- Details
- Category: CHINA
- Published: Sunday, 10 December 2023 11:27
- Hits: 3288
NV Gotion โกชัน บ.ผลิตแบตเตอรีจีน เปิดตัว ‘แบตฯ ลิเธียมไอออนฟอสเฟต’ ตัวแรกในไทย
โรงงานเอ็นวี โกชัน (NV Gotion) เปิดตัว’แบตฯ ลิเธียมไอออนฟอสเฟต’ ตัวแรกในไทย ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในอนาคต
ซินหัวรายงาน โกชัน ไฮเทค (Gotion High-tech) ผู้ผลิตแบตเตอรีของจีน เปิดตัวผลิตภัณฑ์แบตเตอรีตัวแรกในไทยหลังถูกส่งออกจากสายการประกอบโรงงานเอ็นวี โกชัน (NV Gotion) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์น จังหวัดระยอง ร่วมก่อตั้งโดยโกชัน ไฮเทค และนูออโว พลัส (Nuovo Plus) บริษัทพลังงานใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทน้ำมันและก๊าซที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยดำเนินธุรกิจหลักในธุรกิจแบตเตอรีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบตเตอรี
กำลังการผลิตชุดแบตเตอรีของโรงงานเอ็นวี โกชัน ถูกกำหนดไว้ที่ 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในระยะแรก พร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในอนาคต ตามความต้องการของตลาด
อวี๋เฉียง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของเอ็นวี โกชัน ระบุว่า ผลิตภัณฑ์แบตเตอรีที่เปิดตัวใหม่เป็นแบตเตอรีลิเธียมไอออนฟอสเฟต ขนาด 38 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถรองรับการขับขี่ระยะไกลถึง 400 กิโลเมตร ซึ่งจะตอบสนองความต้องการกระแสหลักสำหรับยานยนต์ระดับ เอ (A) ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย
อวี๋ เสริมว่า แบตเตอรี่ข้างต้นจะถูกส่งมอบให้โฮซอน ออโต (Hozon Auto) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2024
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของปตท. เปิดเผยว่าปตท. ได้นำเข้าเทคโนโลยีแบตเตอรีขั้นสูง โดยร่วมจัดตั้งโรงงานแบตเตอรีกับโกชัน ไฮเทค ซึ่งสามารถเร่งการบรรลุเป้าหมายในห่วงโซ่รถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด
นูออโว พลัส ผนึก โกชั่น เปิดโรงงาน 'เอ็นวี โกชั่น' ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสร้างความแข็งแกร่งตลาดรถ EV ไทย
จับมือเดินหน้าสู่ผู้นำสายการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน สร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาด สนับสนุนอนาคตใหม่ของการเดินทาง เติมเต็มความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศยานยนต์แห่งอนาคต ด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูง มุ่งหน้าสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ตอบรับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย สร้างสังคมความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ Mr. Li Zhen ประธานกรรมการ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด ร่วมเปิดโรงงานและเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ณ สวนอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค 2 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
โดย เอ็นวี โกชั่น เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด (Gotion) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ ด้วยทุนจดทะเบียนมากกว่า 600 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และพร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในอนาคต
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ด้วยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบตเตอรี่คุณภาพสูงมาสู่อุตสาหกรรมไทย เพื่อตอบโจทย์ทิศทางธุรกิจพลังงานใหม่ของโลก ภายใต้การดำเนินงานของนูออโว พลัส
ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) (ถือหุ้น 100% โดย ปตท.) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ที่เข้ามาช่วยเร่งพันธกิจการสร้าง EV Value Chain และธุรกิจพลังงานสะอาดของ กลุ่ม ปตท. โดยการเกิดขึ้นของโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนระดับ Giga Factory (กิกะแฟกทอรี) ในประเทศไทยแห่งนี้
ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศไทยจากการเป็นผู้นำเข้า ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิต และพัฒนาตัวเองสู่การเป็นผู้ส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมในอนาคต จากความร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างโกชั่นนี้ กลุ่ม ปตท. มั่นใจว่าเอ็นวี โกชั่น จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถรักษาจุดยืนความเป็นผู้นำของฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค
ตอบสนองแนวทางของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ออกมาตรการผลักดันเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 30% ในปี 2573 รวมถึงการการสนับสนุนเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดตามแผนพลังงานชาติในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน Renewable Energy ไม่น้อยกว่า 50% ได้อย่างแน่นอน
กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย
จุดเริ่มต้นธุรกิจแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2559 โดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และบริษัท 24M Technologies, Inc. (24M) ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทย
ในขณะนั้น แบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid ของ 24M ได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย นำมาปรับใช้ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ทำให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ทั้งในจีน และนอร์เวย์
ส่วนในประเทศไทยมีการก่อสร้างโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่องผลิตแบตเตอรี่ เทคโนโลยี Semi Solid ของ 24M กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ต่อปี โดยมีการเปิดตัวแบตเตอรี่ G-Cell ไปเมื่อปลายปี 2563
ขยายการลงทุนแบตเตอรี่ในต่างประเทศ
ต้นปี 2564 GPSC จัดตั้งบริษัท GPSC-SG Holding Company สิงคโปร์ เพื่อเข้าลงทุนใน บริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ในจีน ผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจาก 24M เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.1% เพื่อต่อยอดเทคโนโลยี เป็นฐานในการสร้างรายได้จากธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่เป็น New S-Curve รองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงานและธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต
อีกทั้ง ยังเป็นการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถต่อยอดและขยายความร่วมมือทางธุรกิจ รวมถึงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ทางเทคนิครองรับการขยายการผลิตสู่ระดับเชิงพาณิชย์ (Giga Scale) และความร่วมมืออื่นๆ
การระดมทุนของ AXXIVA ใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ Semi Solid ระยะที่ 1 ที่จีน กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2565 เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีน และ AXXIVA มีแผนขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต
ปรับโครงสร้างธุรกิจแบตเตอรี่ในกลุ่ม ปตท.
เดือนมกราคม 2565 กลุ่ม ปตท. ได้มีการจัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จํากัด (Arun Plus) ที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ในสัดส่วน 51% และ GPSC ในสัดส่วน 49% เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต ออกแบบระบบ ให้บริการด้านเทคนิค และ Energy Solution แก่ลูกค้า รวมไปถึงงานวิจัยด้านกระบวนการผลิต นวัตกรรมแบตเตอรี่ และการรีไซเคิล (Recycle) แบตเตอรี่
หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการลงนามสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ ระหว่าง GPSC กับ Nuovo Plus เพื่อโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการผลิต การศึกษา วิจัย และดำเนินการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่ให้กับ Nuovo Plus มูลค่ารวม 2,428 ล้านบาท โดย GPSC ได้ถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบ Semi Solid ของ 24M เพื่อนำไปสู่การผลิตและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสินทรัพย์ที่มีการโอนถ่ายเกี่ยวกับธุรกิจแบตเตอรี่ให้ Nuovo Plus
ประกอบด้วย ทรัพย์สินค่าใช้จ่ายสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh ต่อปี ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง หุ้นสามัญ 100% ใน GPSC-SG Holding Company ที่ถือหุ้น 11.1% ใน Axxiva รวมถึงสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นับเป็นจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนธุรกิจแบตเตอรี่ของ Nuovo Plus ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยี และเงินทุน การขยายโอกาสการลงทุน EV Value Chain ของกลุ่ม ปตท. กับธุรกิจแบตเตอรี่ของ GPSC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตจาก Economy of Scale โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกิกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อโอกาสการขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาค เป็นการนำศักยภาพด้านนวัตกรรม การตลาด และห่วงโซ่อุปทานของทั้งกลุ่มมารวมกัน เพื่อเร่งผลักดันการสร้าง EV Value Chain ของกลุ่ม ปตท.ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
เดือนธันวาคม 2565 Nuovo Plus ร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. จัดตั้งบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) โดย Nuovo Plus ถือหุ้น 51% และ Gotion 49% เพื่อดำเนินธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่และให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร
โดยผลิตชุดแบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูง สำหรับตลาดยานยนต์และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าในนาม NV Gotion ที่โรงงานแบตเตอรี่ระดับกิกะวัตต์ (Giga Battery Factory) ในประเทศไทย ที่ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยมีศักยภาพการผลิต 2 GWh ต่อปี และจะขยายเป็น 4 GWh ต่อปี ในปี 2567
Arun Plus จับมือ CATL เดินหน้าโรงานประกอบแบตเตอรี่
เดือนมิถุนายน 2566 บริษัท Arun Plus บรรลุข้อตกลงกับ Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ผู้นำในระดับสากลด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV จากจีน จัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แบบ Cell-To-Pack (CTP) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่อย่างครบวงจรในอนาคต
เนื่องจาก CATL มีการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Battery Value chain) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และในอนาคตยังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ CATL เพื่อนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ของ CATL มาใช้ในประเทศ เช่น เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ CATL พร้อมทั้งจะศึกษาแนวทางในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอนาคต
ปตท.ตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ปตท. และประธานกรรมการ Nuovo Plus กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของกลุ่ม ปตท. ในการก้าวสู่ธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค ซึ่ง GPSC ได้ริเริ่มการพัฒนาโครงการผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบด้วยเทคโนโลยี Semi Solid จนสามารถผลิตแบตเตอรี่ส่งมอบแก่ลูกค้าในการพัฒนา Application ร่วมกัน
โดย Nuovo Plus จะเป็นผู้สานต่อภารกิจในการมุ่งขยายกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับกิกะวัตต์ชั่วโมง พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ต่างๆ ของกลุ่ม ปตท. ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาให้เข้าสู่ระดับโครงการต้นแบบและเชิงพาณิชย์ โดยการดำเนินธุรกิจของ Nuovo Plus จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุม Battery Value Chain ที่กว้างขึ้น ทั้งในส่วนของแบตเตอรี่โมดูล (Module) และแบตเตอรี่แพก (Battery Pack) พร้อมทั้งเปิดรับพันธมิตรทางธุรกิจที่จะร่วมสร้างความแข็งแกร่งและเสริมศักยภาพธุรกิจแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าสู่การผลิตในระดับ 5-10 กิกะวัตต์ชั่วโมงตามเป้าหมายต่อไป
Nuovo Plus จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าแบตเตอรี่ในทุกกลุ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ประกอบด้วย 1.กลุ่ม Mobility ได้แก่ EV, E-bike, E-tuktuk, golf cart, small EV, E-bus, E-truck, E-boat เป็นต้น และ 2.กลุ่ม Stationary ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ระบบสำรองไฟ (UPS) ระบบชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่สถานีบริการ เป็นต้น
นอกจากนี้ Nuovo Plus ยังมีภารกิจในการจัดหา ให้บริการและจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด EV ทั้งในประเทศและภูมิภาคอีกด้วย
ปตท. ตั้งเป้าหมายการผลิตระดับเซลล์แบตเตอรี่ ไม่ได้ต้องการทำแค่ Pack แต่การจะทำได้จะต้องมีโรงงานที่มีกำลังการผลิตระดับ 10 กิกะวัตต์ขึ้นไป จึงจะคุ้มค่ากับการนำเข้าแร่หายากที่นำมาผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจแบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีที่ต้องลงทุน ธุรกิจนี้จึงต้องลงทุนด้าน R&D ลงทุนด้านเทคโนโลยี และต้องมี Scale ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ของ Nuovo Plus อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
ที่ผ่านมามีความร่วมมือกับหลายกลุ่ม เพื่อที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ คือ CATL, Gotion และ 24M ซึ่งในส่วนการผลิตแบตเตอรี่ของ CATL เป็นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูง ที่นำเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบกันเป็นแพกโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพความจุพลังงานสูงขึ้น น้ำหนักเบาและมีความปลอดภัยสูง
ส่วนของ Gotion ผลิตเหมือนกับ CATL แต่นำเซลล์มาเรียงใส่กล่อง จุดเด่น คือการทำ ESS จะใช้ Module Pack ที่ต้องการความปลอดภัย ส่วน 24M เป็น Semi Solid เป็นลิเทียมไอออนฟอสเฟต ทำมาเพื่อลดต้นทุน การชาร์จจะดีขึ้น มีความปลอดภัยสูง และง่ายต่อการรีไซเคิล แต่ข้อเสียคือเก็บไฟได้น้อยกว่า
ขณะนี้โรงงานในส่วนของ CATL และ Gotion เดินหน้าแล้ว ซึ่งแผนการตลาด Gotion จะจับมือกับพาร์ทเนอร์ ถ้าพร้อมก็จะนำตัวสินค้าเดิมที่จีนมาใช้ที่ไทย ส่วนโรงงาน 24M โรงงานต้นแบบขนาด 30 MWh ต่อปี ภายใต้แบรนด์ G-Cell ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่กึ่งเหลวกึ่งแข็ง เทคโนโลยีแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังมีไลน์ผลิตที่เป็น Commercial ที่ Exxiva ในจีน 2.2 GWh ต่อปี
ทำอุปกรณ์ชาร์จเคลื่อนที่
Nuovo Plus จะเป็น Battery Solution Provider ที่จะผลิตแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งบริการหลังการขายได้แบบครบวงจร นอกจากนี้ ยังได้ทำ EPlvs อุปกรณ์กักเก็บและชาร์จพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบเคลื่อนที่อัจฉริยะ (Mobile Energy Storage Charging) ทำหน้าที่เสมือนเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่
โดยสามารถใช้เป็นสถานีชาร์จด่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีจุดเด่นที่เครื่องชาร์จนี้สามารถเคลื่อนที่ไปหาผู้ใช้บริการได้โดยใช้จอยสติกควบคุมการเคลื่อนที่ เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานสถานีชาร์จจากเดิมที่รถต้องวิ่งเข้าหาเครื่องชาร์จ ไปสู่การที่เครื่องชาร์จเคลื่อนที่ไปหารถ ช่วยแก้ปัญหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงพอ หรือในบางสถานที่ไม่สามารถติดตั้งสถานีชาร์จ ก็สามารถนำ EPlvs ไปให้บริการแบบเคลื่อนที่ได้ หรือทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ EV มีพลังงานไม่เพียงพอจะขับเคลื่อนไปต่อ ก็สามารถนำ EPlvs เคลื่อนที่ไปเติมพลังงานไฟฟ้าให้ EV ได้ทันที
และยังมี Gendome Home 3000 อุปกรณ์กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบเคลื่อนที่ได้ (เพาเวอร์แบงก์) สำหรับบ้านหรือกิจกรรมกลางแจ้ง เปรียบเสมือนแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าติดตัวไปได้ทุกที่ ด้วยความจุแบตเตอรี่ที่สูงถึง 3 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถจ่ายไฟให้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้เกือบทุกชนิด และยังมีระบบชาร์จไร้สาย (Wireless Charging) ติดตั้งอยู่ในตัว
พร้อมปลั๊กไฟแบบ Universal รองรับการชาร์จไฟกลับเข้าเครื่องด้วยไฟบ้านธรรมดาที่เร็วที่สุดในตลาดแบตเตอรี่สำรองแบบพกพาใช้เวลาเพียง 50 นาที เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ชอบท่องเที่ยวและสายแคมปิ้ง เพียงนำเครื่องนี้ติดรถไปด้วยก็สามารถใช้ไฟฟ้าได้เสมือนอยู่ที่บ้าน