WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CBธนวรรธน พลวชย copy copyม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ที่ 82.2 สูงสุดในรอบ 62 เดือน

     ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ 82.2 จาก 81.3 ในเดือน มิ.ย.61 โดยปรับตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน

      ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.1 จาก 67.9 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 77.3 จาก 76.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 100.2 จาก 99.5

      "ดัชนี ปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเรื่องการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต"ศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุ

        ปัจจัยบวกมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติคงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี, การส่งออกในเดือน มิ.ย.61 ขยายตัว 8.19%, พืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า

       ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว รวมทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในต่างประเทศ

      นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนทุกรายการ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นมาก เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตแตะระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเห็นว่าราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายจังหวัดให้ปรับตัวดีขึ้นได้

    การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากปรับตัวลดลงชั่วคราวในช่วง 2 เดือนที่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับจิตวิทยา คือ 30 บาท/ลิตร แต่หลังจากที่รัฐบาลส่งสัญญาณตรึงราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินกว่า 30 บาท/ลิตร ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

      "ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 62 เดือน จะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในอนาคต และจะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัด และหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 4.5%" นายธนวรรธน์กล่าว

        นอกจากนี้ ในการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ บ้านใหม่ และการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้ปรับตัวสูงขึ้นทุกรายการจากเดือน มิ.ย.61 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคตว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในการซื้อบ้านใหม่ และรถยนต์ใหม่ในอนาคต หรือช่วงประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้

       ขณะที่การสำรวจภาวะทางสังคมของผู้บริโภค พบว่า ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือนนับตั้งแต่ ก.ย.59 และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต ปรับตัวขึ้นไปใกล้เคียงระดับ 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมองสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพดีขึ้นในอนาคต จากการที่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งได้ในปี 62

        "จากการสำรวจจะพบว่า ภาวะค่าครองชีพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเชื่อว่ารายได้ในกระเป๋าจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในขณะที่ดัชนีความสุขปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี และดัชนีความคิดเห็นทางการเมืองก็ดีขึ้น ซึ่งเป็นเพราะประชาชนมองว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และคาดว่าจะเข้าสู่การเลือกตั้งได้แน่นอนในปี 62" นายธนวรรธน์ กล่าว

              อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!