- Details
- Category: บันเทิง
- Published: Thursday, 21 December 2023 14:17
- Hits: 3573
สุดเลอค่า จูน นาตาชา ถ่ายปกปฏิทินปี 2567 ในชุดมโนราห์ ที่ได้ขึ้นทะเบียน UNESCO
ส่งท้ายปลายปีแบบปังๆ สำหรับ สาวจูน - นาตาชา มณีสุวรรณ์ นางเอกภาพยนตร์จากเรื่อง “ปิดป่าหลอน” และเจ้าของเพลง Boys Don’t Cry ที่ไม่ว่าจะจับคว้าอะไรก็เป็นกระแสให้ได้พูดถึงตลอดทั้งปี ล่าสุดสาวจูนสั่งตรงชุดโนราจากต้นตำหรับทางภาคใต้ ถ่ายรูปขึ้นปกปฏิทิน Online ปีใหม่ 2567 อวดโฉมงาม ดูสง่าอย่างมีคุณค่า ร่วมอนุรักษ์ความเป็นไทยพื้นบ้าน “มโนราห์” ที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียน ‘โนรา’ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ส่งปฏิทินมอบความสุขให้แฟนคลับและประชาชนทั่วไป ร่วมผลักดันชุดโนราให้เป็น Soft Power ไทยด้านศิลปวัฒนธรรม อวดสายตาสู่สากลโลก
จูน นาตาชา กล่าวว่า “จูน ในฐานะประธานผู้ก่อตั้งโครงการ World Trend Soft Power to the international relations and economy มีธงเป้าหมายหลักเพื่อต้องการสืบสานและเชิดชูศักยภาพด้านวัฒนธรรมโนราแบบดั้งเดิมของไทยที่ทรงคุณค่าให้ทวีคูณยิ่งขึ้นสู่สายตาชาวต่างชาติและทั่วโลกค่ะ หลังจากที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียน ‘โนรา’ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไปเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา รวมถึงยูเนสโกได้ใช้รูปโนราไทย เผยแพร่บนเฟซบุ๊กทางการ ทำให้สร้างการรับรู้ไปทั่วโลก สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยและชาวภาคใต้เป็นอย่างมากจริงๆ ค่ะ รวมถึงตัวของจูนด้วยค่ะ จึงเป็นที่มาในการเป็นตัวแทนสืบสานวัฒนธรรมโนราไทยแท้แบบดั้งเดิมของเราให้คงอยู่สืบไปในยุคอนาคต เพื่อจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของเรา ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ชมในยุคต่อๆ ไปค่ะ เพราะสิ่งที่เราทำวันนี้ ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปในที่สุดตามกาลเวลาค่ะ และเนื่องด้วยสมัยของคุณตาคุณยายของจูน ท่านก็เป็นคนจังหวัดสงขลาด้วยค่ะ เราก็ถือเป็นลูกหลานชาวใต้เหมือนกันค่ะ
โดยขออ้างอิงข้อมูลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เล่าขานตำนานโนราปักษ์ใต้ ว่าโนรา หรือ มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้มาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกคู่ เล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง โดยผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ การแสดงโนราเป็นที่นิยมและถือปฏิบัติแพร่หลายในชุมชนรอบๆ ทะเลสาบสงขลา และยังได้รับความนิยมไปตลอดสองฟากฝั่งของคาบสมุทรอินโดจีน ทางตอนเหนือมีคณะโนราแสดงขึ้นไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนทางตอนใต้มีคณะโนราสองภาษา ที่ยังคงแสดงอยู่ในเขตสามจังหวัดภาคใต้และมีการแสดงของชุมชนไทย ในรัฐตอนเหนือของสหพันธรัฐมาเลเซีย ได้แก่ กลันตัน เกดาห์ ปะลิส และปีนัง จากที่จูนได้สัมผัสมาแล้ว จึงมีทัศนะว่า โนรานั้นไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะรำกันได้ง่ายๆ ต้องมีครู มีใจรัก อดทนและศรัทธากับโนรามากจริงๆ บางคนเป็นลูกหลานโนราที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเลย เพราะจากที่จูนได้สัมผัสการแต่งกายและท่วงท่าการรำ บอกเลยว่าไม่ง่ายเลยค่ะ ต้องใช้ความอดทนสูงมากๆ ถึงจะออกมาสง่างดงาม จึงเป็นที่มาของการขึ้นทะเบียนโนราเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกค่ะ
จูนสั่งชุดมโนราห์มาจากภาคใต้แท้ๆ เลยค่ะ และระบุว่าต้องเป็นชุดโนราแบบดั้งเดิมเท่านั้น และไม่เสริมเติมแต่งอะไรเด็ดขาด เพราะจูนต้องการวัฒนธรรมโนราแบบโบราณจริงๆ แบบที่ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนไป เพื่อสร้างภาพจำที่ถูกต้องให้แก่คนรุ่นหลังว่า นี่แหละคือแบบที่ถูกต้องไม่มีปรุงแต่งใดๆ และหลังจากที่จูนได้มีโอกาสพิเศษได้ใส่ชุดโนรา และใส่ของสูงอย่างเทริด และได้ทำท่าร่ายรำโนรา อยากจะบอกว่าไม่ง่ายเลยค่ะ ในส่วนของชุดไม่ได้ใส่ง่ายๆ มีความซับซ้อนมากทุกท่วงท่าใช้กล้ามเนื้อเยอะมาก ต้องใช้ความชำนาญ ความนิ่งและสมาธิสูงมาก ท่ารำถึงจะออกมาดูสง่างดงามแบบที่เราเห็นๆ กัน จูน มองว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมารำกันเล่นๆ ค่ะ ต้องมีครูและศรัทธาจริงๆ อยากบอกว่าตอนถ่ายรูปท่ารำในสตูดิโอครั้งแรกจูนก็มีร้องโอดโอยไปหลายท่าเลยค่ะ แต่ก็อดทนได้ เพราะแรงศรัทธามีมากกว่า แต่ถ่ายเสร็จก็เข้าร้านนวดแผนไทยเลยค่ะ (หัวเราะ) และรู้สึกภูมิใจมากค่ะ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต จูนได้เป็นตัวแทนเผยแพร่วัฒนธรรมโนรา ใส่ชุดและรำโนราแบบของแท้โบราณดั้งเดิม ที่ได้ขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก เก็บไว้เป็นความทรงจำไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานดูค่ะ
จูนมองว่าบริบทด้านวัฒนธรรม ประเพณี หรือเทศกาลของทุกภาคในประเทศไทย มีจารีตประเพณีอันทรงคุณค่าที่สืบทอดกันมาอย่างช้านานอยู่แล้ว เพียงแตกต่างกันไปตามอิริยาบถของแต่ละภาคเท่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ที่เด่นชัดเหมือนกันทั้งสิ้น วัฒนธรรมแบบท้องถิ่นของแต่ละภาคนี่แหละค่ะ ที่จูนอยากให้ชาวต่างชาติได้มาลองสัมผัสเสน่ห์ใหม่ๆ เหล่านี้ การสื่อสารและการโปรโมทจึงเป็นสิ่งเชื่อมต่อที่สำคัญให้เขามาหาเรา และเราไปหาเขา เพราะหากต่างชาติได้มาเที่ยวเมืองไทยแล้ว เขาไม่เพียงแค่ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่เท่านั้น แต่จะเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองไทยเราให้เม็ดเงินสะพัด ค่า GDP มวลรวมของประเทศเราจะได้เพิ่มขึ้นในลำดับที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของประเทศ จนทำให้ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในลำดับต่อไปค่ะ จูนมองว่านี่คือทิศทางของผลพวงที่จะได้รับค่ะ และจูนก็เล็งเห็นว่า ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและโปรโมทความเป็นไทยกว้างขึ้นและมากขึ้น ต่อคนไทยเองและชาวต่างชาติทั่วโลก ที่ให้เห็นถึงความงดงามตระการตาด้านวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ การท่องเที่ยวในภาคต่างๆ ทั่วไทย และวัฒนธรรมด้านอื่นๆ มากขึ้น และถึงแม้เราที่เป็นคนไทยเอง ก็ยังไม่ได้ไปซึมซับและสัมผัสวัฒนธรรมของแต่ละภาคอย่างทั่วถึงเลยเช่นกัน เรียกได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ท่องโลกกว้างโดยแท้จริงทั้งคนไทยเองและชาวต่างชาติ สุดท้ายจูนขออวยพรให้ปี พ.ศ. 2567 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่อย่างมั่นคง ของคนไทยและของประเทศไทยค่ะ”
12671