WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเตือน 8 ปัจจัยก่อวิกฤตการเงินโลกรอบใหม่ในปี 2558

                        โลซานน์, สวิตเซอร์แลนด์--7 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

     อาร์ทูโร บริส ศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่งโรงเรียนธุรกิจไอเอ็มดี (IMD Business School) และผู้อำนวยการศูนย์ศักยภาพการแข่งขันโลก (World Competitiveness Center) คาดการณ์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ และขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตดังกล่าว บริสกล่าวโดยอ้างอิงสถิติว่า วิกฤตการเงินโลกอาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงปีซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2558 และสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2559 โดยเขาระบุว่าสาเหตุของวิกฤตอาจจะมาจาก 8 สถานการณ์ที่เป็นไปได้ดังต่อไปนี้:

 1. ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น

      ในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามความเป็นจริง และ ณ จุดหนึ่ง สถานการณ์จะปะทุขึ้น นักวิเคราะห์ต่างผิดหวังกับไตรมาสแรกของปี 2557 เนื่องจากผลประกอบการที่ไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด นั่นหมายความว่า หากตลาดหวนกลับไปสู่ระดับที่สมเหตุผลตามผลประกอบการ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงระหว่าง 30-35%

 2. ภาคธนาคารของจีน

     วิกฤตที่รุนแรงอาจจะได้รับแรงผลักดันจากการขยายตัวของภาคธนาคารเงาของจีน ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบไปด้วยเงินกู้ที่ส่วนใหญ่ปล่อยกู้ให้กับสถาบันของรัฐบาลที่ไม่มีการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างดีพอ และไม่เปิดให้มีการแข่งขัน หากระบบดังกล่าวล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก

3. วิกฤตพลังงาน

     สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตพลังงาน โดยหากสหรัฐเริ่มส่งออกพลังงานไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก รัสเซียอาจรู้สึกว่าถูกคุกคาม ซึ่งจะนำไปสู่พายุความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ สหรัฐอาจจะควบคุมราคาพลังงาน และอาจจะใช้อิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร อินเดีย และญี่ปุ่น

4. ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์

    มีความเสี่ยงที่ภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะก่อตัวขึ้นในหลายประเทศ เช่น บราซิล จีน แคนาดา หรือเยอรมนี เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์กำลังปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมาก และผู้ซื้อกำลังผลักดันให้ราคาปรับตัวขึ้นโดยไม่ได้ตระหนักถึงความสอดคล้องกับมูลค่าพื้นฐาน

5. การจัดอันดับเครดิตและการล้มละลาย: BBB เทียบได้กับ AA”

     ปัจจุบันหลายบริษัทมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และบรรทัดฐานใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือการมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB สำหรับในสหรัฐนั้น มีเพียง 3 บริษัทที่ยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ได้แก่ เอ็กซอนโมบิล ไมโครซอฟท์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน หากอันดับความน่าเชื่อถือคือดัชนีชี้วัดการล้มละลาย การล้มละลายก็คงจะเกิดขึ้นทั่วทั้งกระดาน และหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% ครึ่งหนึ่งของภาคธุรกิจก็อาจจะสูญหายไป

6. สงครามและความขัดแย้ง

      ในเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกเว้นบางส่วนของยุโรปและในสหรัฐอเมริกา มีความตึงเครียดทางการเมืองมากขึ้น เหตุการณ์ที่คล้ายกับวิกฤตปัจจุบันในไครเมียอาจจะนำไปสู่การทรุดตัวลงของตลาด ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดสงครามก็ตาม

7. ความยากจนเพิ่มขึ้น

    ความยากจนได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และเมื่อใดก็ตามที่คนจนยากจนลงอีก เราก็สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งทางสังคมตามไปด้วย นอกจากนี้ การต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้อาจจะขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการขยายตัว ด้วยเหตุที่มีการลดผลประโยชน์ในด้านนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ

8. เงินสดและเงินเฟ้อขั้นรุนแรง

      ปริมาณเงินสดส่วนเกินที่ธนาคารกลางและบริษัทต่างๆถือครองอยู่นั้น อาจนำไปสู่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กำลังปล่อยเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินที่นำเงินดังกล่าวกลับมาฝากไว้ที่อีซีบี ซึ่งถือเป็นวงจรอุบาทว์ ขณะที่ในปัจจุบัน กูเกิลสามารถเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์ได้ และไมโครซอฟท์สามารถซื้อหุ้นได้มากกว่า 50% ของสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรม

     แม้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศกำลังฟื้นตัวนับตั้งแต่เกิดวิกฤตในปี 2551 แต่เรายังไม่ควรชะล่าใจ บริสกล่าว “บ่อยครั้งมากที่เราไม่ได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และไม่มีการดำเนินการเมื่อเผชิญกับวิกฤตที่เรารู้ว่าใกล้จะเกิดขึ้น”

      อาร์ทูโร บริส เป็นศาสตราจารย์ด้านการเงินที่โรงเรียนธุรกิจไอเอ็มดี และผู้อำนวยการศูนย์ศักยภาพการแข่งขันโลก เขาเป็นผู้บรรยายคนสำคัญในโปรแกรม Orchestrating Winning Performance ของไอเอ็มดี ที่ซึ่งเขาได้เปิดเผยการคาดการณ์ของตนเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต

ติดต่อ: ไมเคิล ซาเวจ

บรรณาธิการและเจ้าหน้าที่สื่อมวลชนสัมพันธ์

โทร: +41-21-618-0453

อีเมล: michael.savage@imd.org

แหล่งข่าว: ไอเอ็มดี อินเตอร์เนชั่นแนล

                        บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด 888/178 อาคารมหาทุนพลาซ่า ชั้น 17  ถ.เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 02-253-5000 อีเมล: mr@infoquest.co.th   เว็บไซต์ www.infoquest.co.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!