WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

P82--นายกฯ มั่นใจ ญี่ปุ่นผนึกกำลัง ไทย – เออีซี ผงาดตลาดโลก คาดปี 59 ตลาดการค้าการลงทุนไทยและเพื่อนบ้านคึกคัก

     นายกรัฐมนตรีเผย ความร่วมมือญี่ปุ่น-อาเซียน จะเสริมทัพให้เศรษฐกิจอาเซียนไม่แพ้ภูมิภาคอื่น พร้อมชูนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้คึกคักหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้านบีโอไอมั่นใจ นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ปูทางให้ไทยเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่นในระยะยาว

     พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา 'ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น'Business Strategy in the era of ASEAN Economic Community Thailand, major manufacturing hub for Japan' ในวันนี้ (วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2558) ว่า อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนมากยิ่งขึ้น ทั้งความร่วมมือระดับรัฐต่อรัฐ ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และจะทำให้โอกาสทางธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้นด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการวางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศ การปรับปรุงกฎระเบียบและระบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการวางรากฐานด้านเศรษฐกิจดิจิตอล และการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

      นอกจากนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและขยายกรอบความร่วมมือในระดับโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตไม่แพ้ภูมิภาคอื่น และเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนจากชาติอื่นๆ ด้วย

       ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และผลักดันให้การค้าและการลงทุนในพื้นที่ชายแดนขยายตัวสูงขึ้น

     "ผมเชื่อว่า ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป การค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะคึกคักยิ่งขึ้น จากผลของการดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบระบบโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งหลายโครงการจะมี นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว

      ทางด้านนางหิรัญญา สุจินัย รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่านโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นพื้นที่ชายแดนบนแนวเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตในพื้นที่ใกล้เคียง และใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงฐานการผลิตในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้

     สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่กับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยนั้น บีโอไอมั่นใจว่า จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตสำคัญของญี่ปุ่นในระยะยาว และประเภทกิจการที่ บีโอไอมุ่งให้การส่งเสริมล้วนแต่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (Modern Industries) ที่สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำหลายประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย อาทิ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในประเทศ การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น

     "กิจการที่ประเทศไทยต้องการเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระหว่าง 3 – 8 ปี และยังมีโอกาสขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ หรือ Merit-based Incentives เช่น มีการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การฝึกอบรบด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนา Local Supplier หรือในกรณีที่ตั้งสถานประกอบการในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ หรือตั้งในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ"นางหิรัญญากล่าว

    สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน ร้อยละ 70 เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยและประเทศในอาเซียน ในธุรกิจการค้าและบริการต่างๆ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง การเงิน ประกันภัย รองลงมาเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และขนส่ง ทั้งนี้ โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหญ่รวมประมาณ 100 คน เดินทางจากญี่ปุ่นเพื่อมาเข้าร่วมนี้โดยเฉพาะ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!