และกาแฟ เพื่อส่งต่อให้เด็กๆ ได้ดูแลต่อไป กิจกรรม “คุณปลูก เราดูแล” ทั้ง 2 วัน จึงเป็นมากกว่าการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวและสร้างรายได้ให้ชุมชน เพราะเป็นกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวของชุมชนระหว่างผู้มาเยื่อนและคนในชุมชนอีกด้วย
คุณเจมส์ หรือ นส.ณัฐยา วิชัยกุล หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม เล่าว่า “การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในองค์กรแล้ว ยังมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คนในเมืองไม่เคยได้รับรู้ ซึ่งการไปศึกษาวิถีชุมชนในครั้งนี้ก็ทำให้เห็นแนวคิดและมุมมองการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่พิถีพิถันแต่เรียบง่าย ตั้งใจจะนำประสบการณ์นี้ไปถ่ายทอดให้กับบุคคลอื่นและมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน”
โดยการทำกิจกรรมทั้ง 2 วันนี้ ชาวคณะหลักทรัพย์บัวหลวงปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นท์รวม 0.78 ตัน เฉลี่ยคนละ 0.02 ตัน และได้ทำการชดเชยคาร์บอนโดยได้รับการรับรองจาก TGO องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นที่เรียบร้อย
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่ได้มีโอกาสสนับสนุนชุมชนต่างๆ ให้สามารถคงเอกลักษณ์และสืบสานวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้อย่างยั่งยืน
9531