WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaa2Asme

BOI กับการส่งเสริมฯ 'SMEs ไทย' อัศวินม้าขาว ปี 63 ท่ามกลางวิกฤตโควิด

      สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้สรุปภาวะการลงทุนปี 2563 ว่ามีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นคือ ปี 2562 มูลค่าการลงทุนก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน ถ้าไม่นับรวมโครงการที่มีขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่  อีอีซี ซึ่งยื่นขอรับส่งเสริมเมื่อปี 2562 อย่างไรก็ดี ถึงแม้มูลค่าจะลดลงไปเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และจากการระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อดูในแง่จำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 12 โดยมีจำนวน 1,717 โครงการ

     ประเด็นน่าสนใจสำหรับภาวะการลงทุนปีที่ผ่านมาคือ กิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ามีการขอรับส่งเสริมจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคือปี 2562 ร้อยละ 20 มูลค่าลงทุน 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผ้า หรือเส้นใยชนิดต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงขึ้นมาก เป็นการเติบโตที่สอดคล้องไปกับมาตรการของบีโอไอที่ให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็วในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด

    นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีจากการลงทุนที่เป็นกิจการของคนไทยทั้งสิ้น ได้ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีมูลค่าลงทุน 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 และหากจะคิดเป็นสัดส่วนโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวนถึงร้อยละ 42 ของจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมทั้งหมดตลอดปี 2563 ส่วนด้านมูลค่าลงทุนมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก จึงอาจจะกล่าวได้ว่า นักลงทุนไทยและรวมถึง SMEs ไทย คืออัศวินม้าขาวของระบบเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาก็คงจะไม่เป็นคำพูดที่เกินจริงนัก

    ที่ผ่านมา บีโอไอได้ออกมาตรการพิเศษให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด รวมทั้งให้ครอบคลุมทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ซึ่งเราพูดถึงผู้ประกอบการไทยกันมาตลอด วันนี้จึงขอหยิบยกมาตรการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs มาขยายความให้ฟัง

     มาตรการส่งเสริม SMEs ของบีโอไอได้ผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการลงเพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5 แสนบาท จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) การอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้ จากปกติที่กำหนดให้เป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นกิจการที่คนไทยถือหุ้นข้างมากไม่น้อยกว่า  ร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และต้องมีรายได้ของกิจการรวมทั้งที่ได้บีโอไอและไม่ได้บีโอไอไม่เกิน 500 ล้านบาทใน 3 ปีแรก ทั้งนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในกิจการกลุ่ม A ร้อยละ 200 ของเงินลงทุน ได้รับยกเว้นอากรขาเขาเครื่องจักรและวัตถุดิบ เป็นต้น

    นอกจากนี้ กิจการ SMEs ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก หากเข้าไปลงทุนในพื้น 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม หรือลงทุนในพื้นที่ SEZ

     ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564

     ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะสะดุดจากโควิด-19 การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอาจยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่การเร่งสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว ให้ขยายการลงทุนต่อ น่าจะเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนเช่นบีโอไอ ผ่านมาตรการใหม่ๆ   ที่ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ทางออก SMEs ไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19
      การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นของแต่ละประเทศ ถือเป็นวิกฤตที่ทำให้ระบบ อุปสงค์ อุปทาน ระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนโดยรวมของโลกเกิดการชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งมีสายป่านสั้นกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ หน่วยงานภาครัฐหลายองค์กรจึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้
     สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง 'ทางออก SMEs ไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับตัวของผู้ประกอบการหลังวิกฤตโควิด-19

       นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ความต้องการสินค้าและบริการเกิดการชะลอตัว ดังนั้นการเพิ่มกำลังการผลิตจึงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญ คือการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อทำให้กระบวนการผลิตสินค้ามีประสิทธิภาพดีขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการหลังจบวิกฤตการณ์ครั้งนี้

       ที่ผ่านมา บีโอไอได้ให้สิทธิประโยชน์หลายด้านแก่ผู้ประกอบการ จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี แต่ละปี มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม ที่มีขนาดการลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการ SMEs คิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนโครงการทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยบีโอไอได้มีการปรับปรุงมาตรการและเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อให้ SMEs เข้าถึงมาตรการของบีโอไอได้ง่ายขึ้น โดยคุณสมบัติของ SMEs ที่บีโอไอให้การส่งเสริมต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน มีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีแรก โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500,000 บาท ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ได้แล้ว จากเกณฑ์ปกติทั่วไปต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

        ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขข้างต้น สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs โดยจะได้สิทธิประโยชน์พื้นฐาน คือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี (ตามประเภทกิจการ) การเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเงินลงทุน การได้รับยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร และการยกเว้นอากรวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น

บีโอไอยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ (1) การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (2) การสนับสนุนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร (3) ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศ (4) การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และ (5) การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น การเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 3 เท่า สำหรับเงินลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหากมีการตั้งกิจการในพื้นที่ที่กำหนด เช่น หากตั้งกิจการใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปีจากสิทธิพื้นฐาน หรือหากตั้งกิจการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ จะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะอาศัยวิกฤตโควิดครั้งนี้ เตรียมองค์กรให้พร้อมรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต โดยมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มี 5 ด้าน ได้แก่

1. การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการนำระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีใหม่มาใช้ 
3. การวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ 
4. การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่ระดับสากล เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (FSC) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (ISO 22000) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน (ISO 14061) หรือ SFM เป็นต้น 
5. การนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในโครงการ

      สำหรับสิทธิประโยชน์ของมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ผู้ประกอบการจะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในการปรับปรุง ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนธันวาคม 2563

“จากวิกฤตครั้งนี้ เราจะเห็นว่ากิจการหลายแห่งได้นำระบบดิจิทัล ไอทีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือว่าเข้าข่ายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่สามารถมาขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอได้ หรือบางบริษัทมีการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งบีโอไอให้การส่งเสริมเช่นเดียวกัน หัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตก็คือการปรับตัว” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

      ทั้งนี้ บีโอไอยังได้ทำงานสอดประสานกับสถาบันการเงินของรัฐที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ ทั้ง SME D Bank และ EXIM BANK ที่มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อสำหรับ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤต ดังนี้

    นายกันตพนธ์ แก้วมณี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ธนาคารมี 5 แนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือ “ลด พัก ขยาย ผ่อน และเพิ่ม” โดย ลด คือการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี สำหรับผู้ประกอบการใน 22 จังหวัดท่องเที่ยว พัก คือการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นานสูงสุด 2 ปี ขยาย คือการขยายเงื่อนไขการชำระหนี้ สูงสุด 5 ปี ผ่อน คือการพิจารณาผ่อนผันอัตราการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ เพิ่ม คือ เพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยให้วงเงินสินเชื่อซอฟท์โลน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี รวมวงเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท

      SME D Bank เห็นว่า วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ คือการเติมความรู้ เพิ่มรายได้ และขยายตลาด ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดนอกจากมีมาตรการด้านสินเชื่อแล้ว ธนาคารได้เปิดห้องเรียนออนไลน์ รวม 24 หลักสูตร เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ รวมทั้งเปิดช่องทางให้ค้าขายและขยายธุรกิจผ่านตลาดออนไลน์ “ฝากร้านฟรี SME D Bank” ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามพันธกิจของธนาคารที่มุ่ง “เติมทุน คู่ความรู้ เพื่อช่วยเหลือ SMEs”

       ด้านนายอนุชิต วิทยบูรณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรและสำนักงานผู้แทน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเช่นเดียวกันว่า EXIM BANK มีพันธกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการทำการค้า สนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศ โดยการให้สินเชื่อ และการให้หลักประกันในการส่งออก ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือพิเศษ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก มาตรการลดภาระในการชำระหนี้ มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการลดภาระผู้ส่งออกไทยสู้ภัยไวรัสโคโรนา สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เป็นต้น

       “วิกฤตโควิดครั้งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เช่น การทำงานที่บ้าน การเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ รวมถึงซัพพลายเชนของโลก ถูกแทนที่ด้วยซัพพลายเชนในระดับภูมิภาค เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ระบบขนส่ง โลจิสติกส์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ มีขนาดการบรรจุน้อยลง รวมถึงระบบการค้าที่เป็นออนไลน์ แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น” นายอนุชิตกล่าว

       ขณะที่นายสมเจตน์ ปัญจวัฒนางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์ ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ตัวจริงที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยได้รับการส่งเสริมจาก บีโอไอ ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กล่าวว่า ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของบีโอไอในปี 2562 เนื่องจากต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานภายในโรงงาน ซึ่งบริษัทมีเงินทุนสำหรับติดตั้งได้ 50 กิโลวัตต์ แต่จากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบีโอไอ ทำให้บริษัทสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 314 กิโลวัตต์ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 5 - 6 หมื่นบาทต่อเดือน สามารถนำเงินไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจด้านอื่นๆ ได้ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มาก

    “จากความคิดที่ว่าการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ มีความยุ่งยากนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีความยุ่งยากอย่างที่คิด บีโอไอมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ เพราะฉะนั้นจึงหมดประเด็นเรื่องความกลัวสำหรับธุรกิจ SMEs ในการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ” นายสมเจตน์กล่าว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้สิทธิประโยชน์จากการใช้มาตรการของบีโอไอเพื่อสร้างแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันในโลกยุคใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และ บีโอไอพร้อมเป็นกองหนุน ติดอาวุธให้ SME ไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!