WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TOTlogoTOT ลุยกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จ้างกุนซือก่อนระดมเงิน เผยบอร์ดยื้อฟ้องกสทช.

      แนวหน้า : นายมนต์ชัย หนูสง รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กล่าวถึง ความคืบหน้าในการเป็นเจ้าภาพ ในการทำโครงการท่อร้อยสาย เพื่อนำสายโทรคมนาคมลงดิน ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเช่าใช้ ว่า ได้เสนอแนวทางในการลงทุนเพื่อให้ คณะกรรมการบริษัทรับทราบแล้วว่าจะทำในรูปแบบ กองทุนรวม โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในรูปแบบที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่ง กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการ ทำให้ไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบแล้ว

     อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ฝ่ายบริหารจะดำเนินการร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) เพื่อจ้างที่ปรึกษาในการให้คำปรึกษาในการจัดทำกองทุนรวม เพื่อเสนอให้ คณะกรรมการบริษัทพิจารณาในการประชุมครั้งหน้าในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้สรรหา ที่ปรึกษาให้ได้ภายในเดือน มี.ค. 2559 และสามารถจัดตั้งกองทุน และเริ่มระดมทุนได้ช่วงปลายปี 2559 จากนั้นจึง เริ่มสร้าง คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี ในการสร้างท่อร้อยสาย เมื่อโครงการเสร็จจะทำให้ทีโอทีมีรายได้ปีละ 1,000 ล้านบาท

     สำหรับ เงินทุนตั้งต้นในการจัดตั้งกองทุนนั้น ทีโอทีจะใช้กระแสเงินสดที่คาดว่า จะมีรายได้ในอนาคตนำเข้ากองทุนก่อน ส่วน กสท โทรคมนาคม จะนำกระแสเงินสด หรือ ทรัพย์สินท่อร้อยสายที่มีอยู่ก็ต้องขึ้นอยู่กับ กสท โทรคมนาคม ซึ่งต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง โดยการระดมทุนในครั้งแรก ทีโอที ต้องการเงินเริ่มต้นประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการนำเสาโทรคมนาคมที่อยู่ติดกับ เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลงดิน

    ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการนี้ต้องดำเนินการตามแผนของกฟน.ที่ได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการนำสายไฟฟ้าลงดินจำนวน 261 กิโลเมตร ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลก่อน ไม่เช่นนั้นเมื่อ กฟน.นำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว สายโทรคมนาคมที่พาดอยู่บนเสาเดียวกันจะไม่มีที่ให้พาด เพราะกฟน.ต้องโค่นเสานั้นๆ ทิ้ง ซึ่งในทางเทคนิคของการสร้างท่อร้อยสายให้สายโทรคมนาคมทีโอทีต้องสร้างจำนวน 2,610 กิโลเมตร จากนั้นจะขยายไปทั่วประเทศ

    นายมนต์ชัย กล่าวว่า ความคืบหน้า เรื่องการหาพันธมิตรทางธุรกิจในกลุ่มโทรศัพท์มือถือ 3G คลื่น 2100 MHz นั้น ขณะนี้ทางฝ่ายบริหารได้บริษัทที่จะเข้ามา เป็นพันธมิตรแล้ว แต่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีวาระนี้บรรจุไว้ จึงต้องรอดูว่าในการประชุมครั้งหน้าจะมีวาระดังกล่าวบรรจุเข้าไปในที่ประชุมหรือไม่ ขณะที่การเจรจาหาข้อยุติคดีพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ก็ใกล้ได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจแล้ว เช่นกัน

    ส่วนประเด็นการฟ้องหรือไม่ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เกี่ยวกับคลื่น 900 MHz หรือไม่นั้น คณะกรรมการบริษัท ยังไม่ลงมติ แต่ได้ให้ฝ่ายบริหารหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงสิทธิ์ในการใช้งานคลื่น 900 MHz จนถึงปี 2568 ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!