WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Piggy Bike

Ride Your Way ปั่น ปั่น ไป ให้หัวใจนำทาง

    หลายคนเคยคิดที่อยากออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยการ 'ปั่นจักรยาน' แต่ยังไม่กล้า  นึกไม่ออก บอกไม่ถูกว่าจะไปปั่นแถวไหน ไปกับกลุ่มใคร แล้วความรู้สึกอิสระยามเมื่ออยู่บนหลังอาน เคลื่อนไหวไปตามหัวใจและสองแรงขา แบบที่นักปั่นหลายคนเขาว่ากันนั้นเป็นอย่างไร

วันนี้เรามีเรื่องราวหลากหลาย ของเหล่านักปั่นชาวไทย และต่างชาติ ที่ออกท่องไปตามเสียงเรียกร้องของหัวใจและสองแรงขา อย่าง พี่ชาติ ภิรมย์กุล นักเขียนอารมณ์ดี เจ้าของผลงานมากมาย , คุณขวัญแก้ว อรอุษา เลิศสุวรรณไพศาล สาวนักปั่นคนดังในโลกออนไลน์ที่'โรค พลิก โลก'ของเธอ, คุณบาส แมนเดอร์ หนุ่มเนเธอร์แลนด์ กับมุมมองการใช้จักรยานในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร, คุณแอนนี่ มินิสคูลซ์  สาวต่างชาติ ที่ใช้วันว่างออกปั่นจักรยานสำรวจเส้นทางทั่วไทยกับสามี, คุณสตีฟ ชวาทส์ ที่ค้นพบ The Real Thailand จากการปั่นจักรยาน และหนุ่มออตโต้ บัญยง พูลทรัพย์ นักแสดงอิสระ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Thailand Piggy Bike เพื่อนักปั่นร่างอวบ ถ้าพร้อมแล้ว ไปเกาะติดเส้นทางการปั่นของพวกเขากันเลย

จักรยานพาไปใจบอกทาง

ความสุขบนหลังอาน ของนักเขียนอารมณ์ดี๊...ดี

                ชาติ ภิรมย์กุล นักเขียนอารมณ์ดี เจ้าของผลงานหนังสืออ่านสนุกเปื้อนรอยยิ้มผู้ยึดมั่นกับการเป็นนักปั่น สายกินจนมีผลงานปั่น กิน เที่ยว สนุกๆ มาให้ติดตามแล้วหลายเล่ม โดยเฉพาะจักรยานพาไปใจบอกทาง

                พี่ชาติ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการขี่จักรยานว่า ซื้อจักรยานเมื่อปลายปี 2556 เน้นความสบายใจเป็นหลัก ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่ระยะทางหรือความเร็วในการปั่น เจออะไรสวยๆ หรือน่าสนใจก็แวะถ่ายภาพบ้าง ไปช้าๆ เน้นชม และชิม โดยเริ่มต้นปั่นในเส้นไทรม้า นนทบุรี ซึ่งเป็นเส้นที่ไม่ไกลจากบ้าน

                หลังจากสัมผัสชีวิตบนหลังอานกับจักรยานเสือภูเขาคันโปรดไม่นาน พี่ชาติก็ค้นพบ เส้นทางสีเขียวที่ทำให้ทุกวันถูกเติมเต็มไปด้วยความสุข

                เส้นทางวัดโตนด วัดบางระโหง วัดขวัญเมือง เป็นถนนเส้นเล็กๆ เลียบเรื่อยไปตามธรรมชาติ และจุดชมวิวสองข้างทาง ทั้งนาข้าวสีเขียว สลับกับสวนเกษตรของชาวบ้านท้ายวัดโตนดเรียงรายขนานไปกับคลองอ้อม ซึ่งฝั่งตรงข้ามมีบ้านไม้ริมคลอง เหมือนฉากในหนังไทยโบราณ ความแตกต่างของบรรยากาศท้ายวัดโตนดกับหอนาฬิกาฝั่งนนทบุรี ทำให้พี่ชาติรู้สึกเหมือนอยู่คนละยุคสมัย ทั้งที่ใช้เวลาปั่นจักรยานไม่เกิน 20 นาที

                รายละเอียดของสองข้างทาง ทำให้ใจเราสงบ ได้อยู่กับตัวเอง ออกจากสังคมออนไลน์ เพราะทุกวันนี้เราอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอโทรศัพท์กันมาก พอมาปั่นจักรยาน ทำให้เรากลับมาอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต อยู่กับตัวเอง เกิดสมาธิ รวมทั้งมีเรื่องราวสนุกๆ ระหว่างทางให้เก็บเกี่ยวมาเขียนหนังสืออีกด้วย

                สำหรับ นักเขียน นักปั่นอารมณ์ดีท่านนี้  ถ้าพูดถึงความสำคัญของจักรยาน เขาบอกว่า ตอนนี้จักรยานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน กลายเป็นปัจจัยที่ 5 รองจากโทรศัพท์มือถือไปแล้ว

                พี่ชาติ ฝากทิ้งท้ายไว้สั้นๆ สำหรับผู้ที่ยังลังเลใจในการเริ่มต้นออกปั่นจักรยานว่า เมื่อมีจักรยานแล้วเส้นทางจะมาเอง อยากไปไหนจักรยานจะพาไปโดยมีใจเราเป็นตัวบอกทางเร็วๆ นี้ พี่ชาติจะมีผลงานเล่มใหม่ จักรยานพาไป ใจเป็นสุขให้แฟนๆ ได้ติดตามกันอีกด้วย

โรค พลิก โลก

กับคุณขวัญแก้วชวนปั่น

                วันหนึ่งเมื่อพบว่า ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้าย เธอเลือกหันมาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ใช้ จักรยานและการถ่ายภาพเป็นยาวิเศษเยียวยาตนเอง คุณขวัญแก้ว อรอุษา เลิศสุวรรณไพศาล สาวนักปั่นคนดังแห่งโลกออนไลน์ ที่วันนี้ โรคร้าย ได้พลิกชีวิต พลิกมุมมองของเธอให้เปลี่ยนไป และมีความสุขมากมายกับการปั่นจักรยานสายทัวร์ริ่ง ในแบบ ปั่นไป ถ่ายรูปไปของเธอ รวมถึงฉายา ป้าสอง จากแก๊งส์ 3 ป้าที่เพื่อนๆ ใน Thaimtb.com ตั้งให้  ซึ่งมีตัวเธอ ป้าอ้อย อุษณีย์ จ.อุดรธานี และป้าเหมียว เสือรุ่งริ่ง จ.เชียงใหม่ ที่สุดแสนจะโด่งดัง มีผู้ติดตามมากมายในโลกออนไลน์ขณะนี้

                หลายปีก่อน คุณขวัญแก้วเริ่มมีปัญหาสุขภาพ เมื่อการตรวจร่างกายประจำปี ทำให้เธอทราบว่า เธอมีมะเร็งร้ายใช้ชีวิตร่วมกับเธออยู่ โดยคุณหมอย้ำว่า เธอต้องเริ่มออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และการปั่นจักรยาน คือตัวเลือกแรกที่ดีที่สุดสำหรับเธอ

                เธอเริ่มต้นกับการปั่นจักรยานเสือภูเขา โดยรวมกลุ่มกับพี่ๆ เพื่อนๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ระหว่างการติดตามสามีไปไซด์งาน และทำให้เธอรู้ว่า การปั่นจักรยานแนวทัวร์ริ่ง ซึ่งไม่เน้นความเร็ว สามารถปั่นไป ถ่ายรูปไปได้ เป็นแนวทางที่เธอชอบที่สุด เพราะการถ่ายภาพสองข้างทาง ไม่ใช่เพียงแค่การบันทึกเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ ความละเมียดละไมของความรู้สึกที่ได้พบเจอได้อีกด้วย การถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการได้ปั่นจักรยาน

                ภาพถ่าย และเรื่องราวของขวัญแก้ว ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆ คน ให้หันมาสนใจในการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น มีโอกาสได้เก็บภาพสวยๆ มาอวดกัน คุณขวัญแก้วมักเลือกปั่นจักรยานทัวร์ริ่งคู่ใจไปในเส้นทางสายเล็กๆ เพราะทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตชุมชน ได้พบเห็นมิตรภาพดีๆ ระหว่างการเดินทาง ได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ตลอดเวลา     

                ประสบการณ์ครั้งสำคัญ ที่ทำให้วิธีคิดของเธอเปลี่ยนไป เกิดขึ้นขณะเธอปั่นจักรยานอยู่ในเส้นทางรอยต่อระหว่าง จ.มุกดาหาร และ จ.กาฬสินธุ์ เป็นทางเนินยาวในป่าสุดสายตา เพราะความเหนื่อยบวกกับความหิวและอ่อนล้า เธอจึงตะโกนร้องออกไปสุดเสียงว่า หิวข้าวสักพักได้ยินเสียงปริศนาตอบกลับมาว่า มาเด้อ มากินข้าวเท่านั้นแหละ ทุกคนในกลุ่มหยุดปั่น แล้วหันมาออกตามหาต้นตอของเสียง จนไปเจอซุ้มต้นไม้ที่ชาวบ้านสร้างไว้ใช้พักผ่อน ภายหลังจากความเหน็ดเหนื่อยในการทำไร่มันสำปะหลัง กับข้าวกับปลาพื้นบ้านที่ตกสู่ท้องในมื้อนั้นอาจดูธรรมดาในสายตาคนอื่น แต่สำหรับเธอ มิตรไมตรีจากคนแปลกหน้าที่หยิบยื่นให้เธอ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกัน ยังคงประทับใจเธอไม่รู้ลืมหลายครั้งที่การปั่นจักรยานของเธอและเพื่อนๆ มักได้รับน้ำดื่มจากผู้ใช้ทางที่ขับรถยนต์ท่องเที่ยวและสัญจรไป-มาในเส้นทางเดียวกัน  ได้ที่พักริมทางจากชาวบ้านเพื่อเอนหลังยามอ่อนล้าจากการปั่น มิตรภาพระหว่างทางจากคนแปลกหน้า กลับกลายเป็นจุดเชื่อมต่อให้เธอเห็นธรรมะอันเรียบง่ายของชีวิตว่า ชีวิตของคนเราก็เท่านี้ จะดิ้นรนไปเพื่ออะไร เมื่อหิวก็ต้องการแค่อาหารให้อิ่มท้อง กระหายก็แค่ดื่มน้ำ การมีสุขภาพที่แข็งแรง เพียงเท่านี้ก็เป็นกำไรชีวิตแล้ว

                ขณะนี้ คุณขวัญแก้ว ย้ายตามสามีไป จ.เชียงใหม่ แต่เธอยังไม่หยุดปั่นจักรยานและภาพถ่ายเพื่อเติมเต็มความฝันของเธอ เธอฝากทิ้งท้ายว่า หากใครปั่นจักรยานอยู่แถวเชียงใหม่ และมีโอกาสได้เจอกับเธอ อย่าลืมส่งยิ้ม และทักทายเธอด้วยนะคะ

  

ความผูกพันกับพาหนะสองล้อ

จากหนุ่มเนเธอร์แลนด์ เมืองแห่งจักรยานของโลก

                บาส แมนเดอร์ (Bas Mander) หนุ่มต่างชาติที่ทำงานด้านการเงินในเมืองไทยมากว่า 5 ปี เกิดและเติบโตที่เนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ถือได้ว่าเป็นมิตรกับจักรยานมากที่สุดในโลก โดยจักรยานถือเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวเนเธอร์แลนด์ และชาวเนเธอร์แลนด์ทุกคนจะต้องมีจักรยานเป็นพาหนะคู่ใจอย่างน้อย 12 คัน

                บาส เล่าว่า เริ่มปั่นจักรยานตั้งอายุ 3 ขวบ ในสมัยเรียนอนุบาล และปั่นมาตลอดจนถึงมัธยม การขี่จักรยานจึงกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวเขามาตลอด ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ไม่เว้นแม้แต่การเดินทางมาทำงานที่เมืองไทย บาสก็ยังนำเสือภูเขาคันโปรดติดตัวมาจากบ้านเกิดด้วย ปัจจุบัน บาสใช้จักรยานที่เค้านำมาด้วยนี้ปั่นไปทำงาน และยังลงทุนซื้อจักรยานเสือหมอบคันใหม่ เพื่อใช้ใช้ในการออกกำลังกายยามว่างอีกด้วย สำหรับมุมมองในการใช้จักรยานของสังคมไทยในปัจจุบัน เค้ามองว่า ขณะนี้ สังคมไทยเริ่มตื่นตัว และหันมาใส่ใจในการปั่นจักรยานมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี ส่งผลให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ใช้จักรยานในประเทศไทยมากขึ้น

                บาสทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอแนะที่ว่า อยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้จักรยานบนท้องถนนเหมือนประเทศอื่นๆ แต่สิ่งที่เป็นเรื่องยากในมุมมองของบาส คือ เมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมและความรู้สึกที่ผูกพันกับการใช้จักรยานบนท้องถนนเหมือนประเทศอื่นๆ มาก่อน จึงถือเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทยในการยอมรับให้มีการใช้จักรยานร่วมกันกับรถยนต์บนท้องถนนได้

ปั่น ... สำรวจประเทศไทย ไปกับสาวต่างชาติ

                แอนนี่ มินิสคูลซ์ (Annie Miniscloux) กราฟฟิกดีไซเนอร์สาว ที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยพร้อมกับสามี และเลือกการปั่นจักรยานท่องเที่ยวไปตามชานเมืองหรือชนบทต่างๆ ของเมืองไทยเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ และพบว่าการปั่นจักรยานท่องเที่ยว เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสำรวจประเทศไทย โดยมีน้ำตกไทรโยค และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นสถานที่โปรดปรานในการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในวันหยุดของเธอ

            เธอและสามีมีจักรยานทั้งหมด 5 ประเภท ซึ่งในแต่ละประเภทมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน เธอใช้จักรยานเสือภูเขาเพื่อการปั่นขึ้นเขา เสือหมอบไว้ปั่นทางเรียบ จักรยานทัวร์ริ่งสำหรับทริปท่องเที่ยวหลายๆ วัน ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ เธอยังมีจักรยาน City Bike สำหรับปั่นไปทำงาน หรือจ่ายตลาดในละแวกใกล้บ้าน โดยมอบมอบหน้าที่การดูแลรักษาจักรยานที่เธอรักให้กับสามีของเธอ

แอนนี่ เล่าถึงความประทับใจในการปั่นจักรยานในไทยว่า สามารถใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง ขับรถออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุด ก็เอาจักรยานคันโปรดไปปั่นตามสถานที่ต่างๆ ได้ หรือแม้แต่การขนจักรยานขึ้นเครื่องบินหรือรถไฟ ไปตามสถานที่ต่างๆ ก็มีความสะดวกสบายมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เธอมักจะเลือกปั่นไปตามถนนสายเล็กๆ และไม่ใช้ความเร็วมากนัก เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทย เพราะเธอประทับใจในความเป็นมิตรของคนไทย ที่ให้การต้อนรับเธอและสามีเป็นอย่างดีตลอดสองข้างทางที่เธอปั่นผ่าน

            นอกจากนี้ แอนนี่ ยังแอบมีความหวังเล็กๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางจักรยานในประเทศไทยว่า สักวัน... ประเทศไทยจะมีเลนจักรยานทั้งเส้นทางหลัก และเส้นทางรอบเมืองในชนบท มีจุดจอดจักรยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับคนใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้น

จักรยาน กับการเรียนรู้ The Real Thailand “บ้านหลังที่สองของชาวต่างชาติทุกๆ คน

                สตีฟ ชวาทส์ (Steve Schwartz) ชาวต่างชาติอีกหนึ่งคน ที่เลือกเมืองไทยในการใช้ชีวิต เสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของเขาเอง ผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามา หลายคนที่เขารู้จักกลายมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในชีวิต ซึ่งนั่นรวมถึงภรรยาของเขา ที่เป็นคนไทยด้วยเช่นกัน

                ปกติ สติฟจะปั่นจักรยานเป็นประจำทุกวัน และนอกจากการปั่นจักรยาน สติฟยังเป็นนักวิ่งตัวยง ซึ่งขณะนี้เขากำลังฟิตซ้อมร่างกาย เพื่อลงแข่ง Ride Across America เพื่อเซอร์ไพรส์ลูกชายที่จะกลับมาเยี่ยมเขาในเร็วๆ นี้

                สตีฟ เล่าว่า เขาโปรดปรานจักรยานทัวร์ริ่งมาก ไม่ว่าจะไปเที่ยว ขึ้นเหนือหรือลงใต้ ก็จะใช้จักรยานทัวร์ริ่งที่เป็นของคนไทย ปั่นไปตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งตอนนี้ถือเป็นบ้านหลังที่สองของเขา

                สตีฟ บอกถึงความรู้สึกที่มีต่อการปั่นจักรยานในเมืองไทยว่า ไม่ใช่แค่การได้เห็นถึงวิวทิวทัศน์ความสวยงามของชนบท หรือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองไทย แต่เขายังได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เป็น The Real Thailand จากสิ่งที่ได้เจอ การปั่นผ่านทุ่งนาที่มีชาวนากำลังเกี่ยวข้าว มนต์เสน่ห์ของเพิงขายของเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ตามเส้นทางที่ปั่นผ่านมา วิถีชีวิตของผู้คนซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตของเขาในประเทศบ้านเกิด ที่มีแต่ความเร่งรีบ มีเงินทองมากมายแต่กลับไม่มีความสุข ชีวิตในเมืองไทยของเขา ถือเป็นชีวิตที่มีแต่ความสุข และไม่สามารถใช้เงินทองซื้อได้ ความเป็นมิตรของคนไทย ที่เค้ารู้สึกได้ว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหน คนไทยก็ยังยินดีที่จะให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาตอนนี้ จักรยาน จึงเป็นเสมือนเพื่อนร่วมเดินทางที่ไว้ใจได้ และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของ สตีฟ ไปแล้ว

 

Thailand Piggy Bike ...ถึงอ้วน ... ก็ปั่นได้

                Thailand Piggy Bike กลุ่มคนตัวกลมอารมณ์ดี ที่รวมตัวกันปั่นจักรยานโดยมีเป้าหมาย คือ ออกการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และส่งผ่านแรงบันดาลใจในการปั่นจักรยานให้กับคนอ้วนทุกคน

                ถึงอ้วน ก็ปั่นได้เป็นคำพูดจากปากของ ออตโต้  - บัญยง พูลทรัพย์  นักแสดงอิสระ หุ่นน่ารัก ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากภาพยนตร์ ตุ๊กแกรักแป้งมาก

                เราอยากให้คนอ้วนก้าวผ่านความกลัวและอุปสรรคของน้ำหนักตัว แล้วมาสนุกกับการปั่นจักรยานเพื่อทำกิจกรรมดีๆ ให้สังคมไทยไปด้วยกัน ช่วยกันเติมเต็มและส่งผ่านแรงบันดาลใจให้คนอ้วนคนต่อๆ ไป ซึ่งอ๊อตโต้คิดว่า หากมีใครสักคนลุกขึ้นมาเป็น Roll Model ให้กับเพื่อนๆ จะยิ่งทำให้คนอ้วนด้วยกัน เกิดความมั่นใจ และกล้าจะออกมาปั่นจักรยานไปกับเค้า

                ตอนนี้เพจ Thailand Piggy Bike ของเขาซึ่งเปิดมาได้ไม่นาน กลับมีเพื่อนสมาชิกไปแล้วกว่า 1,500 คน จากทุกภาคส่วน และถือเป็นศูนย์รวมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม เช่น การปั่นจักรยานในยามค่ำคืนเพื่อแจกไฟท้ายจักรยานให้กับรถเข็นขายของ รวมถึง คุณลุง คุณป้าที่ใช้จักรยานตามท้องถนนทั่วไป เพื่อลดอุบัติเหตุ และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการใช้จักรยานไปด้วยกัน

                ออตโต้ เล่าว่า เขาถูกปลูกฝั่งความคิดจากที่บ้านมาตลอดว่า การขี่จักรยานนั้นมีอันตราย ยิ่งสำหรับคนอ้วน จักรยานถือเป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้เขาปั่นจักรยานไม่เป็นมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อปลายปีแล้ว อ๊อตโต้ไปพบจักรยานพับฝุ่นจับ จำสภาพเดิมไม่ได้ ซึ่งตัวเขาเองตั้งใจจะเอาไปทิ้ง แต่ปรากฏว่ามันหนัก จึงเกิดเปลี่ยนใจ เอาจักรยานคันดังกล่าวไปสูบลมเพื่อลองหัดขี่  เขาใช้เวลากว่า 2 อาทิตย์ในการหัดทรงตัว และหลังจากนั้น ออตโต้ก็เริ่มสนุกกับการปั่นจักรยานไปกับกลุ่มเพื่อนหลากหลายที่เขารู้จัก

                ชีวิตการปั่นจักรยานของอ๊อตโต้เริ่มมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเขาได้ยินเสียงตะโกนทักจาก จุกมอเตอร์ไซค์รับจ้างข้างทางที่เขาปั่นจักรยานผ่าน มาได้ไง ขี่ได้ไงวะพี่ความคิดแวบแรกโผล่ขึ้นมาว่า ต้องมีเรื่องแน่ๆ แต่พอหันไปเจอ ผู้ชายวัยรุ่น รูปร่างอ้วนกว่าตัวเขา น้ำหนักกว่า 180 กิโลกรัม ซึ่งมีโรคประจำตัว คือ การหายใจไม่ออกและเป็นโรควูบง่าย ตะโกนทัก จุกมีความตั้งใจอยากขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกายมานานแล้ว แต่ยังไม่กล้า เพราะในอดีต จุกเคยปั่นจักรยานหัก 2 ท่อนมาแล้ว แถมการขี่จักรยานของจุก มักถูกล้อเลียนว่า ไอ้อ้วนยางแบน ซึ่งเป็นปัญหาแบบเดียวกันกับที่อ๊อตโต้เคยเจอ

                ผมชวนจุกขี่จักรยาน ให้เขาทดลองขี่จักรยานของตัวผมเอง เราเอาเสื้อผ้าปั่นจักรยานมาแชร์กันใส่ ขาดเหลืออะไรก็ช่วยเหลือกัน กลายเป็นมิตรภาพดีๆ ที่มีให้กันมาจนถึงทุกวันนี้

                ออตโต้ อยากบอกเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว และยังลังเลใจในการปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายว่า การขี่จักรยานสำหรับตัวเขา ทำให้ได้สุขภาพที่ดีขึ้น รูปร่างกระชับขึ้น และภูมิใจที่มีส่วนช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ สำหรับคนอ้วนที่กำลังจะเริ่มต้นปั่นจักรยาน อยากให้เริ่มจากสิ่งที่เรามี คือ มีจักรยานคันไหนก็ปั่นคันนั้น และให้ปั่นจักรยานตามความเร็วที่เหมาะสมกับตัวเอง เหนื่อยก็พัก

                นี่คือ สิ่งที่พวกเราเริ่มมองเห็นในสังคมไทย กับภาพนักปั่นจักรยานทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ เด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น ทุกเพศทุกวัย กำลังหันมาใส่ใจในการปั่นจักรยาน สะท้อนให้เห็นว่าการปั่นจักรยานนั้น ไม่ใช่แค่เทรนด์หรือกระแสที่เห่อกันเป็นพักๆ แบบที่หลายคนเข้าใจ แต่การปั่นจักรยาน เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ทุกคนในสังคมมีสุขภาพที่แข็งแรง โลกสดใส เหมือนเราได้ย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

                ปีนี้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ ผู้ริเริ่มการจัดงานบางกอกไบค์ จึงเอาใจนักปั่นด้วยการจัดงาน อินเตอร์เนชั่นแนลบางกอกไบค์ 2015หรือ มหกรรมจักรยานของผู้ที่มีใจรักการปั่น ครั้งที่ 5 ขึ้น ระหว่างวันที่ 30 เมษายน 3 พฤษภาคม 2558 ณ ฮอลล์ 34 อิมแพค เมืองทองธานี ภายในงานมีการรวบรวมสินค้าจักรยาน และบริการที่เกี่ยวข้องสำหรับนักปั่นไว้ให้เลือกชมเลือกช้อปอย่างจุใจ ถ้าอยากรู้ว่า การปั่นจักรยาน เป็นเรื่องของกระแส หรือแห่กันไปตามเทรนด์ ต้องลองไปพิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวของท่านเองในงาน

 **************************

สะท้อนความเห็นการทำเส้นทางจักรยาน

            ชาติ  ภิรมย์กุล  นักเขียนอารมณ์ดี ควรพัฒนาเส้นทางจักรยานในเส้นชานเมือง เส้นนอกเมือง เพราะการปั่นจักรยานในเส้นชานเมืองมีความปลอดภัยสูงกว่าการปั่นในเมือง รวมถึงต้องทำให้เส้นทางจักรยานนั้นสามารถใช้ได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงที่จอดรถเข็น รถมอเตอร์ไซค์ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

            ขวัญแก้ว อรอุษา เลิศสุวรรณไพศาล การทุ่มเทงบประมาณเพื่อสร้างเส้นทางจักรยานใหม่ๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไม่ดีนัก อาจต้องใช้งบประมาณสูง และยังไม่มีความจำเป็นในมุมมองของผู้บริหารประเทศ ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาดูแลเส้นทางจักรยานที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจังมากกว่า การปรับปรุงไหล่ทางที่ชำรุดเพื่อใช้ทดแทนเส้นทางจักรยาน การร่วมกันปลูกฝังให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีน้ำใจให้แก่กัน เท่านี้เมืองไทยก็น่าอยู่มากขึ้นแล้ว

                บาสแมนเดอร์ การมีเลนปั่นจักรยานเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงต่อมา คือ การดูแลรักษาเลนจักรยาน  รวมถึงการป้องกันไม่ให้คนที่ไม่ได้ปั่นจักรยานเข้าไปใช้ เพื่อให้เลนจักรยานเกิดประโยชน์สูงสุด และถูกต้องตามจุดประสงค์

                แอนนี่ เลนจักรยานเป็นความคิดที่ดีและเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรที่จะทำ แต่ควรแยกออกจากเลนของรถยนต์ และรถประจำทางอย่างชัดเจน ขอเสนอให้ทำเส้นทางปั่นจักรยานเลียบคลองหรือแม่น้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ

                สตีฟ การสร้างเลนปั่นจักรยานเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับนักปั่นจักรยานบนท้องถนนแล้ว ยังช่วยในเรื่องการลดมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำมันและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งหากมีการทำเลนจักรยานจริงก็จะช่วยในเรื่องของการลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักปั่น รวมทั้งควรปลูกฝังนิสัยแบ่งปันการใช้ถนนและความรู้ในเรื่องกฎจราจรให้ผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย

                ออตโต้- บัญยง พูลทรัพย์ เส้นทางจักรยานนั้น ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าคนบนท้องถนนมีน้ำใจให้แก่กัน เพราะปัจจุบันก็มีเลนจักรยาน แต่ก็ใช้ไม่ได้จริง สิ่งสำคัญที่ควรเร่งทำ คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคมไทย ให้มีน้ำใจให้แก่กันในการใช้รถใช้ถนนมากกว่า

------------------------------------------------

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท 19 มีเดีย จำกัด ยุพา สดแสงสุก 086 888 2323 , จิดาภา ประมวลทรัพย์ 081 817 7153

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!