WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Nam27

เปิดแผนยุทธศาสตร์ จัดการน้ำแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซาก อีกภารกิจใหญ่ในมือบิ๊กตู่       

มติชนออนไลน์ : หลายคนคงยังจำเหตุการณ์อุทกภัยหรือน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของไทยในปี 2554 ได้ เพราะในปีนั้นมีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากกว่าปกติ ทำให้กรมชลประทานต้องระบายน้ำออกเพื่อป้องกันเขื่อนแตก

      เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลต้องยกเครื่องการปฏิรูปน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติระดับเร่งด่วน
      แต่จนถึงขณะนี้ แผนการบริหารจัดการน้ำและการปฏิรูปป้องกันน้ำท่วมของประเทศก็ยังไม่เดินหน้า แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รื้อแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลชุดที่แล้ว และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ ท่ามกลางความสนใจของสังคมว่า รัฐบาลจะใช้เงินมหาศาลเช่นเดียวกันกับแผนเก่าหรือป้องกันปัญหาอุทกภัยหรือไม่
      แต่แผนดังกล่าวยังไม่ทันได้เดินหน้า เพราะปีนี้ (2558) ได้เกิดภาพที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิงจากปี 2554 เพราะในปีนี้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง เพราะนอกจากฝนไม่ตกแล้ว น้ำในเขื่อนเหลือใช้ได้ไม่ถึง 30 วัน ทำให้ไม่มีน้ำสำหรับปลูกข้าวนาปี และเสี่ยงต่อการขาดน้ำอุปโภคบริโภค ถือเป็นปัญหาหลักของการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ จนกระแสกลัวน้ำท่วมของประชาชนหายไป และเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนอีกครั้ง

- บิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะจัดการปัญหาน้ำทั้งระบบ
      เป็นเหตุให้รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี รีบเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) ที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองหัวหน้า คสช.เป็นประธานนำเสนอ พร้อมกันนี้ยังได้โอนบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไปให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแล และได้เรียกประชุมนัดแรกเรียบร้อยแล้ว 
     โดยที่ประชุม กนช.เห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการขับเคลื่อน แผนบริหารจัดการน้ำของประเทศระยะเวลา 2558-2569 เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.อนุกรรมการติดตามการใช้น้ำ มีหน้าที่ในการติดตามการใช้น้ำในที่ต่างๆ ทั้งภาคเกษตร การใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค การใช้น้ำในหน่วยงานราชการและการใช้น้ำในส่วนอื่นๆ 2.อนุกรรมการจัดหาน้ำให้เพียงพอกับการใช้ในประเทศ 3.อนุกรรมการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับสังคม และ 4.อนุกรรมการติดตามและประเมินผลดำเนินงานด้านต่างๆ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัยเป็นประธาน 
       หลายฝ่ายคงจะกังขาว่า แผนยุทธศาสตร์จะออกมาในลักษณะใดหรือมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะไทยต้องจัดทำแผนรับมือ ทั้งปัญหาอุทกภัย และวิกฤตภัยแล้งด้วย 

- เร่งดำเนินการ 5 ภารกิจ
     อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าว "นายสมเกียรติ ประจำวงษ์" ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำว่า ได้แบ่งยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเป็น 5 ภารกิจ คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน โดยแผนดังกล่าวได้แบ่งช่วงเวลาในการปฏิบัติงานตามแผนเป็น 3 ช่วง ภายในระยะเวลา 10 ปี คือ 1.แผนระยะสั้น ตั้งแต่ปี 2558-2559 2.แผนระยะกลาง ปี 2560-2564 และ 3.แผนระยะยาว ปี 2565-2569 

=7 พันหมู่บ้านทั่วประเทศต้องมีน้ำสะอาดบริโภค
     โดยในส่วนของแผนการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคหรือน้ำประปานั้น ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะต้องทำให้เสร็จ ซึ่งกลยุทธ์ของแผนคือ จัดหาแหล่งน้ำผิวดินน้ำบาดาลและพัฒนาประปาชนบท 7,490 หมู่บ้านภายในปี 2560 เพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาชนบท 9,093 หมู่บ้าน ภายในปี 2564 การจัดหาน้ำดื่มให้โรงเรียนและชุมชน 6 พันกว่าแห่ง และการจัดหาน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน พัฒนาระบบประปาเมือง 688 แห่ง และพื้นที่เศรษฐกิจ 255 เมือง
      "ยุทธศาสตร์น้ำเพื่อการอุปโภคถือเป็นภารกิจหลักของรัฐบาล โดยในปี 2560 ประเทศไทยต้องมีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดให้ทุกหมู่บ้าน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อผู้บริโภคให้แก่ชุมชน หมู่บ้าน รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เริ่มจากพื้นที่วิกฤต เช่น ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำปิง ซึ่งมีการขยายชุมชนเมืองจำนวนมาก โดยจะจัดหาประปาเพื่อเติมให้ 9,535 หมู่บ้านทั่วประเทศไทย ภายในปี 2560 เนื่องจากขณะนี้ประมาณ 10% ของหมู่บ้านทั้งหมดในประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค" 

- เร่งหาแหล่งน้ำต้นทุนดูแลภาคเกษตร-อุตสาหกรรม
      การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต หรือความต้องการใช้น้ำทั้งด้านการเกษตร อุปโภค บริโภค และภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำในภาคการผลิตปริมาณมาก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งการเกษตรในระบบชลประทานมีสัดส่วนการใช้น้ำสูงถึง 65,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือคิดเป็น 43% ของปริมาณน้ำทั้งหมด ภาคการเกษตรใช้น้ำฝน หรือนอกเขตชลประทาน ปริมาณใช้น้ำ 48,960 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี คิดเป็น 32% แต่น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคมีการใช้น้ำเพียง 6,490 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี คิดเป็น 4% และน้ำเพื่อภาคการอุตสาหกรรม 4,210 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 3% 
       ดังนั้น กรมชลประทานต้องเร่งหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการบริโภค อุปโภค โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานปัจจุบัน 30.22 ล้านไร่ โดยจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการเดิม เช่น การเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ โดยคาดหวังว่าจะได้น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 250 ล้าน ลบ.ม. 2.การรณรงค์เพื่อการประหยัดน้ำให้มีการสูญเสียน้ำให้น้อยลง อีกทั้งการปรับพื้นที่การเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือการโซนนิ่ง 3.พัฒนาพื้นที่มีศักยภาพชลประทานเพิ่มเติม 18.8 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเปลี่ยนโฉมเกษตรน้ำฝนเป็นเกษตรชลประทานให้ได้ ซึ่งต้องมีการผันน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน โดยมีแผนจะเพิ่มน้ำเข้ามาในภาคนี้ถึง 40,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ อาทิ โครงการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล

- ทำแผนป้องกันน้ำท่วมอย่างรอบคอบ
      จัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยเบื้องต้นจะเน้นการปรับปรุงลำน้ำสายหลัก ที่ตื้นเขินและทำให้เกิดน้ำไหลอย่างรุนแรง ระยะทาง กว่า 1,000 กิโลเมตร เช่น ที่ลุ่มน้ำยมและมูล การเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ผันน้ำ พื้นที่รับน้ำนอง ในลุ่มน้ำวิกฤต ซึ่งจะมีการศึกษาในพื้นที่และกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินลุ่มน้ำในจังหวัด จัดทำผังเมือง โดยเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ใน จ.นครสวรรค์ การจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม 185 แห่ง 
      "ส่วนโครงการใหญ่ๆ เช่น ฟลัดเวย์ จะแตกต่างจากแผนบริหารจัดการน้ำจากรัฐบาลที่แล้ว คือ จะต้องศึกษาเส้นทางระบายน้ำให้รอบคอบ ต้องสอบถามภาคประชาชน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำแผนให้สมบูรณ์และมีความพร้อม โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ"

- จัดการน้ำเสียอย่างมีระบบ
      การจัดการคุณภาพน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปแหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพในระดับพอใช้ขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ยังต้องควบคุมความเค็มปากแม่น้ำ ณ จุดควบคุม ไม่ให้เกินมาตรฐานของการเกษตรหรือการประปา โดยพื้นที่วิกฤตที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ท่าจีน เจ้าพระยา ป่าสัก มูล ชี ที่อาจจะเสี่ยงต่อน้ำเสีย และแม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยา บางปะกง ปราจีนบุรี แม่กลอง ที่เสี่ยงต่อน้ำเค็ม โดยใช้กลยุทธ์คือ ในส่วนน้ำเสียจากชุมชน จะต้องมีการส่งเสริมและปรับปรุงระบบให้นำน้ำที่บำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ส่วนน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมและบำบัดน้ำเสียให้เกิดประสิทธิผล และน้ำเสียที่เกิดจากเกษตรกรรม จะต้องสนับสนุนหรือจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อให้มีจัดการน้ำเสียจากการส่งเสริมการใช้ประโยชน์น้ำเสีย และลดการใช้สารเคมีปุ๋ยเคมีในการเกษตร จะต้องใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็มมากขึ้นในช่วงฤดูแล้งและก่อสร้างอาคารป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม รวมทั้งต้องกำจัดวัชพืชและขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำ

- ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
      ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ จำนวน 4.7 ล้านไร่ เพื่อลดความเร็วน้ำหลากในพื้นที่ต้นน้ำ และฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันการสูญเสียหน้าดิน 9 กว่าล้านไร่ เพื่อลดการกัดเซาะในพื้นที่ต้นน้ำ
      แม้จะไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาแบบปัจจุบันทันด่วน หรืออัดงบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างหรือขุดบ่อน้ำบาดาลในระยะสั้น แต่ก็ถือเป็นแผนระยะยาวของประเทศ ในการพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างความมั่นคงทางน้ำ นับเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ หลังจากที่ไทยประสบวิกฤตอุทกภัยและภัยแล้งภายใต้รัฐบาล คสช.ที่ต้องการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่
      จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าแผนดังกล่าวจะทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางน้ำมากน้อยเพียงใด!!

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!