WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค.ที่ 81.1 สูงสุดรอบ 18 เดือน

   ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค.57 อยู่ที่ 81.1 จาก 79.4 ในเดือน พ.ย.57 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 18 เดือน หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก

   ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 70.5 จาก 68.8 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.6 จาก 73.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 จาก 96.3

   ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, การจัดงานลดราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศช่วยทำให้เกิดการตื่นตัวในการจับจ่ายใช้สอย

   ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ลดคาดการณ์ GDP ปี 57 เหลือ 0.8% จากเดิมที่คาดโต 1.5% พร้อมลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือ 4% จากเดิมคาด 4.8%, การส่งออกของไทยเดือน พ.ย.57 ลดลง 1%, ราคาสินเค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย, ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ รวมทั้งความไม่แน่นอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

  นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.ปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 18 เดือนนับตั้งแต่การสำรวจในเดือน ก.ค.56 เนื่องจากทุกรายการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันที่ลดลงช่วยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋ามากขึ้น นอกจากนี้ มาตรการลดราคาสินค้าทั่วประเทศ 20-70% ในช่วงเทศกาลปีใหม่ยังสร้างจิตวิทยาในเชิงบวกในการกระตุ้นกำลังซื้อได้เป็นอย่างดี

    “ราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมาจนสู่ระดับที่มีผลทางจิตวิทยา จนทำให้คนรู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ซึ่งโดยเฉพาะเดือนธ.ค.ราคาน้ำมันที่ลดลง 2-3 บาท/ลิตร ทำให้ประชาชนประหยัดค่าน้ำมันไปได้ถึง 5 พันล้านบาท แต่หากนับตั้งแต่มิ.ย.จนถึง ธ.ค.ก็คาดว่าจะประหยัดค่าน้ำมันไปได้ถึง 1 หมื่นล้านบาทจากการที่น้ำมันราคาถูกลง จึงทำให้การจับจ่ายใช้สอยในช่วงปีใหม่กลับมาคึกคัก"นายธนวรรธน์ กล่าว

    พร้อมประเมินว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีโอกาสจะปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยลดลงไปได้อีกลิตรละประมาณ 2 บาท

    ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่อาจยังฟื้นได้ไม่มากนักแม้ระดับราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากประชาชนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว และยางพาราที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำด้วย

     อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญในช่วงที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนอยู่

    นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพราะในครั้งนี้ล้วนมาจากแรงกระตุ้นเฉพาะกิจ ทั้งในเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง, มหกรรมลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วประเทศ และการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวนาและชาวสวนยาง แต่อย่างไรก็ดี เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในช่วงขาขึ้น และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างโดดเด่นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

   สำหรับ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคงคาดว่า ในปี 58 GDP จะเติบไตได้ 3.5-4% โดยประเมินว่าในช่วงครึ่งปีแรก GDP จะเติบโตในช่วง 2.5-3% และครึ่งปีหลัง GDP จะเติบโตได้ 4.5-5% ซึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ 4 ตัวสำหรับปีนี้ ประกอบด้วย 1.การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 2.การท่องเที่ยว 3.การใช้จ่ายของภาคเอกชน และ 4.การส่งออก

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!