WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

1Aครบรอบ48ปี

ในวันครบรอบ 48 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย เอกอัครราชทูตหาน จื้อเฉียงได้ให้สัมภาษณ์กับเดลินิวส์

1. นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทยเมื่อ 48 ปีที่แล้ว การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายประสบความสำเร็จที่สำคัญอะไรบ้าง

ปีนี้ครบรอบ 48 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย และเป็นการเริ่มต้นทศวรรษที่สองของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทย เมื่อมองย้อนกลับไปเกือบครึ่งศตวรรษจะเห็นว่าความสัมพันธ์จีน-ไทยประสบผลสำเร็จอย่างมากมาย

ความไว้วางใจ ซึ่งกันและกันทางการเมืองได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความสัมพันธ์จีน-ไทย ในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน จีนและไทยเคารพซึ่งกันและกันในทางการเมืองมาโดยตลอด ปฏิบัติตามบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน และสนับสนุนซึ่งกันและกันในเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับลักษณะของประเทศตนเอง

ความสัมพันธ์จีน-ไทยได้ค้นพบเส้นทางที่ประสบความสำเร็จของการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศที่มีระบบแตกต่างกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประสบความสำเร็จในการเยือนประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วและได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ และพบปะกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาตามลำดับ

ทั้งสองประเทศได้ประกาศร่วมสร้างชุมชนแห่งโชคชะตาร่วมจีน-ไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเป็นการชี้ชัดถึงทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไทยยุคใหม่ อีกทั้งได้เพิ่มเนื้อหาแห่งยุคสมัยให้กับคำว่า'จีนไทยพี่น้องกัน' ตลอดจนส่งเสริมความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศสู่ระดับที่สูงขึ้นไปอีก

ความร่วมมือเชิงปฏิบัติทำให้ความสัมพันธ์จีน-ไทยเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ในปี 2023 ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยสูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 10 เมื่อปีที่แล้ว การลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนในไทยสูงถึง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีนกลายเป็นแหล่งเงินทุนต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทยอีกครั้ง

สำหรับ การลงทุนของไทยในประเทศจีนก็รักษาแนวโน้มที่ดีเช่นกัน ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการก่อสร้าง'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' ที่มีคุณภาพสูงและการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างกันได้สร้างโอกาสการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของทั้งสองประเทศในอนาคตอย่างไร้ขีดจำกัด

มิตรภาพของประชาชนเป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์จีน-ไทยอย่างไม่มีสิ้นสุด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันด้วยการเชื่อมโยงทางภูมิประเทศ

และเป็นญาติที่ดีต่อกันด้วยการเชื่อมโยงทางสายเลือด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 1997 หรือแผ่นดินไหวที่เวิ่นชวน ไม่ว่าจะเป็นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียหรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางความยากลำบากและบททดสอบทุกรูปแบบ

ประชาชนจีนและไทยต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อเอาชนะความยากลำบาก การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมยังคงเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้คนของทั้งสองประเทศ คนไทยหลายล้านคนกำลังเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างกระตือรือร้น ผลงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ยอดเยี่ยมของทั้งสองประเทศกำลังเฟื่องฟูในประเทศของกันและกัน หลังจากสามปีแห่งการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยยังคงเป็นตัวเลือกแรกสำหรับชาวจีนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

การปกป้องสันติภาพและการพัฒนาในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความสัมพันธ์จีน-ไทยในระดับโลก ทั้งสองประเทศยังคงประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง และความร่วมมือจีน-อาเซียน

และมุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังคงสื่อสารอย่างใกล้ชิดในเวทีต่างๆ เช่น เอเปคและสหประชาชาติ หารือเกี่ยวกับแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน

และร่วมกันสนับสนุนลัทธิพหุภาคีและระเบียบระหว่างประเทศที่มีหลักธรรมาภิบาล ข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก ข้อริเริ่มความมั่นคงระดับโลก และข้อริเริ่มด้านอารยธรรมโลกที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับการตอบรับและการสนับสนุนจากประเทศไทยอย่างกระตือรือร้น

 

2.ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความสัมพันธ์อย่างไรในอนาคต และจะมุ่งเน้นในด้านใด

เมื่อมองไปในอนาคต เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับประเทศไทยเพื่อทำตามเป้าหมายใหญ่ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันจีน-ไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในระดับสูงขึ้นในทุกด้าน

ประการแรก คือการรักษาความถูกต้องและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าความสัมพันธ์จีน-ไทยจะก้าวไปข้างหน้าบนเส้นทางที่ถูกต้องเสมอ สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันมีความยุ่งเหยิง และการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมั่นคงกำลังเผชิญทั้งโอกาสและความวุ่นวายกับความท้าทาย

เราต้องยึดมันเส้นทางถูกต้อง คือสันติภาพ การพัฒนาและความร่วมมือ ปฏิเสธแนวคิดผลรวมเป็นศูนย์และแผนการสงครามเย็น เราต้องยืนยันในอิสรภาพและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการมุ่งสู่เส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับลักษณะของประเทศตนเอง

ประการที่สอง คือการเสริมสร้างการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างรูปแบบใหม่ของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระดับสูง ส่งเสริมการสร้างทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สร้างเส้นทางใหม่ๆ สำหรับการเชื่อมโยงถึงกัน ใช้เงื่อนไขพิเศษจาก RCEP และเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้เป็นประโยชน์

และกระชับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของความร่วมมือในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G เพื่อสร้างจุดเด่นใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล

ประการที่สาม คือการต่อยอดจากอดีตและเปิดอนาคตใหม่เพื่อสร้างรูปแบบใหม่ของการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและข้อมูลข่าวสารระหว่างทั้งสองฝ่าย ขยายความร่วมมือในด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และการศึกษา ส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่าย และรักษาสถานะของจีนในฐานะประเทศแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย กระชับการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนของสองประเทศและสืบทอดมิตรภาพจีน-ไทย

ประการที่สี่ คือการยึดมั่นในการพัฒนาอย่างสันติของภูมิภาค ทำงานร่วมกันเพื่อรักษาภูมิภาคที่เป็นบ้านร่วมกัน จีนสนับสนุนไทยในการเป็นประธานร่วมของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง สนับสนุนไทยเป็นผู้นำการเจรจาเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน 3.0 และยินดีที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายไทยเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญในภูมิภาคอย่างเหมาะสม ยกระดับความสัมพันธ์จีน-อาเซียน และผลักดันการสร้างประชาคมที่ร่วมอนาคตจีน-อาเซียน

 

3. ในปี 2021 จีน-อาเซียนได้สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และความสัมพันธ์จีน-อาเซียนจะพัฒนาไปอย่างไรในอนาคต

อาเซียนเป็นทิศทางหลักของการทูตจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2021 จีน-อาเซียนได้สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นการกำหนดก้าวสำคัญครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ทวิภาคี จีนและอาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกันและกัน

และมีความร่วมมือที่มีชีวิตชีวาในทุกๆ ด้าน สามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่าความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในปัจจุบันได้กลายเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จและมีพลวัตที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จีนจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เพื่อนที่ดี และหุ้นส่วนที่ดีของอาเซียนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงว่าด้วยการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-อาเซียนที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นและข้อริเริ่ม'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง'

และยังเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของการที่จีนเข้าร่วมสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วาระสำคัญเหล่านี้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายที่จะสานต่ออดีตและก้าวสู่อนาคต

จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และร่วมกันสร้าง'บ้านห้าหลัง' ของจีน-อาเซียนว่าด้วยเรื่องสันติภาพ ความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความสวยงาม และมิตรภาพ

จีนจะสนับสนุนความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแน่วแน่สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาคอย่างแข็งขัน และสนับสนุนอาเซียนในการมีบทบาทมากขึ้นในกิจการระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ จีนและอาเซียนจะยังคงปฏิบัติตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน

ความเสมอภาคและได้ประโยชน์ร่วมกัน การปรึกษาหารือกัน และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ยึดมั่นในหลักภูมิภาคนิยมที่เปิดกว้างและหลักพหุภาคีอย่างแท้จริง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สันติและมั่นคงสำหรับการพัฒนาในภูมิภาค

 

4. นโยบายการค้าการลงทุนของจีนต่อไทยเป็นอย่างไร โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ท่านคิดว่าทุนจีนสร้างการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยหรือไม่

จีนยืดถือนโยบายเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและชัยชนะร่วมกัน ยืนหยัดในการเปิดกว้างที่ขยายวงมากขึ้น ในอุตสาหกรรมที่กว้างขึ้น และในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เปิดกว้างในระดับที่สูงขึ้น อาศัยความได้เปรียบของตลาดขนาดใหญ่พิเศษในประเทศจีน เพิ่มการเชื่อมโยงทรัพยากรภายในและภายนอก และปรับปรุงคุณภาพและระดับของความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

ไทยเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของจีน ในกระบวนการพัฒนาของการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีนมากว่า 40 ปีนั้น มีผู้ประกอบการไทยจำนวนมากไปลงทุนและตั้งโรงงานในจีน พวกเขาไม่เพียงแต่ประสบผลการพัฒนาของตนเอง แล้วยังทำประโยชน์สำคัญต่อการปฎิรูปและเปิดประเทศของจีน จีนได้เป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทยตลอด 10 ปีต่อมา

แล้วก็ได้เป็นประเทศแหล่งทุนต่างชาติใหญ่ที่สุดของไทยในปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศยึดหลักการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและร่วมมือชัยชนะกัน จนสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดที่สุดและนำผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่มาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศ

จีนเป็นคู่ค้าหลักของกว่า 140 ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ในโลก จีนมีอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก (คิดมากกว่า 30% ของมูลค่าผลผลิตของโลก) ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศมีขนาดใหญ่ (ประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) และมีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (มีการจดสิทธิบัตร WIPO 70,000 รายการในปี 2022)

จีนยินดีมอบโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยการพัฒนาใหม่ๆ ของตนเอง และยินดีแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาของจีนกับมิตรประเทศ เช่น ประเทศไทย ตลาดจีนอ้าแขนรับสินค้าที่มีคุณภาพเยี่ยมจากไทย และสนับสนุนให้วิสาหกิจจีนที่มีคุณภาพดีสร้างความร่วมมือตามความต้องการของฝ่ายไทย เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทย

จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในปี 2022 ปริมาณการค้ารวมของสินค้าเกษตรระหว่างจีนและไทยจะอยู่ที่ 13,100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกของไทยไปจีน 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.1% ในไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยัง จีนมีมูลค่าถึง 22,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.6% และ 90% ของสินค้าเกษตรของไทย เช่น ทุเรียนและมันสำปะหลังส่งออกไปยังจีน

ข้อมูลที่น่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้เกิดจากความเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์ระหว่างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงของไทยกับความต้องการของตลาดขนาดใหญ่ของจีน และแยกไม่ออกจากหลักประกันด้านนโยบายของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย จีนเป็นตลาดอาหารและสินค้าเกษตรที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก เราทราบดีถึงความสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยและยินดีที่จะเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเกษตรของไทยต่อไป

จากข้อมูลทางสถิติระดับเบื้องต้น ปัจจุบันมีบริษัทจีนเกือบ 700 แห่งที่ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมการผลิต บริการทางการเงินและการขนส่ง และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น ข้อมูลและการสื่อสาร พลังงานใหม่ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านการลงทุนเหล่านี้ช่วยเสริมข้อได้เปรียบของวิสาหกิจไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี ห่วงโซ่อุปทาน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

 

5.ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อทุนสีเทา

เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานมากมายเกี่ยวกับทุนสีเทาในสื่อของไทย สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ จีนกำหนดให้พลเมืองและบริษัทจีนในต่างประเทศปฏิบัติตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมของประเทศปลายทางอย่างเคร่งครัด ให้ประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมาย และตอบแทนสังคมอย่างจริงจัง

และพวกเขาก็ทำเช่นนั้นจริง มีบริษัทจีนในไทยจำนวนมากกระตือรือร้นกับการทำกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์พร้อมๆ กับการพัฒนาธุรกิจของพวกเขา ซึ่งความพยายามและคุณประโยชน์ที่พวกเขาได้ทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นเป็นที่ประจักษ์

มีชาวจีนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ฝ่ายจีนสนับสนุนให้ฝ่ายไทยดำเนินการปราบปรามกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอย่างเต็มที่ และในความเป็นจริง หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนและไทยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติอยู่แล้ว และและได้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก

สิ่งที่ผมต้องการเน้นย้ำคือ ชาวจีนที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในประเทศไทยนั้นมีจำนวนน้อยมาก เราควรแยกแยะคนเหล่านี้ออกจากพลเมืองจีนและบริษัทจีนในประเทศไทย บางกลุ่มที่มีเจตนาซ่อนเร้น ใช้เครือข่ายการสื่อสารเพื่อทำลายภาพพจน์ของประเทศจีน สร้างความขัดแย้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างจีนกับไทย ซึ่งเราต้องระมัดระวังอย่างมาก

 

6. ท่านมีความคิดเห็นต่อสถานะ และบทบาทของจีนในเวทีโลกอย่างไร 

โลกทุกวันนี้ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบศตวรรษ โลกมีหลายขั้ว โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างพลิกผัน และการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรอบใหม่กำลังอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น การพัฒนาอย่างสันติยังคงเป็นแนวโน้มของยุคสมัยและความปรารถนาของประชาชน

ในเวลาเดียวกัน บางประเทศกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านกระแสแห่งประวัติศาสตร์ พยายามหวนกลับไปสู่ความคิดแบบสงครามเย็น ส่งเสริมการกีดกันและการเผชิญหน้า และยั่วยุให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้ง โลกได้มาถึงทางแยกแห่งสันติภาพและสงคราม ทางแยกแห่งความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยอีกครั้ง

จีนยืนหยัดเสมอมาในการรักษาสันติภาพของโลกและส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน กระชับและขยายความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกด้านความเสมอภาค การเปิดกว้างและความร่วมมือ มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการปฏิรูปและสร้างระบบธรรมาภิบาลโลก และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ

จีนเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลกมาโดยตลอด จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่บัญญัติคำว่า “ยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาอย่างสันติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นประเทศเดียวในบรรดา 5 รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ที่ให้คำมั่นว่าจะไม่เป็นประเทศแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ เมื่อเผชิญกับความท้าทายด้านความปลอดภัยต่างๆ ในปัจจุบัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เสนอข้อริเริ่มความมั่นคงระดับโลก

โดยสนับสนุนเส้นทางการรักษาความปลอดภัยใหม่โดยใช้การเจรจามากกว่าการเผชิญหน้า ความร่วมมือมากกว่าพันธมิตร และแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) มากกว่าผลรวมเป็นศูนย์ จีนสนับสนุนให้แก้วิกฤตยูเครนผ่านการเจรจาพร้อมทำงานอย่างหนักเพื่อไกล่เกลี่ยจีนยังประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการปรองดองครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญของข้อริเริ่ม

จีนเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาโลกมาโดยตลอด ในปี 2022 เศรษฐกิจของจีนมีมูลค่ากว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 18.5% ของเศรษฐกิจโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อปีโดยเฉลี่ย 38.6% ทำให้จีนเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ใหญ่ที่สุด

ข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลกที่เสนอ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สนับสนุนให้ทุกประเทศยึดมั่นในลำดับความสำคัญของการพัฒนา ยืนหยัดการถือประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง ยึดมั่นในการมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน นี่คือภูมิปัญญาจีนและแนวทางแบบจีนที่ประเทศจีนอุทิศต่อการพัฒนาของโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนและตอบรับอย่างรอบด้านจากกว่า 100 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

จีนเป็นผู้ปกป้องระเบียบระหว่างประเทศมาโดยตลอด จีนยึดมั่นในลัทธิพหุภาคีที่แท้จริง รักษาระบบระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นแกนหลัก เข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศที่ประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เข้าร่วมและอนุสัญญาระหว่างประเทศมากกว่า 600 ฉบับ มีสนธิสัญญาทวิภาคีกับต่างประเทศมากกว่า 27,000 ฉบับ และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา จีนจะยืนเคียงข้างประเทศกำลังพัฒนาเสมอ และสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ในการเพิ่มบทบาทและการส่งเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในกิจการระหว่างประเทศ

 

7. ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ

จีนและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคงระหว่างจีน-สหรัฐฯ จะสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศและเป็นความคาดหวังร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ

แต่ในหลายปีที่ผ่านมา ทางสหรัฐฯ ถือกลยุทธ์ที่สกัดกั้นการพัฒนาของจีน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประสบความเสียหายอย่างหนัก ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและประธานาธิบดีโจ ไบเดนประสบความสำเร็จในการพบกันที่บาหลีและบรรลุฉันทามติที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ฉันทามติดังกล่าวถูกขัดขวางโดยการกระทำที่ไม่หวังดีของฝ่ายสหรัฐฯ จีนและสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์หากมีความร่วมมือและจะเสียประโยชน์หากมีการเผชิญหน้า ฝ่ายจีนจะปฏิบัติตามหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายซึ่งเสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในการรับมือกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ

เราหวังว่าสหรัฐฯ จะหันหน้าเข้าหาจีน ละทิ้งแนวคิดแบบสงครามเย็นและเกมผลรวมเป็นศูนย์ และผลักดันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้ออกจากสถานการณ์ที่ยากลำบากและกลับสู่เส้นทางเดิมที่ถูกต้อง ความคิดที่จะสกัดกั้นการพัฒนาของจีนมิอาจจะกลายเป็นความเป็นจริงได้ การกระทำอย่างนี้ท้ายที่สุดก็เป็นเพียงการยกหินขึ้นมาแต่กลับหล่นทับขาตัวเอง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!