WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค.ที่ 78.2 กำลังซื้อเริ่มฟื้น

   ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค.57 อยู่ที่ 78.2 เพิ่มขึ้นจาก 75.1 ในเดือน มิ.ย.57

   ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 68.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 71.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 94.6

    "ดัชนี ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และเป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน หลังจากมั่นใจว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นและเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้" นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

    สำหรับ ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เห็นชอบยุทธศาสตร์แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดการณ์ว่า GDP ปี 58 จะโตได้ถึง 5% และส่งออกมิย ขยายตัว 3.9%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

   ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย สศค.ลดคาดการณ์ GDP ปี 57 เหลือ 2%, พืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำและกังวลปัญหาค่าครองชีพ รวมทั้งราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

  ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่า การบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนก.ย.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากเริ่มเห็นความชัดเจนของเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 3 แสนล้านบาท หลังจากที่ คสช.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทในระยะ 8 ปี(58-65) ส่งผลให้ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ซึ่งจะเริ่มเห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นจากกำลังซื้อที่จะกลับมา

   “คนเริ่มมั่นใจเศรษฐกิจในอนาคตมากขึ้น เพราะเห็นเม็ดเงินที่จะเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากที่ คสช.เห็นชอบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท ที่จะมีเม็ดเงินลงไปในระบบอย่างน้อยปีละ 3 แสนล้านบาทในช่วง 8 ปีจากนี้ จึงทำให้ทิศทางความเชื่อมั่นเป็นขาขึ้น ประกอบกับการเมืองที่นิ่ง ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อเริ่มกลับมาและเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว" นายธนวรรธน์ กล่าว

    พร้อมระบุว่า จากแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3/57 ขยายตัวได้ 3-4% และหากเม็ดเงินในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสามารถลงสู่ระบบได้เร็วมากเท่าใดก็จะยิ่งส่งผลดี ซึ่งมีโอกาสที่ไตรมาส 4/57 จะขยายตัวได้ 5-6% ทำให้ภาพรวมในปีนี้มีโอกาสโตได้มากกว่า 2% หรือเป็นไปตามที่ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดการณ์ไว้ที่ 2.0-2.5%

  อย่างไรก็ดี จากการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนก.ค.57 พบว่า ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสูงกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน ขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นกัน และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน และดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 7 เดือน

   “เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณในเชิงบวก การบริโภคเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ คณะกรรมการนโยบยการเงิน (กนง.) ยังคงตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ซึ่งเอื้อต่อการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถยนต์ใหม่...นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์ใหม่ทะลุ 100 ซึ่งทำให้เห็นว่ากำลังซื้อเริ่มทยอยกลับมา"นายธนวรรธน์ กล่าว

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!