- Details
- Category: CHINA
- Published: Tuesday, 10 January 2023 18:00
- Hits: 2082
#บทวิเคราะห์ RCEP เปิดกว้างสู่เส้นทางความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของโลก
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2023 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ครอบคลุมประเทศสมาชิกอินโดนีเซียเพิ่มเติม ทำให้จนถึงขณะนี้ ความตกลงการค้าเสรีนี้มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิก RCEP 14 ประเทศจากทั้งหมด 15 ประเทศ ทั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคจะช่วยผลักดันและดึงดูดการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในฐานะเขตการค้าเสรีที่มีแนวโน้มสดใสที่สุดในโลก ที่ครอบคลุมประชากรและมีสมาชิกที่หลากหลายที่สุด
RCEP ได้แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจากการลดภาษีศุลกากรและขยายตลาดในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้อำนวยความสะดวกแก่การไหลเวียนอย่างเสรีและการรวบรวมปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก RCEP ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจในระดับสูงและลึกซึ้งในภูมิภาค
ความตกลงทางการค้าดังกล่าวยังได้เพิ่มพลังทางบวกที่แข็งแกร่งให้กับการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและของโลก ตลอดจนนำผลประโยชน์ที่จับต้องได้มาสู่องค์กรธุรกิจและประชาชนด้วย
ตามสถิติ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 การส่งออกของเกาหลีใต้และสิงคโปร์ไปยังประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 18.7 และร้อยละ 19.1 ตามลำดับ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์ไทยกล่าวว่า ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดของการดำเนินการตาม RCEP คือ ข้อตกลงการค้าดังกล่าวได้สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสมาชิก RCEP และส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
นายซูลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย กล่าวว่า คาดว่า RCEP จะสามารถช่วยเพิ่มการถ่ายโอนเทคโนโลยีและส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคโดยผ่านการขยายการส่งออกสินค้าและบริการ แม้ว่าการลงทุนทั่วโลกจะมีความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเทศสมาชิก RCEP ส่วนใหญ่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในการใช้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้ปรับขึ้นการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนให้เห็นผลกระทบเชิงบวกจาก RCEP อีกระดับที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้
ในฐานะเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิก RCEP จีนเป็นผู้สนับสนุนความเป็นพหุภาคีที่แท้จริงและปฏิบัติตามนโยบายเปิดกว้างในภูมิภาค ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการดำเนินการตาม RCEP ที่มีคุณภาพสูง และทำให้เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ได้สร้างโอกาสและมีบทบาทมากขึ้นจากการส่งเสริมการพัฒนาการค้าสินค้า
พร้อมสร้างความมั่นใจว่า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้ามีบทบาท ไปจนถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนศุลกากรและกฎการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง และการเปิดภาคการค้าบริการมากขึ้น จีนได้ทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการค้า การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกแก่การลงทุน
ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2022 การค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ มีมูลค่าถึง 11.8 ล้านล้านหยวน ( 1.71 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ) เพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 30.7% ของการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของจีน จากรายงานที่เผยแพร่โดย ธนาคาร HSBC ในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ร้อยละ 93 ของผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิก RCEP บอกว่า การค้ากับจีนอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต และกว่าร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าธุรกิจของตนในจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ในปี 2023 นี้
การเปิดกว้างเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ และเป็นเส้นทางที่ถูกต้องสู่ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของโลก จีนจะยังคงดำเนินยุทธศาสตร์เปิดประเทศที่เอื้ออำนวยประโยชน์แก่กันและได้ชัยชนะร่วมกัน โดยจะเปิดภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น มอบโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยการพัฒนาของตนเอง จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคด้วยมาตรฐานในระดับสูง ส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจอันเปิดกว้างและสร้างโอกาสโลกให้สดใสในอนาคต