WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

หนี้ครัวเรือนส่อเค้ารุนแรง ยอดพุ่งสูงรอบ 9 ปี-ความสามารถในการชำระคืนลดลง

    แนวหน้า : ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนยังไม่คลี่คลายแม้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ตัวเลขพุ่งสูงสุดในรอบ 9 ปี เหตุประชาชนสะสมไว้มากเกินไป ซ้ำเจอช่วงเศรษฐกิจซบยาวนานซ้ำเติม ขณะที่ปมค่าครองชีพสูงรุมเร้า ทำให้ความสามารถในการชำระคืนลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2549 ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาด่วน ทั้งอัดเงินเข้าระบบ ผุดมาตรการแก้หนี้

     นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลจากการสำรวจความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในการก่อหนี้ภาคครัวเรือน 1,200 ตัวอย่าง ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่หนักสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อปี 2549 หรือในรอบ 9 ปี โดยปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มูลค่าภาระหนี้ครัวเรือนไทยปี 2557 มีมูลค่ารวมเฉลี่ยที่ 219,158.20 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 และอัตราการขยายตัวของจำนวนหนี้สินเพิ่มขึ้น 16.1% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 โดยผลจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นทำให้ประชาชนมีการระมัดระวังการใช้จ่าย เพื่อกันเงินไปใช้ชำระหนี้ และยังเป็นปัจจัยส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ว่าความเชื่อมั่นจะมีสูงขึ้น ซึ่งหนี้สินภาคครัวเรือนคิดเป็น 80% ของจีดีพี อีกทั้งยังมีโอกาสที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

     ทั้งนี้ ทางภาครัฐควรมีการอัดเร่งฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 รวมทั้งยังต้องมีการดูแลค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อช่วยลดการก่อหนี้นอกระบบ เพราะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมักมีการกู้เงินนอกระบบเพิ่มขึ้น อีกทั้งควรมีการดึงลูกหนี้ให้มาอยู่ในระบบ เพื่อลดปัญหาสังคม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

     ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 74.8% ระบุว่ามีหนี้สิน มีเพียง 25.2% ที่ระบุว่าไม่มีหนี้สิน โดยภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 219,158.20 ล้านบาท เป็นหนี้ในระบบ 50.9% และหนี้นอกระบบ 49.1% สำหรับการผ่อนชำระหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13,358.35 บาทต่อเดือน ซึ่งที่มาของหนี้มาจาก หนี้ที่เกิดจากการซื้อสินทรัพย์ 36.9%, เป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายทั่วไป 32.2%, หนี้ที่เกิดจากการลงทุน 19.6% และหนี้จากการซื้อบ้าน 10.1%

      ส่วนสาเหตุที่ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น 14.3%, ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน 14%, การผ่อนสินค้ามากเกินไป 12.5%, หนี้เกิดจากภัยธรรมชาติ 12.1%, มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก 10.1%, หนี้ที่เกิดจากการได้รับเงินโครงการรับจำนำข้าวล่าช้า 9.6%, ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ 8.7%, ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน 7.9%, การซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น เช่น บ้าน รถ 6.8%, เป็นหนี้จากช่วงมีฟุตบอลโลก 1.5%, หนี้ที่เกิดขึ้นจากการพนันบอล 1.1% และอื่นๆ 1.4%

     อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ 83% ระบุว่าเคยมีปัญหาในการชำระหนี้ มีเพียง 17% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่เคยมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมาแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 ทั้งนี้หากประชาชนไม่ชำระหนี้ได้ ประชาชนส่วนใหญ่ 37.4% จะมีการกู้ยืมที่อื่นมาชำระก่อน, 30.1% จะขอผ่อนผันเจ้าหนี้ก่อน, 17.7% จะหลบหนี้, 13.7% จะปล่อยให้ยึดสิ่งของไป และวิธีอื่นๆ 1.1% ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหนี้หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ 60.4% จะดำเนินคดีตามกฎหมาย, 17.4% ทำลายข้าวของ, 13.1% จะมีการข่มขู่, 5.7% ทำร้ายร่างกาย และวิธีอื่นๆ 3.4%

   ทั้งนี้ หากประชาชนต้องกู้ยืมเงินในปัจจุบันวัตถุประสงค์ที่จะทำการกู้คือ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 39.7%, ชำระเงินกู้นอกระบบ 17.1%, ซื้อยานพาหนะ 10.9%, เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ 10%, เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 6.4%, เพื่อชำระหนี้การพนัน 4.8%, ซื้อที่อยู่อาศัย 4.6%, เพื่อซ่อมแซมยานพาหนะหรืออุปกรณ์ประกอบอาชีพ 4.6%, เพื่อการศึกษา 3.7% และอื่นๆ 1.9%

   ส่วนในเรื่องของการออมเงิน กลุ่มตัวอย่าง 48.9% ตอบว่ามีเงินออม และ 51.1% ตอบว่าไม่มีการออม ทั้งนี้ประชาชนยังเห็นว่า ค่าครองชีพในปัจจุบันกระทบต่อการออมเงินให้ลดลง 48%, การออมลดลงมาก 27.2%, การออมเพิ่มขึ้น 13.1%, ไม่กระทบเลย 9.8% และทำให้ออมเพิ่มขึ้น 2% อีกทั้งค่าครองชีพที่ไม่ได้กระทบต่อการใช้จ่าย 34%, ทำให้การใช้จ่ายลดลง 32.8%, ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 19.6%, การใช้จ่ายลดลงมาก 11.9% และทำให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก 1.7%

    ในขณะเดียวกันประชาชนต้องการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยการลดค่าครองชีพให้เหมาะสมกับรายได้ของคนส่วนใหญ่, ดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้อย่างจริงจังและสามารถปฏิบัติได้, สร้างงานแก้ปัญหาการว่างงาน, จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ, กระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการลงทุน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!