WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BEDO ลุยพื้นที่จัดกิจกรรมลงนามปฏิญญา'ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน'

            บ้านเมือง : จรัส ลีลาศิลป์/รายงาน

     BEDO ขยายพื้นที่ลงนามปฏิญญา'ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน' ครอบคลุมทั่วไทย หลังประสบความสำเร็จตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ลุยพื้นที่ชุมชนบ้านวังส้มซ่า ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ 15 ภาคีเครือข่ายลงนามปฏิญญาท่าโพธิ์ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่น โดยเฉพาะต้นส้มซ่า พืชประจำท้องถิ่น สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

  ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เผยว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ได้จัดกิจกรรมปฏิญญาประจำปี 2557 เพื่อเป็นต้นแบบและพัฒนาภาคีเครือข่ายเพื่อขยายผล ตลอดจนสื่อสารและสร้างกระแสให้สังคมรับรู้ และตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนต่อไป โดยในครั้งนี้เราเห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนบ้านวังส้มซ่า BEDO จึงเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการสนับสนุนทั้งในรูป

   แบบการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งให้องค์ความรู้ต่างๆ แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจนี้มีภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัตถุดิบในท้องถิ่น ตลอดจนมีความตั้งใจจริงอยู่แล้วในการที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และนำทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นมาสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นรูปธรรม จึงมีการรวมตัวกันของคนในชุมชนเพื่อนำทรัพยากรในท้องถิ่น อาทิ ว่านหางจระเข้ ใบบัวบก ทับทิม อัญชัน ขมิ้น และต้นส้มซ่า พืชประจำท้องถิ่นที่หาได้ยากในปัจจุบัน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ แชมพู ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ โลชั่น ฯลฯ และจัดจำหน่ายทั้งในชุมชนและกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งรายได้ที่ทางกลุ่มวิสาหกิจได้รับมาก็จะมีการแบ่งกำไรร้อยละ 15 เพื่อนำไปอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ต่อไป อาทิ ปลูกต้นส้มซ่า ซึ่งเป็นพืชประจำท้องถิ่นบ้านวังส้มซ่าแห่งนี้

    ด้านวัตถุดิบที่วิสาหกิจชุมชนนำมาใช้นั้นเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งมีการรณรงค์ในชาวชุมชนปลูกในบริเวณบ้านเสมือนการปลูกพืชผักสวนครัว และนำมาจำหน่ายให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นับเป็นการสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

   การลงนามปฏิญญาท่าโพธิ์ในครั้งนี้ เป็นพื้นที่แห่งที่ 10 ที่ทาง BEDO ได้จัดกิจกรรมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 โดยเริ่มจาก "ปฏิญญาคุ้งบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ" เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายใกล้กรุง และอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวมอญ "ปฏิญญาคลองประสงค์ จ.กระบี่" พื้นที่นำร่องการตอบแทนคุณระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของบริการระบบนิเวศแห่งแรกของประเทศไทย

            สำหรับในปีงบประมาณ 2557 BEDO ได้ขยายพื้นที่การจัดทำ "ปฏิญญา" ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่ ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์, ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี และ ต.ท่าโพธิ์ เมือง จ.พิษณุโลก ในครั้งนี้ BEDO จัดพิธีลงนามปฏิญญาท่าโพธิ์ "ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน" ณ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ 15 ภาคี

            เครือข่าย ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์พิษณุโลก สำนักงานคลังจังหวัด

   พิษณุโลก มหาวิทยาลัยพิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โรงเรียนชุมชน 1 วัดสกัดน้ำมัน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน

   ชุมชนบ้านวังส้มซ่า ตำบลท่าโพธิ์ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มีเจตนารมณ์ที่ดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านการบริหารจัดการ อนุรักษ์

  และใช้ประโยชน์ทรัพยากรฐานชีวภาพ เพื่อให้เกิดความสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์และการรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ มีเจตนารมณ์ที่ร่วมจะดำเนินการ เพื่อให้การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรฐานชีวภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือและร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ดังต่อไปนี้

   ข้อ 1 เราจะร่วมกันศึกษา คัดเลือก ขยายพันธุ์และอนุรักษ์พืชสมุนไพร พืชอาหารที่เหมาะสม โดยการทำแปลงสาธิต ปลูกเพิ่มสมุนไพร ทั้งในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง

  ข้อ 2 เราจะร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม ดูแล แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สาธารณะ และรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ข้างต้นอย่างยั่งยืน

  ข้อ 3 เราจะร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรพร้อมกับการบันทึกและสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่คนรุ่นหลังเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนต่อไป

  ข้อ 4 เราจะร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมของชุมชน ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนสู่การขยายผลในพื้นที่ใกล้เคียง และชุมชนเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

  ข้อ 5 เราจะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นหรือทรัพยากรของท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ด้วยกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ในชุมชน เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

  ด้านนายปริญญา ปานทอง รองอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

  กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพในปัจจุบันนี้มีความสำคัญมาก และเมื่อได้กลับมามองในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องของสังคม ชุมชน และเรื่องของภาคี คำว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นหมายถึงสติปัญญาที่ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษได้สะสมมาจนถึงทุกวันนี้ และโครงการนี้เป็นการรวมกลุ่มคนเพื่อบ้านเมืองร่วมทำงานเพื่อชุมชนมา ผมขอบคุณทุกท่านที่ได้มาร่วมงานและทุกท่านที่มาสนับสนุนพ่อแม่พี่น้องใน ตำบลท่าโพธิ์ของเรา ขอบคุณสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพที่ให้การสนับสนุนครับ

    ผศ.ดร.คงศักดิ์ ศรีแก้ว รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวต่อไปว่า ภารกิจของ BEDO เป็นหลักการพัฒนา คือการใช้ชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและต้องรักษาและขยายภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ดูแลและรับผิดชอบพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงและจะพัฒนาโครงการนี้ต่อไป

    นายมาโนช วงศ์เมือง เกษตรอำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวด้วยว่าหน่วยงานด้านการเกษตรได้ดูแลในเรื่องพืชการเกษตรซึ่งเราจะต้องดูแลและชี้แนะแนวทางต่างๆ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. กฎหมายวิสาหกิจชุมชนเราจะต้องโอบอุ้มให้การสนับสนุนวิสาหกิจจะได้อยู่เคียงข้างและทำปฏิบัติตามภารกิจของ BEDO ต่อไป

    นายธวัช สิงหเดช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์ตำบลท่าโพธิ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่จริงและใช้ได้ผลจริง ต้นส้มซ่ามีที่เดียวในประเทศไทยและในอนาคตตำบลท่าโพธิ์จะก้าวเข้าสู่อาเซียนและมีผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าสู่อาเซียนได้และขอบคุณมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ให้การร่วมมือและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีและขอบคุณ BEDO ที่ได้เข้ามาสนับสนุนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแบบนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ของตำบลท่าโพธิ์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและเต็มไปด้วยสมุนไพรที่มีประโยชน์แต่บางครั้งยังเรากลับมองไม่เห็นถึงคุณค่า จนกระทั่งมีผู้เชี่ยวชาญมาให้การแนะนำก่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชนซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับการร่วมมือจาก BEDO ที่ให้การสนับสนุนและมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ช่วยในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและในอนาคตนี้เรามีเป้าหมายจะนำผลิตภัณฑ์ ตำบลท่าโพธิ์ ก้าวเข้าสู่อาเซียนอย่างภาคภูมิใจและจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นางสาวจิตติมา บุญมี ประธานวิสากิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน กล่าวทิ้งท้าย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!