WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ส.อ.ท. เผยการเมืองป่วนฉุด ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 84 ต่ำสุดในรอบ 58 เดือน

    ส.อ.ท. เผยการเมืองป่วนฉุด ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 84 ต่ำสุดในรอบ 58 เดือน ผู้ประกอบการโอด ศก. ในประเทศชะลอตัว ซ้ำต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 84.7 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 58 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 โดยค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

   อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนเมษายน ได้แก่ ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ จากการที่ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการต้องการเรียกร้องให้ยุติปัญหาการเมืองภายในประเทศโดยเร็ว เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนนอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบ และพลังงาน รวมทั้งการขาดสภาพคล่อง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจากความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ เห็นได้จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันในเดือนเมษายน มีวันทำงานน้อยกว่าเดือนอื่นๆ จากเทศกาลสงกรานต์ จึงทำให้การใช้กำลังการผลิตลดลงด้วย

   สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.1 ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

   ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนเมษายน 2557 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ล้วนปรับลดลงจากในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

   ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนเมษายน 2557 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ล้วนปรับลดลงจากในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

   โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 74.7 ลดลงจากระดับ 76.8 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเซรามิก และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น  ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.3 ลดลงจากระดับ 96.7 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

   อุตสาหกรรมขนาดกลาง  จากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 82.0 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 82.6 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 98.1 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

    ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 92.9 ลดลงจากระดับ 95.4  ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.6 ลดลงจากระดับ 103.0 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

   สำหรับ ด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2557 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยังอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

   อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนเมษายนนี้ คือ ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ยุติโดยเร็ว โดยให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจากัน รวมถึงยังต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องโดยการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เร่งหามาตรการกระตุ้นการส่งออก พร้อมทั้งมีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมการค้าชายแดนให้มีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!