WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.อยู่ที่ 79.4 ลดลงจากต.ค.ที่ 80.1 พร้อมหั่นเป้าจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.8%

 ม.หอการค้าไทย  เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.อยู่ที่ 79.4 ลดลงจาก ต.ค.ที่ 80.1 สอดคล้องดัชนีความเชื่อมั่น ศก.โดยรวมอยู่ที่ 68.8 ลดลงจาก ต.ค.ที่ 69.6 ล่าสุดหั่นเป้าจีดีพี 57เหลือโต 0.8%จากเดิม1.5-2% ขณะที่ดัชนีความสุขลดลงครั้งแรกรอบ 6เดือนนับจากพ.ค.57 เหตุ ศก.ฟื้นช้า-สินค้าแพง

  นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.อยู่ที่ 79.4 ลดลงจากเดือน ต.ค.ที่ 80.1 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.ปรับลดลงทุกรายการเนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก  

  ปัจจัยลบที่กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย.ได้แก่ 1.สภาพัฒน์หั่นประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือโต 1% จากเดิมคาด1.5-2% 2.ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 3.เงินบาทอ่อนค่า 4.ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่สูงขึ้น 5.กังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  

  "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.ปรับลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ในช่วงที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลวงเงิน 3.6 แสนล้านบาทยังไม่ได้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรทั้งข้าว และยางพาราอยู่ระดับต่ำ ตลอดจนการส่งออกและท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ " นายธนวรรธน์ ระบุ

  ปีนี้ยอมรับว่าสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำค่อนข้างมาก และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 40 ปี โดยเฉพาะในส่วนของราคาข้าว และยางพารา และมองว่าราคาสินค้าเกษตรจะทรงตัวในระดับไปจนถึงไตรมาส 3/2558

 "ราคาสินค้าที่ตกต่ำมาก เราแปลกใจแต่ไม่ได้สงสัยมาก แต่มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 40 ปี โดยราคาสินค้าเกษตรตกลงหลายรายการ อย่างตอนน้ำท่วม หรือเหตุการณ์ทางการเมืองแรงราคาสินค้าก็ไม่ได้ตกต่ำเท่านี้มาก่อน"นายธนวรรธน์ กล่าว   

 ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย.ราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยเฉพาะข้าวและยางพารารวมถึงภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรอยู่ในีระดับต่ำกำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ย.อยู่ที่ 68.8 ปรับลดลงจากเดือน ต.ค.ที่ 69.6โดย ประชาชนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามมองว่าเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ย.อยู่ในระดับปานกลาง

 "การที่ดัชนียังต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่สูงนัก เนื่อง จากผู้บริโภคกังวลความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่ ชัดเจน รวมทั้งระดับราคาสินค้าทางการเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ "นายธนวรรธน์ ระบุ

 สำหรับ ดัชนี ความเชื่อมั่นในครั้งนี้ ยอมรับว่า ปรับลดลงทุกรายการ แต่ไม่ได้มีข้อสงสัยอะไร เนื่องจากประธานหอการค้าจังหวัดส่งสัญญาญแบบเดียวกันว่า เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวล่าช้า แม้ค่าครองชีพในส่วนของราคาน้ำมันจะปรับลดต่ำลงก็ตาม เนื่องจากเม็ดเงินในกระเป๋าของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ

 นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมในอีก 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 80.6 จากเดือนก่อนที่ 81.1 เนื่องจากเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้ายังมีความเสี่ยงต่างๆรวมไปถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกด้วย

 ขณะที่ดัชนีความสุขของประชาชนในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลดลงตามความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจที่ลดลง โดยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 94.5จากเดือนก่อนที่ 96.7ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557

  สำหรับ การคาดหวังในความสุขในการดำรงชีวิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าอนาคตจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขในการดำรงชีวิตจะอยู่ในระดับมาก 25.3%ปานกลาง 51.3%และน้อยประมาณ 23.4%

  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวต่อว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปีนี้คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 0.8% จากเดิมที่คาด 1.5-2% เนื่องจากการกระตุ้นและการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจนั้น ดำเนินการได้ล่าช้า ขณะที่การบริโภคยังชะลอตัวค่อนข้างมาก เพราะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง  

 "เงินชาวนาที่คาดว่าจะได้เร็ว ก็มีการถูกตรวจสอบก่อนที่เม็ดเงินจะลงไปทันที ส่งผลให้มีเงินลงสู่ระบบล่าช้าออกไป ส่งผกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่"นายธนวรรธน์ กล่าว  

 นอกจากนี้ ยังมองว่า การบริโภคและเศรษฐกิจไทยจะไม่คึกคักไปจนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลง และส่งผลให้คนไทยประหยัดในเรื่องของราคาน้ำมันถึง 2,000 ล้านบาท แต่จากการสำรวจยังพบว่า ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเม็ดเงินในกระเป๋าของประชาชนยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก   

 นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และมีแรงกระตุ้นให้ขยายตัวได้นั้น ภาครัฐจะต้องดูแลในเรื่องของค่าครองชีพ ดูในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำ เร่งจ่ายเงินชาวนา รวมไปถึงการเร่งการลงทุนในโครงการก่อสร้างพื้นฐาน

 ส่วนจีดีพีในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่จะเรมกลับมาฟื้นตัวได้ถึง 4% เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ แต่ทั้งนี้หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้าและภาครัฐยังไม่สามารถลงทุนได้ตามแผนจะส่งผลให้จีดีพีโตได้เพียง 3% แต่หากได้ตามเป้าหมาย และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีจะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะโตได้ถึง 5%

    "เศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้คงต้องจับตาดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการบริโภคเป็นสำคัญ"นายธนวรรธน์ กล่าว  

    ด้านของการท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่4/2557 และจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในปีหน้า 

 สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.57 อยู่ที่ 79.4

     ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.57 อยู่ที่ 79.4 ลดลงจาก 80.1 ในเดือน ต.ค.57 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 68.8 ลดลงจาก 69.6 ในเดือนก่อนหน้า

   ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 73.1 ลดลงจาก 73.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.3 ลดลงจาก 97.0

    สำหรับ ปัจจัยบวกมาจากการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0% ต่อปี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ GDP ปี 58 ขยายตัว 3.5-4.0%

    ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 1.0% จากเดิม 1.5-2.0%, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

    นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนอาจยังไม่ฟื้นมากนักในระยะนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีการปรับตัวลดลงในทุกรายการ จากความกังวลสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรในอนาคตที่กำลังจะออกสู่ตลาดที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าครองชีพเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการในการควบคุมราคาสินค้า

    แต่ประชาชนยังคงเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินช่วยเหลือในการลดต้นทุนทางการเกษตรให้แก่ชาวนา 4 หมื่นล้านบาทนั้น ถ้าเม็ดเงินลงสู่ภาคประชาชนได้แล้วจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และการบริโภคจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามสถานการณ์ในเดือนถัดไปอีกครั้ง

    "ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีสัญญาณการทรุดตัว แม้ค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าจะไม่ได้สูงขึ้นมาก แต่กลุ่มตัวอย่างที่เราทำการสำรวจ เขากลับมองว่าข้าวของแพง มีเม็ดเงินอยู่ในกระเป๋าน้อย รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ตกลงไปหลายรายการ โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ที่ตกต่ำลงไปมากในรอบ 40 ปี เราไม่เคยประสบปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำขนาดนี้ ซึ่งทำให้เม็ดเงินไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้น้อย"นายธนวรรธน์ กล่าว

    พร้อมระบุว่า จากการที่รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเงินช่วยเหลือชาวนา จึงส่งผลให้เม็ดเงินลงไปถึงมือเกษตรกรและนำมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ช้า จุดนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตของผู้บริโภคลดลง ภาพในขณะนี้คือเศรษฐกิจซึมตัวค่อนข้างมาก เพราะความหวังว่าจะเห็นเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจนั้นยังไม่ชัดเจน กว่าเม็ดเงินจะลงไปได้ถึงมือเกษตรกรครบถ้วนอาจจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 58

   "เดือนธ.ค. คงยังไม่เห็นกระแสเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นในเดือนธ.ค. และช่วงปีใหม่อาจจะไม่ค่อยคึกคัก"นายธนวรรธน์ กล่าว

   อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.ทุกตัวจะปรับลดลง แต่ในส่วนของดัชนีการเมืองนั้นพบว่า ประชาชนมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และจากดัชนีคาดการณ์การเมืองในอนาคตยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจมา 103 เดือน ดังนั้น จุดนี้น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน เพราะสิ่งสำคัญคือถ้าประชาชนมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพและนิ่งได้ ประกอบกับรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบได้เพียงพอ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมที่จะฟื้นตัวขึ้นได้

   ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ เห็นว่า ในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทดแทนภาคการส่งออกได้มากนัก เนื่องจากการท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นตัวเฉพาะในแถบทะเลอันดามันเท่านั้น คาดว่าการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนราวไตรมาส 1/58 ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการคือเร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น

   อย่างไรก็ดี ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ไม่ถึง 1% โดยอาจจะอยู่ที่ 0.8% เท่านั้น สำหรับปี 58 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4% แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเศรษฐกิจโลกต้องฟื้นตัว หากไม่เป็นเช่นนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะเหลือเติบโตได้เพียง 3% แต่หากได้ปัจจัยทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และรัฐบาลสามารถอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตได้ 4-5% ขณะที่คาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะเติบโตได้ 4%

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!