WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ทีเส็บ ระดมความเห็น 20 เอกชน เสนอแผนเร่งด่วนกระตุ้นไมซ์ไทย

    สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เร่งเครื่องระดมความคิดเห็นภาคเอกชน ร่วมผลักดันแผนกระตุ้นตลาดไมซ์ จัดงานระดับโลก ประชาสัมพันธ์เชิงรุก กระตุ้นไมซ์ในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ พร้อมเร่งรักษาตลาดหลัก เพิ่มตลาดใหม่ เสนอพลิกวิกฤตเป็นโอกาสคุมเข้มจัดระเบียบใหม่ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ และการท่องเที่ยวทั้งระบบ

    นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บดำเนินการจัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนอุตสาหกรรมไมซ์จาก 20 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย สมาคม ผู้จัดงาน สถานที่จัดงาน และผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ  สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมโรงแรมไทย และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นต่อนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ โดยผลที่ได้จะนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

   ในการประชุมครั้งนี้ ทีเส็บได้นำเสนอโร้ดแมพเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะตามแนวทางคสช. ระยะแรก (กรกฏาคม-กันยายน พ.ศ. 2557) เสนอมาตรการกระตุ้นตลาดในระยะสั้น ผลักดันมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และทบทวนแผนดำเนินงานปี 2558 ระยะที่สอง (ตุลาคม พ.ศ. 2557-กันยายน พ.ศ. 2558)

   ตั้งคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมไมซ์ และจัดทำแผนแม่บทใหม่ขององค์กร (พ.ศ. 2560-2564) และระยะที่ 3 (ตุลาคม พ.ศ. 2558-กันยายน พ.ศ. 2559) ผลักดันแผนแม่บทของทีเส็บเข้าสู่นโยบายรัฐบาลและแผนบริหารราชการแผ่นดิน

    สำหรับมาตรการระยะสั้น (กรกฎาคม-กันยายน 2557) ทีเส็บจะมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่น การกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ และการปรับแผนงานส่งเสริมตลาดต่างประเทศ สำหรับมาตรการระยะยาว (ตุลาคม 2557-กันยายน 2558) จะขยายกรอบการทำงานเพิ่มอีก 2 ด้าน คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และผลักดันมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

    “เราได้ระดมความคิดเห็นกับผู้ประกอบการตามกรอบมาตรการใน 5 ด้าน โดย 1. มาตรการด้านการสร้างความเชื่อมั่น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ต้องดำเนินการในขณะนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรจะต้องเร่งทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อแสดงความพร้อมของประเทศไทย และตอกย้ำความสำเร็จของการจัดงานไมซ์ในประเทศไทย พร้อมกับให้ข้อมูลเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในระดับสากล รวมถึงการเดินหน้าจัดงานระดับโลก เพื่อสร้างความมั่นใจถึงศักยภาพและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยที่สามารถรองรับการจัดงานไมซ์ได้ตามที่กำหนดไว้

   ในส่วนของมาตรการที่ 2. การส่งเสริมตลาดในประเทศ ทีเส็บจะสร้างเวทีส่งเสริมการตลาดร่วมกับหน่วยงานภาคี เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม หอการค้าไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การกระตุ้นตลาด Expat ผ่านหอการค้าต่างประเทศ และส่งเสริมการจัดประชุมตามโครงการลัดฟ้าประชุมเมืองไทย อิ่มใจ ตามรอยพระราชดำริ ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและงานแสดงสินค้า เช่น งานไมซ์มาร์ท ในเมืองไมซ์ซิตี้และจะขยายไปยังเมืองที่มีศักยภาพตามแนวชายแดนประเทศ อาทิ เชียงราย หนองคาย และสระแก้ว พร้อมกันนี้ในที่ประชุมได้สนับสนุนมาตรการผลักดันการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลของกลุ่มข้าราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมกระจายงานและสร้างงานขนาดใหญ่ไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมทั้งผลักดันมาตรการทางด้านภาษี อาทิ การยกเว้นภาษี 200% ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

   สำหรับ มาตรการที่ 3. การตลาดในต่างประเทศ ทีเส็บ พร้อมปรับแผนส่งเสริมตลาดผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับไทยทีมและภาคเอกชน มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการขายในตลาดหลักระยะใกล้ ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย รวมถึงเจาะกลุ่มตลาดคุณภาพในยุโรป และตลาดใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ โปแลนด์ สาธารณเชค และสโลวัก โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการดึงงานและสนับสนุนการจัดงานไมซ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ประเทศไทย

   ในส่วนของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในระยะยาว มาตรการที่ 4. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และ 5. มาตรการผลักดันมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นั้น นายนพรัตน์กล่าวว่า ทีเส็บและผู้ประกอบการภาคเอกชนเห็นพ้องในการเร่งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ในทุกภาคส่วน โดยเน้นพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ผู้ประกอบการ รวมถึงการเร่งผลักดันการจัดระเบียบด้านการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเดินทาง ขณะเดียวกันเสนอแนะมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายของลูกค้าต่างประเทศ เช่น ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่า Landing Fee สำหรับสายการบินต่างประเทศ รวมถึง Charter Flight จากต่างประเทศ โดยจะดำเนินควบคู่ไปกับการผลักดันนโยบายการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ในประเด็นมาตรการลดหย่อนภาษีและการประกันการจัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย

   ด้าน นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) เสนอความคิดเห็นถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ว่า การประกันงาน และการเดินทางให้กับนักเดินทางกลุ่มไมซ์เป็นแนวคิดที่น่าจะได้รับการผลักดันและส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นโดยการสื่อสารประเด็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสถานการณ์ของประเทศไทยที่เป็นปกติและไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจไมซ์ นอกจากนี้ เห็นว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์อย่างจริงจัง ครอบคลุมทั้งการป้องกันรักษาและควบคุมดูแลสถานที่ท่องเที่ยว การสร้างสรรค์และประชาสัมพันธ์สถานที่จัดงานและสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจไมซ์คุณภาพ ตลอดจนขจัดการทุจริต รวมถึงอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวและนักเดินทางกลุ่มไมซ์ และการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายของชาวต่างประเทศในประเทศไทย

    ทางด้านนายพรรธระพี ชินะโชติ นายกสมาคมสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การดูแลนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความมั่นใจในการเข้าร่วมงานในประเทศไทย โดยพยายามทำความเข้าใจและนำเสนอข้อมูลจริงให้เห็นถึงผลทางด้านธุรกิจ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีวิกฤติแต่การจัดงานแสดงสินค้ายังมีการเติบโต มีจำนวนผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้จัดงานที่จะนำงานแสดงสินค้าใหม่ๆเข้ามาจัดในประเทศไทยในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมรองรับการจัดงานได้

    ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการด้านโรงแรมมองว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสเหมาะในการจัดระเบียบธุรกิจไมซ์และการท่องเที่ยว รวมถึงควบคุมโรงแรมที่ผิดกฏหมายให้เข้าสู่ระบบ โดย นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของประเทศเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องช่วยกันสื่อสารให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น ปัจจุบันสังคมกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง นอกจากนั้นยังเห็นว่าควรจะใช้โอกาสนี้ในการจัดระเบียบฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การจัดระเบียบแท็กซี่ในเมืองท่องเที่ยวและภายในสนามบิน การควบคุมโรงแรมที่ผิดกฏหมายโดยการปรับปรุงกฏระเบียบให้ครอบคลุมเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องแสดงใบอนุญาตประกอบการด้วย เพื่อปกป้องประโยชน์ของผู้ใช้บริการ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

นางสาวอริสรา ธนูแผลง                                      โทรศัพท์ 02-694-6095                            อีเมล arisara_t@tceb.or.th

นายพิษณุ พลายแก้ว                                          โทรศัพท์ 02-694-6000                            อีเมล pishnu_p@tceb.or.th

นางสาวกนกวรรณ กะดีแดง                                โทรศัพท์ 02-694-6000                            อีเมล kanokwan_k@tceb.or.th 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!