WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

หอการค้าไทย ระบุ มาตรการสนับสนุนลดต้นทุนเกษตรกร-ภาษีคนจน ไม่ช่วยกระตุ้นศก.ระยะสั้น

       นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า มาตรการสนับสนุนเงินช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร และมาตรการคืนภาษีคนจน จะไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนระดับรากฐานเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นได้ แต่สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่า คือการใช้จ่ายภาครัฐที่สามารถนำเม็ดเงินอีดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ทันที นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นให้เร็วที่สุด

       นายธนวรรธน์ กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนเงินช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เนื่องจากเกษตรกรได้ลงทุนปลูกพืชไปก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรกรในตลาดโลกตกต่ำ อาทิ ยางพารา และข้าว ซึ่งทำให้ส่วนต่างที่เกษตรกรจะได้รับหลังการชดเชยต้นทุนจากรัฐไม่สูงมาก ดังนั้นการบริโภคจะไม่เร่งตัว แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากยังคงมีนโยบายดังกล่าวอยู่ จะสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ โดยรัฐบาลควรสนับสนุนเงินในการลดต้นให้กับเกษตรกรย้อนหลัง เพื่อใหัเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

     ส่วนมาตรการคืนภาษีคนจนนั้น ยังไม่มีประเทศไหนในโลกดำเนินการได้เต็มรูปแบบ และเชื่อว่าจะไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นได้ เพราะนโยบายยังไม่ชัดเจน และหากดำเนินการต้องใช้เวลาในการขึ้นทะเบียน บันทึกบัญชี และตรวจสอบรายได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินปีละ 70,000 บาท อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เมื่อดำเนินการจริง จะช่วยให้มีเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชนตามมา

    สำหรับ ทิศทางการค้าของโลกที่ยังซบเซาเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศเศรษฐกิจหลักยกเว้นสหรัฐฟื้นตัวช้า จะส่งผลให้การส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 1 -1.5 แต่ในช่วง 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ส่วนภาคท่องเที่ยวปีนี้ยังไม่ดีขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยและกฎอัยการศึก 

     อย่างไรก็ตาม การลงทุนของไทยยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยอังค์ถัด จัดอันดับไทยน่าลงทุนอันดับ 4 ในเอเชีย รองจากจีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย เนื่องจากมีความโดดเด่นในด้านการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเป็นศูนย์กลางเปิดเสรีการค้าในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีผลเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้าขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5

     ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทจนถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 32 -32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่าเทียบค่าเงินของญี่ปุ่น ยุโรป และจีนที่มีนโยบายให้เงินสกุลของตัวเองอ่อนค่า ซึ่งเงินบาทในระดับดังกล่าวยังส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!