- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Friday, 20 September 2024 23:11
- Hits: 7927
นับถอยหลังสู่ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต จากวิถีศรัทธาแห่งชุมชน สู่เทศกาลที่นักเดินทางทั่วโลกต้องมาสัมผัส
เตรียมตัวให้พร้อม! เพราะใกล้เข้ามาแล้วสำหรับงานไฮไลท์ประจำปีของเมืองภูเก็ต “ประเพณีถือศีลกินผัก” ที่ใหญ่ที่สุด ของประเทศ หนึ่งในประเพณีสำคัญที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น วัฒนธรรม วิถีชีวิตตอกย้ำภาพลักษณ์ ความเป็น เมืองเทศกาลของภูเก็ต ซึ่งมีวัฒนธรรมอันรุ่มรวย พร้อมด้วยระบบบริหารจัดการที่เพียบพร้อม เตรียมต่อยอดสู่การเป็น แลนด์มาร์คระดับโลก
จากเมืองเล็กๆ ที่หลอมรวมผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมประเพณีพร้อมด้วยมาตรฐานการส่งเสริมสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยแก่งานเทศกาล สู่การยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่น ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ต้องลองมาสัมผัสสักครั้ง เรียกว่าเป็นการขับเคลื่อนศักยภาพเมืองภูเก็ตในรูปแบบ more local, more global อย่างแท้จริง
ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่พัก โรงแรมรีสอร์ท โครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบคมนาคมซึ่งสามารถเชื่อมต่อ กับแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนต่างๆ พร้อมรองรับผู้เข้าร่วมงาน หรือนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลก
ทั้งนี้ “ประเพณีถือศีลกินผัก” ซึ่งได้รับประกาศจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขึ้นบัญชี “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ 2561 ด้านการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล” นับว่าสะท้อนเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจัยทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่ประกอบสร้างภาพจำเมืองภูเก็ต ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ และแสดงให้เห็นถึง วิถีชุมชนอันแตกต่าง หากแต่สอดประสานและอยู่รวมกันเป็นหนึ่ง กระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนภาพแห่งสังคม พหุวัฒนธรรมประจำเมืองภูเก็ต จนกล่าวได้ว่า “ภูเก็ตคือเมืองเทศกาลที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม”
Diversity of Phuket, Diversity of Thailand
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถือว่าเป็นหนึ่งในมนต์เสน่ห์แห่งภูเก็ต ซึ่งผสานความแตกต่างเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว และหากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เมืองภูเก็ตแห่งนี้ก็สะท้อนแก่นแท้ความเป็นไทยในภาพรวมได้อย่างลุ่มลึก เพราะคอนเซ็ปต์ ของความเป็นไทยคงมิใช่อะไรอื่น นอกเสียจากการหลอมรวมความแตกต่างหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมเข้าไว้ ด้วยกัน และเมืองภูเก็ตเองก็ผนวกความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นถิ่นและนำเสนอออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไทยแบบศาสนาพุทธ หรือวัฒนธรรมชาวมลายูแบบมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีบทบาทสำคัญ ในสังคม ทั้งวัฒนธรรม อาหาร วิถีชีวิตประจำวัน
อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปียน หนึ่งในเอกลักษณ์ของภูเก็ต ซึ่งผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีน มาเลเซีย และอิทธิพลทางยุโรปจากโปรตุเกส ดัตช์และอังกฤษ อันสามารถพบเห็นได้ตามย่านเมืองเก่า
โดยเฉพาะยิ่งวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตมากขึ้น ณ ช่วงที่ทางการส่งเสริมให้ทำเหมืองแร่ ดีบุกชาวจีนฮกเกี้ยนจึงถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ส่งผลให้สถานะทางเศรษฐกิจของเมืองภูเก็ตรุ่งเรืองขึ้นจนเป็น หัวเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในภูมิภาค และอิทธิพลดังกล่าวยังส่งผลต่อศิลปวัฒนธรรมเมืองภูเก็ตในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, สถาปัตยกรรม, ความเชื่อ, รวมถึงวัตรปฏิบัติต่างๆ
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ เมืองภูเก็ตจึงกลายเป็นเมืองเทศกาลระดับโลก ซึ่งโอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านการ จัดงาน ประเพณีต่างๆ ตลอดทั้งปี อาทิ ประเพณีลอยเรือ งานแข่งขันเรือใบ เทศกาลอาหารทะเล ลอยกระทง เทศกาลผ้อต่อ และไฮไลท์สำคัญของทุกปีที่หลายคนรอคอยนั้นก็คือ “ประเพณีถือศีลกินผัก”
ถือศีลกินผัก เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
“ประเพณีถือศีลกินผัก ช่วงแห่งการรักษากายใจให้บริสุทธิ์ ผ่านพิธีกรรมและความศรัทธา” เป็นประเพณีความเชื่อ ที่ถูกถ่ายทอดมาจากชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีการจัดขึ้นทุกปี โดยมีวิถีปฏิบัติทั่วไปคืองดเว้น การบริโภคเนื้อสัตว์ งดสิ่งอบายมุข และการถือศีลเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน
ในทางหลักการหลักๆ แล้ว ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ตนั้นมีความคล้ายคลึงกับกินเจของที่อื่นอยู่บ้าง แต่ทว่า “มีความแตกต่างกับที่อื่นอยู่มากเช่นกัน” นับตั้งแต่ประวัติที่มา ซึ่งนำเข้ามาจากคณะงิ้วเมืองจีน และต่อมาได้ผสมผสานกับ วัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้พิธีปฏิบัติต่างๆ นั้นมีเอกลักษณ์ของตนเองที่ไม่เหมือนใครในหลายด้าน อาทิเช่น
● การสักการะและขบวนแห่ : ผู้ศรัทธาจะเข้าร่วมขบวนแห่และสักการะเทพเจ้าที่ศาลเจ้าต่างๆ โดยมี “ม้าทรง” ซึ่งเชื่อว่าในขณะพิธีนั้นมีเทพเจ้าประทับร่างอยู่ โดยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการทรมานร่างกาย ด้วยการทิ่มแทง ของแหลมคมเข้าที่แก้มหรือส่วนอื่นๆ, การเดินบนถ่านไฟ, ไต่บันไดมีด ฯลฯ ทั้งหมดเป็นความเชื่อเกี่ยวกับ การปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่อาจส่งผลต่อผู้คนหรือชุมชน และเชื่อว่าผู้ที่ประกอบพิธีกรรมนี้ ได้รับเคราะห์ร้ายต่างๆ ไว้แทนคนทั้งเมืองแล้ว สิ่งนี้นับว่าเป็นจุดเด่นที่ไม่ค่อยพบเห็นได้จากที่อื่นของโลก
● ศาลเจ้าในท้องถิ่น: ศาลเจ้า หรือ อ๊าม ที่ภูเก็ตมีบทบาทสำคัญในการจัดงานเทศกาล โดยเฉพาะศาลเจ้าเก่าแก่ หลายแห่ง เช่น ศาลเจ้ากะทู้ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย และศาลเจ้าบางเหนียว และศาลเจ้าอื่นๆ โดยศาลเจ้าแต่ละแห่งนั้น มีประวัติศาสตร์และความสำคัญต่อชุมชนชาวจีนในภูเก็ตมายาวนาน และถึงแม้ใจความสำคัญ ของการประกอบ พิธีกรรมจะไปในทำนองเดียวกัน หากแต่รายละเอียดในประเพณี ของแต่ละศาลเจ้านั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งเป็นสีสันแห่งการประกอบพิธี และเป็นมนต์เสน่ห์ของเทศกาลถือศีลกินผักในภูเก็ต
● อาหารเจแบบภูเก็ต: นอกจากอาหารเจที่พบได้โดยทั่วไปแล้ว อาหารเจในภูเก็ตยังมีการผสมผสาน วัฒนธรรม การกินแบบจีนฮกเกี้ยน อาหารไทย และอาหารท้องถิ่นมลายู เช่น ห่อหมกเจ หลนเต้าเจี้ยวเจ โอวต้าวเจ หมี่หุ้นแกงปูเจ โลบะเจ แกงไตปลาเจ แกงเหลืองเจ ผัดสะตอเจ ยำส้มโอเจ ฯลฯ ทำให้ตลาดอาหารเจ ในภูเก็ตมีความหลากหลายกว่าที่อื่นๆ
เช่นนั้นแล้ว ประเพณีถือศีลกินผักของภูเก็ต จึงไม่ใช่แค่การยึดถือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามข้อห้ามในเทศกาลเจ หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันสะท้อนถึงรากฐานทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ของผู้คนและชุมชนต่างๆ ซึ่งผนวกอดีตที่ยาวนานกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ผ่านเทศกาลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก
ด้วยพลวัตทางความเชื่อที่ต่อยอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากลมหายใจหนึ่งสู่อีกลมหายใจหนึ่ง กระทั่งปัจจุบันที่การเข้ามา ของต่างชาติ ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมไม่มากก็น้อย แต่ประเพณีทั้งหมดที่ยังดำเนินอยู่ทุกปีเช่นนี้ คือลมหายใจเข้าออกผ่านชีพจรเดียวกันของชาวภูเก็ต
ทั้งความเชื่อ พิธีกรรม วัตรปฏิบัติ เหล่านี้คงไม่มีความสำคัญหากปราศจากผู้คนที่ยังยึดถือและเคารพต่อแรงศรัทธา ทำให้กิจกรรมต่างๆ ยังคงจัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยมีชาวภูเก็ตทุกภาคส่วนผนึกกำลัง ร่วมใจกันเนรมิตความสอดประสาน กันทางวัฒนธรรม ผ่านเทศกาลถือศีลกินผักในทุกวันนี้
เมืองเทศกาลระดับโลก
นอกเหนือจากความโดดเด่นทางวัฒนธรรมแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้ภูเก็ตเลื่องชื่อในฐานะเมืองเทศกาล คือระบบการ บริหารจัดการที่สมบูรณ์พร้อม ทั้งผู้คนและทรัพยากรด้านต่างๆ
ทั้งการจัดการความปลอดภัย การประสานงานภาคส่วนต่างๆ เพื่อดูแลพื้นที่จัดงานและป้องกันอุบัติเหตุ การจัดการพื้นที่ จัดการขยะ และทรัพยากรต่างๆ
การประสานงานกับหน่วยงานรัฐและชุมชน เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ด้วยการจัดกิจกรรมพิเศษที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม การออกร้านอาหารเจ และการจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประเพณีของภูเก็ต เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงนโยบายสาธารณะด้านอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริม เชิดชู บูรณาการอัตลักษณ์ท้องถิ่น และขับเคลื่อนสู่ความเป็นสากล อย่างเต็มภาคภูมิ
ขอเชิญชวนร่วมสัมผัสและเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2567 เพื่อซึมซาบในพลวัตทางวัฒนธรรม สัมผัสถึงประวัติศาสตร์แห่งอัตลักษณ์และวิถีชีวิตอันหลากหลายของชาวภูเก็ตที่ผสานรวมเป็นหนึ่งผ่าน “ประเพณีถือศีลกินผัก” ได้ระหว่างวันที่ 3 - 11 ตุลาคม 2567
9555