WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

7 องค์กรเอกชนนัดถก'คสช.'สัปดาห์หน้าอุ้ม SME แสนรายก่อนเจ๊ง

            แนวหน้า : 'หอการค้า'เปิดแผนช่วยเหลือธุรกิจ ‘เอสเอ็มอี’ โดยขอ ให้’คสช.’เจรจาให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดถึง 50%พบในจำนวน 5 แสนราย คาด 20% เสี่ยงเจ๊งสูง เผยเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ วันที่ 19 มิย.นี้

    นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าทาง 7 องค์กรเอกชนจะเสนอแผนช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา โดยให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ขยายเพดานการค้ำประกันสินเชื่อจากระดับสูงสุด 18% เป็น 50% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องได้มากขึ้น เพราะในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง และการย้ายฐานการผลิตบางอุตสาหกรรมไปจีน อินเดีย อินโดนีเซีย จนส่งผลต่อการทำธุรกิจ และยอดขายสินค้า

    “เรื่องของเอสเอ็มอีก็จะเป็นหนึ่งในแผนฟื้นเศรษฐกิจที่จะมีการเสนอให้คสช.พิจารณา โดยที่ผ่านมาเอสเอ็มอี นอกจากจะมีปัญหาขายของได้แล้วยังต้องเจอเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ แหล่งทุน ที่ลำบากด้วย เพราะขอกู้ไม่เป็น ทำแผนโครงการไม่เก่ง หอการค้าไทย จึงได้มีการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการเอสเอ็มอีทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน” นายภูมินทร์ กล่าว

      ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอว่า ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งหามาตรการในการช่วยเหลือเรื่องของสภาพคล่อง เพราะปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะขนาดเล็กมีปัญหาสภาพคล่องและอยู่ในระดับที่น่าห่วง หรือเสี่ยงต่อการปิดกิจการประมาณ 20% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด หรือ 400,000-500,000 ราย และเชื่อว่าแนวทางในการให้ บสย. ขยายเพดานค้ำประกันจาก 18% เป็น 50% จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น

   สำหรับ ผลสำรวจ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาพบว่า ความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 56 จุด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6 จุด เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการทำธุรกิจสูง แต่ยอดขายตกต่ำ และขาดสภาพคล่องเพราะกำไรสุทธิน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ท่องเที่ยว ประเมินว่าไตรมาส 2 ดัชนีความสามารถในการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60.2 จุด เพียงแต่ต้องช่วยเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และภาครัฐต้องเร่งพัฒนาศักยาภาพ และผลผลิตของเอสเอ็มอีให้ด้วย เช่น อาจจะจัดหาวงเงิน 50,000 ล้านบาท ในการช่วยเอสเอ็มอีที่ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก

    ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ปัจจัยที่จะมีผลต่อขีดความสมารถแข่งขันเพิ่ม เช่น เอสเอ็มอีคาดว่าน่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น, มีเงินสดและมีสภาพคล่องสูง, เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดี, สินค้ามีคุณภาพสูงกว่าคู่แข่ง, ตราสินค้ามีความเข็มแข็ง, ลูกค้ามีความจงรักภักดีสูง, การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น, ส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด เป็นต้น

    “หลังจากที่มี คสช. และปัญหาการเมืองคลี่คลายลง ทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี มีความมั่นใจมากขึ้น รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น จากการเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนา ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่าย”

    ทั้งนี้ สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐมากที่สุด คือ เรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้รวมถึงทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ, การช่วยเหลือด้านต้นทุนของสินค้าให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้, การช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ, พัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ, ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า เป็นต้น

   นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนปัญหาการว่างงานยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะยังอยู่ในระดับประมาณ 0.7%  และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มูลค่า 3 ล้านล้านบาท นั้นจะยิ่งช่วยเพิ่มการจ้างงานในอนาคต รวมทั้งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนานาชาติว่าไทยจะมีโครงการลงทุนครั้งใหญ่ ซึ่งทุกๆเม็ดเงิน 2-3 แสนล้านบาท ที่เจ้ามาในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1% พร้อมจะมีการเตรียมปรับประมาณการทางเศรษฐกิจใหม่ ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ จากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!