WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 01:39 น. ข่าวสดออนไลน์


อภิมหาโปรเจ็กต์'คสช.'กับ'2 ล้านล้าน'รัฐบาลปู

คอลัมน์ รายงานพิเศษ เศรษฐกิจ
 
     สมัยที่'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร'เป็นผู้นำรัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท หวังจะใช้เป็น อภิมหาโปรเจ็กต์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยาวนานต่อเนื่อง 7 ปี ระหว่างปีพ.ศ. 2556-2562
     และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือ'ฮับ'การคมนาคมของอาเซียน
     แต่ไปไม่ถึงฝัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขัดต่อรัฐธรรมนูญ
     พร้อมกับการถูกคัดค้านจากการเมือง-ม็อบฝ่าย ตรงข้าม
     โดยเฉพาะโครงการ'รถไฟฟ้าความเร็วสูง'
     ถึงขนาดที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านกล่าวในคำวินิจฉัยว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับเมืองไทย และควรทำถนนลาดยางให้หมดประเทศเสียก่อน
     กระทั่ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์เผชิญวิบากม็อบ ตัดสินใจ ยุบสภาฯ และถูกขัดขวางจนไม่สามารถเลือกตั้งใหม่ได้
     ท้ายที่สุด เกิดรัฐประหาร เมืองไทยได้ ผู้นำคนใหม่ คือ'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา'หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
     หนึ่งในแนวคิดของคสช. คือ กำหนดแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ เช่นเดียวกับสมัยยิ่งลักษณ์
     พร้อมเพิ่มงบฯ ลงทุนจาก 2 ล้านล้านบาท เป็น 2.4 ล้านล้านบาท
     และแผนดังกล่าวก็ผ่านฉลุย โดยไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่แอะเดียว!!!
     ซึ่งหากเจาะดูเนื้อในของแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศในยุคคสช. แล้ว
     น่าสนใจว่า ใกล้เคียงกับโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลที่แล้วอย่างยิ่ง!??
     เทียบฟอร์ม 2 ยุค - 2 โปรเจ็กต์
     หากเปรียบเทียบความเหมือนและต่างของ 2 โปรเจ็กต์ ในยุค 2 ผู้นำ
     สิ่งที่เหมือนกันชัดเจนคือเจตนารมณ์มุ่งหวังพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ ให้สอดรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในและนอกประเทศ สร้างแต้มต่อด้านการแข่งขันให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยสู้ศึกในเวทีเออีซี และการค้าโลกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
     ส่วนที่ต่างกันชัดเจนคือแหล่งที่มาเงินลงทุน สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ออกกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินทั้งก้อน
     แต่สมัย คสช.เปิดกว้างให้หาทุนจาก 5 แหล่ง คือ
     1.งบประมาณ 2.รายได้จากรัฐวิสาหกิจ 3.เงินกู้ ตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 4.การร่วมทุนระหว่างรัฐ และเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน (พีพีพี) และ 5.แหล่ง เงินทุนอื่นๆ เช่น กองทุนอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ หรือการออกพันธบัตรฯ เป็นต้น
     แต่ต้องตามดูว่า สุดท้ายแล้วจะเลือกหาเงินจากไหน เหมือนหรือต่างจากรัฐบาลที่แล้วหรือไม่...อย่างไร!??
    ส่วนแผนลงทุนก็แตกต่างกันเล็กน้อยขยายเพิ่มจาก 7 ปี เป็น 8 ปี
    วงเงินลงทุนเพิ่มจาก 2 ล้านล้านบาท เป็น 2.4 ล้านล้านบาท
    ยุคคสช. การลงทุนครอบคลุมครบ 4 ด้าน ทั้งถนน ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ขณะที่ยุครัฐบาลที่แล้วไม่มีการลงทุน ด้านอากาศ
    ความต่างสุดท้ายที่อาจจะบอกว่าต่างก็ไม่เชิงนัก เรียกว่าเป็น "แฝดคนละฝา" จะดีกว่า!??
    คือ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือ "ไฮสปีดเทรน"
    ยุคที่แล้วโดนคัดค้านด้วยข้อหาว่าไม่มีความจำเป็น หรือเป็นการลงทุนแบบไม่คุ้มค่า
    ขณะที่แผนฯ ปัจจุบันมีโครงการ "รถไฟทางคู่แบบขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า"
    ระหว่างรถไฟทางคู่ฯ กับไฮสปีดเทรน แทบเป็น "ฝาแฝด" กัน ต่างกันที่เส้นทางวิ่งและปรับจาก 4 เส้นเหลือ 2 เส้น
    ความเร็วของหัวรถจักรของเดิม 200 ก.ม./ชั่วโมง ของใหม่ วิ่งได้ 160 ก.ม./ชั่วโมง
    แต่...กระทรวงคมนาคม แบะท่าไว้ว่าหากในอนาคตจะเพิ่มความเร็วเกิน 200 ก.ม./ชั่วโมงก็ทำได้สบายๆ เนื่องจากใช้รางมาตรฐานเดียวกัน!??
    ส่วนงบประมาณเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูงในรัฐบาลที่แล้ว 4 เส้นทางอยู่ที่ราวๆ 7.8 แสนล้านบาท
    ส่วนของใหม่ 2 เส้นทาง งบประมาณอยู่ที่ราวๆ 7.4 แสน ล้านบาท
    ขณะที่การลงทุนอื่นๆ เช่น สร้างเครือข่ายถนน รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกทม.-ปริมณฑล รถไฟรางคู่ รถขนส่งขสมก. ฯลฯ
    ทั้ง 2 ยุคแตกต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น!??
 
เจาะโครงการของ'คสช.'
     สําหรับ แผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศยุค คสช. ซึ่งได้ไฟเขียวแล้ว เป็นแผนระยะยาว 8 ปี แบ่งออกเป็น 5 แผนงานสำคัญ
    แผนงานที่ 1 คือโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองวงเงิน 6.7 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร เชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมทั้งสิ้น 6 เส้นทาง วงเงิน 127,472 ล้านบาท
    ประกอบด้วย 1.สายชุมทางจิระ-ขอนแก่น 185 ก.ม. วงเงิน 26,007 ล้านบาท 2.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 ก.ม. วงเงิน 17,293 ล้านบาท 3.สายนครปฐม-หัวหิน 165 ก.ม. วงเงิน 20,038 ล้านบาท
     4.สายมาบกะเบา-นครราชสีมา 132 ก.ม. วงเงิน 29,855 ล้านบาท 5.สายลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 ก.ม. วงเงิน 24,842 ล้านบาท และ 6.สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 ก.ม. วงเงิน 9,437 ล้านบาท
     โครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐานความกว้าง 1.435 เมตร ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าหรือไฮสปีดเทรนเดิม จำนวน 2 เส้นทาง วงเงิน 741,460 ล้านบาท
      'สายอีสาน'หนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 ก.ม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท และ "สายเหนือ" เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 ก.ม. วงเงิน 348,890 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2558-2564
     กำหนดใช้ขนส่งผู้โดยสารด้วยความเร็ว 160 ก.ม./ชั่วโมง และขนสินค้าใช้ความเร็ว 120 ก.ม./ชั่วโมง
     โดยใช้สถานีบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างสายเหนือ- อีสาน และอนาคตเล็งสร้างลงใต้ยาวไปถึง ปาดังเบซาร์ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจากจีนที่จะวิ่งผ่านสปป.ลาว เข้าไทย ทะลุไปมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
 
'ถนน-ราง-น้ำ-อากาศ'ครบ
      แผนงานที่ 2 โครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล วงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท ได้แก่ โครงการจัดซื้อประจำทางเชื้อเพลิงเอ็นจีวีจำนวน 3,185 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
     โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 10 สายทางคือ 1.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย) 2.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) 3.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง)
     4.สายสีม่วง ส่วนเหนือ-ใต้ (บางใหญ่-บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ) ในส่วนด้านเหนือคือ บางใหญ่-บางซื่อ 5.สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู) 6.สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ-พุทธมณฑล สาย 4)
     7.สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 8.สายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) 9.สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-พัฒนาการ-สำโรง) และ 10.สายสีเขียวอ่อน (ยศเส-สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน-บางหว้า)
     นอกจากเป็นโครงการก่อสร้างโครงข่ายถนนและ สะพานในกทม.และปริมณฑล เป็นต้น
     แผนงานที่ 3 โครงข่ายทางหลวงเพื่อเชื่อมโยง ฐานการผลิตของประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านวงเงิน 6.4 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการสร้างถนนให้สามารถเข้าถึงพื้นที่การเกษตรและท่องเที่ยว, เชื่อมโยงถนนระหว่างเมืองหลักและระหว่างฐานการผลิตหลักของประเทศ
    เชื่อมโยงประตูการขนส่งระหว่างประเทศ และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางถนนและองค์ประกอบต่อเนื่องเพื่อให้เกิดระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นต้น
    แผนงานที่ 4 โครงข่ายการขนส่งทางน้ำวงเงิน 1 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้าง ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 2 โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก
    และ แผนงานที่ 5 โครงข่ายเพิ่มขีดความสามารถการ ขนส่งทางอากาศ วงเงิน 8.9 หมื่นล้านบาท ได้แก่โครงการ ขยายการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส ดอนเมือง ภูเก็ต และ อู่ตะเภา
    โครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการจัดจราจรทางอากาศให้ได้มาตรฐาน การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน
 
กำหนดแผนเร่งด่วน
    เพื่อผลักดันให้แผนงานตามยุทธศาสตร์เกิดขึ้นโดยเร็ว คสช. สั่งให้จัดทำแผนพัฒนาระยะเร่งด่วน เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2557-2558 วงเงินรวม 1.08 แสนล้านบาท โดยให้ตั้งคณะทำงานร่วมมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธาน เร่งพิจารณาเพื่อจัดสรรเงินลงทุนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลัง คสช.อนุมัติแผน
     โครงการเร่งด่วน ประกอบด้วยก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง จ.ระยอง และท่าเรือปากบารา จ.สตูล โครงการขยายการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และอู่ตะเภา
     โครงการรถไฟฟ้า 4 เส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คือ สายสีเขียว ช่วงสะพานใหม่-คูคต 7 ก.ม. และหมอชิต-สะพานใหม่ 11.4 ก.ม. ที่อยู่ระหว่างรอประกวดราคา
     สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 20 ก.ม. อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 36 ก.ม. และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พัฒนาการ 30.4 ก.ม. อยู่ระหว่างรอให้ คสช.อนุมัติโครงการ
    ส่วนรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทาง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือ เส้นทาง 1.บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน 25.5 ก.ม. 2.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท-ดอนเมือง 21.8 ก.ม. ขณะนี้เตรียมพร้อมประกวดราคา
    3.ส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10.3 ก.ม. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาแผนการลงทุน
    และท้ายที่สุดคือโครงการรถไฟทางคู่จำนวน 3 เส้นทางนำร่อง คือ 1.สายชุมทางจิระ-ขอนแก่น 2.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และ 3.สายนครปฐม-หัวหิน
 
ต้องจับตาดูกันยาวๆ
     ทั้งหมดนี้ คือ แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุด และ ใช้เงินลงทุนมหาศาลที่สุด
     หากทำสำเร็จจะพลิกโฉมประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมของอาเซียนอย่างแท้จริง เพราะหากดูภูมิศาสตร์ประเทศไทยแล้วถือว่าเป็นจุดที่ดีที่สุดในจำนวน 10 ประเทศอาเซียน
     ประเทศไทยมีแนวเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลาย ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์, สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งยังสามารถทะลุผ่านสปป.ลาว ไปยังประเทศจีน ได้สบายๆ
     ส่วนโครงการนี้จะทำสำเร็จตามเป้าหมายใน 8 ปีหรือไม่ และแผนงานไหนต้องปรับเปลี่ยนไปตามรัฐบาลอื่นๆ ที่จะมา ในอนาคตหรือไม่ ต้องตามดูกันยาวๆ
     เนื่องจากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา...โครงการระยะยาวและมีเงินทุนมหาศาลขนาดนี้...อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทั้งนั้น!...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!