WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จ่อเคาะตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ หอการค้าส่งซิกเตรียมปรับประมาณการปีนี้ 19 มิ.ย.

    บ้านเมือง : นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวแถลงถึงดัชนีความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีประจำไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ พบว่า ดัชนีสุขภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีโดยรวมอยู่ที่ 57.2 ลดลง 4 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจโดยรวมเท่ากับ 54.2 ลดลง 4 จุด ซึ่งปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ย่ำแย่ลงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้น โดยสุขภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีจะขึ้นมาอยู่ที่ 61.8 ขณะที่ความสามารถในการทำธุจกิจนั้นจะอยู่ที่ 59.3

    "ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 จากการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทุกภาคของประเทศจำนวน 1,450 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16-31 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเริ่มสำรวจก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร พบว่า ไตรมาสที่ 1 ธุรกิจ SMEs ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง กำไรลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีความลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเงินทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น"

     โดยธุรกิจในภาคเหนือประสบวิกฤติหนักมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ในธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้า ประสบปัญหามากที่สุด สรุปได้ว่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 56.0 ปรับตัวลดลง 3.6 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มธุรกิจ SMEs ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 60.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8 จุด ขณะที่ด้านดัชนีสุขภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีโดยรวม อยู่ที่ 57.2 ลดลง 4.4 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจโดยรวมเท่ากับ 54.2 ลดลง 4 จุด ซึ่งปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่แย่ลงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าในไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้น

      ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีประสบปัญหาตั้งแต่กลางปี 2556 ที่ผ่านมา จากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเบื้องต้นต้องพยายามพาให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนระยะกลางและระยะยาว ต้องช่วยแก้ปัญหาการจัดการและการตลาด

    สำหรับ ช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2557 เศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางจะยังขยายตัวที่ประมาณ 1% ส่วนวิสาหกิจขนาดย่อมซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางอาจจะติดลบ จึงเป็นกลุ่มที่ภาครัฐควรเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

    อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างประมวลข้อมูลจากทุกด้าน แต่เชื่อว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในกรอบเดิมที่ประมาณ 2.0-3.0% แต่มีแน้วโน้มจะปรับตัวดีขึ้น

     นายธนวรรธน์ กล่าวถึงโครงการ 3 ล้านล้านบาท ที่จะมีการลงทุนโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ในส่วนของโครงการทั้งหมดนั้น เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทย หรือ GDP ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าประมาณ 5% ในตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในประเทศ และยังทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติมั่นใจมากขึ้นได้ว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนต่อไป และส่วนในโครงการเร่งด่วนที่มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุก 200,000-300,000 ล้านบาท นั้น จะช่วยผลักดัน GDP ได้ประมาณ 1% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2520 ที่ผ่านมา

     นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้นคงจะไม่มี ผลกระทบต่อหนี้สาธารณะต่อ GDP มากนัก เพราะเป็นการลงทุนในระยาว รวมทั้งจะทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะไม่ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าประมาณ 50% อย่างแน่นอน

    นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย และรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การค้าชายแดนต้องเร่งพัฒนา ซึ่งประเทศไทยถือว่าได้เปรียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม และเชื่อว่าปีนี้การค้าจะโตเพิ่มได้ 10-15% อีกทั้งหากโครงการพื้นที่เศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้จริง จะยิ่งช่วยให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศที่ทำคู่ค้ากันจะได้เกิดความสมดุล ส่วนปัญหายาเสพติดกับเรื่องคนลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายเชื่อว่าจะแก้ไขได้ นอกจากนี้ เมื่อวันก่อนส่วนตัวได้โอกาสพบปะกับนักธุรกิจหลายๆ ประเทศ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ภายในประเทศว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมั่นใจว่านักธุรกิจต่างชาติจะมีความเข้าใจกับเหตุการณ์

   อย่างไรก็ตาม การประกาศเคอร์ฟิวของ คสช.ในขณะนี้อาจส่งผลกระทบกับการบริโภคอยู่บ้าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่ง ผลกระทบแค่ช่วงระยะสั้น อีกทั้งช่วงนี้มีงานบอลโลก 2014 ส่วนตัวมองว่าประชาชนน่าจะอยากอยู่บ้านเพื่อรับชมการถ่ายทอดสดมากกว่า ซึ่งแผนการปฏิบัติงานของ คสช.นั้น ส่วนตัวมองว่าทำดีแล้ว เริ่มเห็นทิศทางบ้านเมืองในทางที่ดีขึ้น และการรัฐประหารครั้งนี้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถือว่าทำได้ยาก ดังนั้น ส่วนตัวจึงอยากฝากให้วางรากฐานระบบใหม่ทั้งหมดลดการเหลื่อมล้ำ ระบบภาษีการค้า FTA ที่ควรมีการปรับให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!