WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คนไทยแห่กู้ ‘นอกระบบ’ พุ่งแตะ 44.3% ‘ครัวเรือน’แบกหนี้ท่วม

    แนวหน้า : 'ม.หอการค้าไทย'เปิดผลสำรวจพบ หนี้ภาคครัวเรือนพุ่งแตะ 2.2 แสนบาท/ครัวเรือน โดยหนี้ “นอกระบบ” ปรับตัวสูงขึ้นแซงหน้าหนี้ “ในระบบ” เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ประชาชนวอนรัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยเร่งด่วน รวมทั้งปัญหา “ของแพง” ลุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า แนะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

    นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจทัศนะของประชาชนต่อสถานการณ์ต่างๆ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาว่า ได้สุ่มกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,272 ตัวอย่าง พบว่า ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันดีกว่าครึ่งปีแรกและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประชาชนจำนวน 31.2% เชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยมาก และมีเพียง 4.9% ไม่เชื่อมั่นเลยต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย แต่อย่างไรก็ตามประชาชนก็ยังมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลให้ประชาชนเกิดการบริโภคไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพที่สูง ความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ รายได้ไม่เพิ่มขึ้น ภาวะหนี้ยังสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ

      ทั้งนี้ ในปัจจุบันปัญหาหลักที่ประชาชนพบยังเป็นเรื่องของหนี้สิน 24.6%, ราคาสินค้าแพง 21.1% ราคาพืชผลทางการเกษตรต่ำ 19.6%, ความไม่แน่นอนในงาน 18.7%, รายได้ไม่เพียงพอ 2.8% และอื่นๆ 2.8% โดยเฉพาะในปัญหาเรื่องของหนี้สินที่เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งจากเดือน ก.ค. 2557 ประชาชนมีเฉพาะหนี้นอกระบบ 37.2% แต่ภายในเวลาเพียง 3 เดือน คือในเดือน ต.ค. มีหนี้นอกระบบเพิ่มสูงเป็น 44.3% ส่วนหนี้ในระบบลดลงจาก 40% เป็น 26.3%

     “ปัจจุบันประชาชนเป็นหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 220,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5-6% จากยอดมูลค่าหนี้รวมของครัวเรือนที่ได้สำรวจในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เฉลี่ย 210,000 บาท โดยกลุ่มที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน อาทิ เกษตรกร ชาวนา กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจยังไม่ดี โดยจำนวนเงินหนี้สินของครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบ มีปริมาณสูงถึง 50.4% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ จำนวนหนี้นอกระบบ สูงกว่าหนี้ในระบบ”

     นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมองว่าการกู้หนี้นอกระบบไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่เลวเสียทีเดียว เพราะเป็นทางออกของคนที่กู้ในระบบไม่ได้ จะมีตัวเลือกได้หันไปกู้ยืมนอกระบบแทน เป็นการช่วยเสริมสภาพคล่อง ให้ในช่วงที่เดือดร้อน แต่ทั้งนี้รัฐควรต้องมีการดูแลไม่ให้มีปัญหาทวงหนี้โหด การข่มขู่ทำร้าย การฉวยโอกาสคิดดอกเบี้ยที่สูงมากจนเกินไป และควรให้มีการผ่อนผันอย่างมีคุณธรรม

    สำหรับ ทัศนะต่อนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุดคือ การแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัย, มาตรการควบคุมดูแลค่าครองชีพ, มาตรการลดต้นทุนให้ชาวนา และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ ตามลำดับ

     ส่วนนโยบายที่ประชาชนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ การปรับขึ้นค่า LPG ภาคขนส่ง, การอนุมัติสร้างหรือปรับปรุงสนามบิน 6 แห่ง, มาตรการงดทำนาปรัง 22 จังหวัด และการปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ตามลำดับ

   ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ 55.7% ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจมากที่สุดเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะในส่วนของหนี้สิน ค่าครองชีพ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีกว่าปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดูแลรักษาระดับรายได้ของคนไทย ดูแลแรงงานให้ได้รับความเป็นธรรม และต้องสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษา นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 38% มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาได้ในไตรมาสที่ 2/2558

    นอกจากนี้ในส่วนของหอการค้าไทยมองว่าในปี 2557 เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5-1.7% ในขณะที่การส่งออกทั้งปีน่าจะติดลบประมาณ 1% ส่วนเศรษฐกิจในปี 2558 น่าจะขยายตัวได้ที่ 4-5% เพราะการลงทุนของรัฐบาล

    “รัฐบาลต้องซื้อ ต้องใช้จ่าย ต้องลงทุน เพราะเป็นเพียงความหวังเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นได้เร็วที่สุด เพราะการส่งออกก็ไม่ดี เศรษฐกิจโลกไม่สดใส”

     นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจว่า ในปีนี้จะมีการกินเจสองรอบ โดยรอบที่สอง ระหว่างวันที่ 24 ต.ค.-1 พ.ย. 2557 นี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดมูลค่า 9,978 ล้านบาท ลดลงการใช้จ่ายจากรอบที่ 1 ที่มีมูลค่า 41,989 ล้านบาท เนื่องจากการกินเจในรอบที่ 2 มีคนที่จะกินเจลดลงเหลือเพียง 10%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!