WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

27 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8673 ข่าวสดรายวัน

เที่ยวทะเล-ระวัง'แมงกะพรุนกล่อง'
เตือนพิษ ร้ายแรง ถึงตาย!...


พิษรุนแรง - เจ้าหน้าที่ติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาด ขวด อ.เกาะพะงัน จ. สุราษฎร์ธานี หลังเกิดเหตุด.ช.วัย 5 ขวบชาวฝรั่งเศส ลงเล่นน้ำทะเลแล้วโดนพิษของแมงกะพรุนกล่อง จนเสียชีวิต เมื่อ 26 ส.ค.

        เตือนภัย 'แมงกะพรุนกล่อง'พิษรุนแรงถึงตาย หลังเด็กชายชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตที่เกาะพะงัน เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยทะเล สาธารณสุข และปกครองรุดสำรวจพื้นที่ สั่งขึ้นป้ายเตือน แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู อย่าไปดึงเข็มพิษ หรือขูดออก จะทำให้พิษแพร่กระจาย ด้านพ่อแม่ของเด็กไม่ติดใจเอาความ ยอมรับเป็นอุบัติเหตุ ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯ จัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ชนิดแมงกะพรุนที่มีพิษในทะเลไทย เตรียมท่อบรรจุน้ำส้มสายชูล้างพิษ
     จากกรณีเด็กชายวัย 5 ขวบ ชาวฝรั่งเศส ลงเล่นน้ำทะเลที่ชายหาดขวด อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง แล้วระหว่างนั้นถูกแมงกะพรุนพิษจนหมดสติทันที ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาไม่นานนัก จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเป็นพิษของแมงกะพรุนกล่อง เป็นพิษที่มีความรุนแรงมาก จะทำลายระบบประสาท เซลล์ผิวหนัง และเข้าสู่หัวใจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.เกาะพะงัน ขอความร่วมมือจาก ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ขึ้นป้ายเตือนนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้ และให้เตรียมน้ำส้มสายชู ซึ่งมีสรรพคุณล้าง พิษแมงกะพรุนได้ไว้ให้พร้อมสำหรับปฐม พยาบาลในเบื้องต้นตามชายหาดต่างๆ
       จากการสอบถามไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ระบุว่าแมงกะพรุน หรือตัวต่อทะเล มักอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งของออสเตรเลียเหนือ และทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก แต่ปัจจุบันพบว่าแพร่กระจายมาถึงทะเลในประเทศไทย พร้อม ทั้งประกาศเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเกาะพีพี จ.กระบี่ จ.ภูเก็ต เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เนื่องจากพิษของมันมีความรุนแรงมาก หากถูกจะทำให้หมดสติ และแทบจะถึงขั้นเสียชีวิตในทันที ตามที่เสนอข่าวไปตามลำดับแล้วนั้น
       ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมสำรวจพื้นที่บริเวณชายหาดขวด หมู่ 7 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการแก้พิษเมื่อถูกแมงกระพรุนทำร้าย โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งมีพิษร้ายแรงที่สุด 


ระวังพิษ - ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ฝั่งตะวันออก ประกาศเตือนภัยจากแมงกะพรุนกล่อง ถ้าพบเห็นให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หลังเกิดเหตุการณ์ ด.ช.ชาวฝรั่งเศส วัย 5 ขวบ ลงเล่นน้ำชายหาดเกาะ พะงัน แล้วโดนพิษแมงกะพรุนชนิดดังกล่าวเสียชีวิต

        จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตาข่ายลากตามแนวชายหาด เพื่อจับแมงกะพรุนกล่อง แล้วจะนำไปตรวจพิสูจน์ แต่จับไม่ได้สักตัว ขณะเดียวกัน นายประสิทธิ์ ฤทธิ์เดช สาธารณสุข อ.เกาะพะงัน ให้ความรู้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชาวประมงพื้นบ้าน ถึงวิธีการแก้พิษแมงกะพรุนกล่อง เพราะหากถูกพิษของมันจะทำให้ปวดแสบปวดร้อน เจ็บทรมานมาก ถ้าพิษมีปริมาณมากอาจทำให้ช็อกและหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเมื่อถูกพิษให้ใช้น้ำส้มสายชูราดจุดที่ถูกพิษ ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชู ให้ใช้น้ำอัดลมแทนได้ เพื่อให้เข็มพิษอ่อนตัว และบรรเทาอาการเจ็บปวด แล้วรีบนำส่งร.พ.ทันที
       ขณะที่ นายวิศาล บัวอินทร์ เจ้าของสมายบังกะโล ใกล้ที่เกิดเหตุเด็กชายชาวฝรั่งเศสถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิต กล่าวว่าในวันเกิดเหตุได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ของด.ช.แมกซ์ จึงวิ่งเข้าไปดู พบว่าด.ช.แมกซ์หมดสติ ไม่หายใจ ที่ขามีหนวดแมงกระพรุนติดอยู่ จึงวิ่งไปหยิบขวดน้ำส้มสายชูจะมาราด แต่พ่อแม่ของเด็กไม่มั่นใจว่าจะช่วยแก้พิษได้ จึงไม่ได้ราด จากนั้นรีบน้ำเด็กลงเรือไปร.พ.เกาะพะงัน เมื่อไปถึงแพทย์แจ้งว่าเสียชีวิตระหว่างทางแล้ว
       ส่วนนายการิม และนางเฌอซอง มูเดีย พ่อแม่ของด.ช.แมกซ์ ที่ยังอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ กล่าวว่าไม่ติดใจเอาความ เพราะเป็นอุบัติเหตุ ขอขอบคุณเจ้าของสมายบังกะโลที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ และวันที่ 26 ส.ค. นี้ จะเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส ส่วนศพลูกชายจะตามไปในวันที่ 29 ส.ค. เพราะรอขั้นตอนทางสถานทูตก่อน
      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ นายวิศาล เจ้าของบังกะโลเชิญชวนพ่อแม่ของ ด.ช.แมกซ์ ร่วมปลูกต้นมะพร้าวที่บริเวณชายหาดขวด เพื่อระลึกถึงด.ช.แมกซ์ และเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ขณะที่พ่อแม่ของด.ช.แมกซ์ก็บอกว่าจะเดินทางมาเกาะพะงันทุกปี เพื่อระลึกถึงลูกชาย และจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า ที่เกาะพะงัน เมื่อปีพ.ศ.2545 เคยมีเหตุ การณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติถูกแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิต 2 ราย 
       ด้านนายกษิดิ์เดช ทองชู ปลัดอาวุโส อ.เกาะพะงัน กล่าวว่าภายหลังเกิดเรื่องขึ้น ทางอำเภอเกาะไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมประชา สัมพันธ์ถึงภัยร้ายแรงของแมงกระพรุนกล่อง พร้อมทั้งติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวตามตลอดแนวชายหาดขวด


พิษร้ายแรง - พ่อ-แม่ของด.ช. 5 ขวบชาวฝรั่งเศส ที่เสียชีวิตจากพิษแมง กะพรุนกล่อง ขณะลงเล่นน้ำทะเลที่เกาะ พะงัน จ.สุราษฎร์ฯ ไม่ติดใจเอาความ ด้านเจ้าหน้าที่นำป้ายเตือนติดทั่วบริเวณชายหาด เมื่อ 26 ส.ค.

      ขณะเดียวกัน ที่ จ.กระบี่ ทางประมงจังหวัดก็ประกาศเตือนไปยังแหล่งท่องเที่ยวตามชายทะเลและเกาะต่างๆ รวมถึงชาวประมงให้ระมัดระวังแมงกะพรุนกล่อง พร้อมทั้งแนะนำวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยนายแสน ศรีงาม ประมงจังหวัดกระบี่ กล่าวว่าบริเวณชายหาดหมู่เกาะลันตา และชายหาดต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นแหล่งที่อยู่ของแมงกะพรุนกล่อง ที่จะเข้ามาในช่วงมรสุม และมากับกระแสน้ำ แมงกะ พรุนกล่อง หรือแมงกะพรุนสาหร่าย มีสีสันสวยงามระยิบระยับ สีแดง หรือสีน้ำเงินอมสีชมพู เมื่อพบเห็นแมงกะ พรุนในลักษณะนี้ให้หลีกเลี่ยงทันที อย่าเข้าใกล้เป็นอันขาด เพราะพิษร้ายแรงถึงขั้น เสียชีวิต
     "ขอเตือนชาวประมง ผู้ปกครอง ผู้นำเที่ยว และนักท่องเที่ยว ให้ระมัดระวังขณะเล่นน้ำทะเล หากพบเจอแมงกะพรุนลักษณะสีสันสวยงาม โดยเฉพาะเด็กๆ เมื่อเห็นจะชอบเข้าไปจับเล่น อย่าเข้าใกล้ให้หลบหลีกขึ้นฝั่งทันที ห้ามสัมผัสโดยเด็ดขาด เมื่อปีที่ผ่านก็พบแมงกะพรุนชนิดนี้ที่เกาะลันตา" นายแสนกล่าว
      ประมงจังหวัดกระบี่ กล่าวต่อว่าหากแมงกะพรุนโดนที่ผิวหนัง ห้ามใช้นิ้วดึงเข็มพิษออก หรือใช้วัตถุใดๆ ขูดออกเด็ดขาด เพราะเป็นการเร่งให้เข็มพิษแทงเข้าไปในเนื้อ แล้วปล่อยพิษเข้าสู่กระแสเลือด วิธีการหยุดยั้งไม่ให้พิษซึมเข้าในร่างกายได้ ต้องใช้น้ำส้มสายชู เพราะฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ราดไปที่แผล ไม่ใช้น้ำร้อนประคบ เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัวกระจายพิษง่ายขึ้น ส่วนผักบุ้งทะเลช่วยลดความเจ็บปวดเอาไว้ใส่ทีหลัง แต่ถ้าหัวใจหยุดเต้น ก็อย่าเพิ่งไปมัวแต่หาน้ำส้มสายชู ต้องรีบปั๊มหัวใจผายปอดแล้วรีบนำส่งร.พ.โดยด่วน
      ด้านนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าทราบเรื่องแมงกะพรุนกล่องที่เกาะพะงันแล้ว จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปลงตรวจสอบ รวมทั้งให้สำรวจการแพร่กระจายของแมงกะพรุนกล่อง เพื่อหาแนวทางการป้องกันต่อไป พร้อมทั้งจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุน และที่สงสัยว่ามีพิษในน่านน้ำไทยด้วย
      ทั้งนี้ มีข้อมูลการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อสัมผัสแมงกะพรุน และเตรียมท่อบรรจุน้ำส้มสายชูสำหรับล้างพิษ โดยจัดทำในพื้นที่ 6 จังหวัดชายทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และระนอง และอีก 3 จังหวัดฝั่งอ่าวไทย คือ ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว
     ส่วนนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าแมงกะพรุนกล่องแพร่กระจายในทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย แต่มีจำนวนน้อยมาก และพบได้ไม่บ่อย จากสถิติจะพบเจอในช่วงมรสุม หรือฤดูฝน เข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งด้วยกระแสน้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่ควรศึกษาเกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุน รวมทั้งการพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสแมงกะพรุน 
      นายปิ่นสักก์กล่าวอีกว่า เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องยังเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงวิชาการของไทย จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ทางกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายชนิดการแพร่กระจาย ฤดูกาลของแมงกะพรุนพิษในประเทศไทย รวมถึงแนวทางการป้องกันการบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น
      ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จากรายงานของกรมควบคุมโรค ระบุว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541-2556 มีข้อมูลว่ามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษในทะเลประเทศไทย มีผู้เข้ารับการรักษาตัวที่ร.พ.มากถึง 918 ราย มีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่วนอาการหนักจนถึงเสียชีวิตพบอย่างน้อย 12 ราย เกิดจากพิษแมงกะพรุนกล่อง 
      สำหรับ ขั้นตอนการปฐมพยาบาลจากการสัมผัสแมงกะพรุน ที่สงสัยว่ามีพิษและไม่มีพิษนั้น ให้สังเกตจากลักษณะของบาดแผล ถ้าถูกแมงกะพรุนกล่อง บาดแผลจะลึกและเป็นเส้นๆ ให้ปฐมพยาบาลดังนี้ 1.นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ หรือไปยังบริเวณที่ปลอดภัย 2.เรียกให้คนช่วย หรือเรียกรถพยาบาล และไม่ให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง 3.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของพิษ 4.ไม่ให้ผู้บาดเจ็บและผู้อื่นสัมผัส หรือขัดถูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน 5.ถ้าหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจทันที 6.ราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนให้ทั่วอย่างน้อย 30 วินาที ห้ามราดด้วยน้ำเปล่า และ 7.รอจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง หรืออาการดีขึ้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!