- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Friday, 16 August 2024 18:40
- Hits: 8801
สถาบันอาหาร - ส.อ.ท. - สภาหอการค้าฯ ชี้ส่งออกอาหารไทยครึ่งปีแรก 67 โต 9.9% มูลค่า 8.5 แสนล้านบาท ลุ้นสิ้นปี 67 ฝ่าปัจจัยเสี่ยงสู่เป้า 1.65 ล้านล้านบาท ยันไทยยังเกินดุลการค้าจีนไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท
สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยการส่งออกสินค้าอาหารของไทย 6 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่า 852,432 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ลุ้นครึ่งปีหลังขยายตัวต่อเนื่อง คาดอัตราต่ำกว่าครึ่งปีแรก หรือในราวร้อยละ 7.8 มีมูลค่า 797,568 ล้านบาท มั่นใจเป้าส่งออกทั้งปี 67 จะแตะ 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.8 หลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในภาคเกษตรที่ต่อเนื่องมาจากในช่วงครึ่งปีแรก ค่าเงินบาทยังคงผันผวนและมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าระวางเรือ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ แจงตัวเลขไทยส่งออกอาหารไปจีนเกินดุลปี 2566 มูลค่า272,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรก 2567 เกินดุลมูลค่า 131,866 ล้านบาท
การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ร่วมให้รายละเอียด
ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 แตะระดับ 852,423 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ปัจจัยหลักมาจากความต้องการสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบหลักในการแปรรูปหลายรายการอ่อนตัวลง โดยราคาปลาทูน่าที่ลดลงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มผู้ผลิตซอสได้รับต้นทุนน้ำตาลและถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลง ราคากากถั่วเหลืองและราคาข้าวโพดที่ลดลงเอื้อต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมไก่ การลดลงของราคาข้าวสาลีในตลาดโลกช่วยลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นและส่งผลบวกต่อภาพรวมส่งออกอาหาร ได้แก่ ข้าว (+25.3%/+55.7%) แป้งมันสำปะหลัง (+21.1%/+30.5%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+20.7%/+41.7%) ปลาทูน่ากระป๋อง (+20.7%/+19.2%) ซอสและเครื่องปรุงรสรส (+10.7%/+16.7%) และผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+19.7%/+29.4%) ส่วนกลุ่มสินค้าที่ปริมาณส่งออกลดลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านผลผลิต โดยเฉพาะผลไม้สดที่ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 11.9 น้ำตาลทราย ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 46.4 กุ้ง ปริมาณส่งออกลดลง ร้อยละ 6.8 และสับปะรด ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 13.0
“ทั้งนี้ ปริมาณและราคาส่งออกข้าวไทยเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการตลาดโลกหลังอุปทานข้าวโลกตึงตัวจากการที่อินเดียยังคงจำกัดการส่งออก การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงและปลาทูน่ากระป๋องขยายตัวสูง อานิสงส์จากราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการปลาทูน่ากระป๋องในกลุ่ม OEM มีแนวโน้มโดดเด่นเพราะได้รับประโยชน์จากราคาขายลดต่ำลงตามต้นทุนวัตถุดิบ ซอสและเครื่องปรุงรสรสขยายตัวจากการที่ผู้ประกอบการไทยเน้นการรุกตลาดซอสบนโต๊ะอาหาร (Dipping/Table Sauces) รสชาติเผ็ดร้อนมากขึ้น หลังจากซอสในกลุ่มดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศฝั่งชาติตะวันตกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวขยายตัวสูงในกลุ่มกะทิที่นำไปประกอบอาหารในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย รวมถึงกะทิที่ผสมและใช้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพในตลาดจีน”
ตลาดส่งออกอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง อาทิ แอฟริกา (+38.5%) โอเชียเนีย (+29.0%) สหรัฐอเมริกา (+23.0%) สหราชอาณาจักร (+17.2%) ตะวันออกกลาง (+16.7%) สหภาพยุโรป (+14.4%) CLMV (+12.5%) และญี่ปุ่น (+8.4%) มีเพียงตลาดส่งออกไปยังประเทศอินเดีย (-18.1%) และจีน (-5.0%) ที่หดตัวลง โดยอินเดียหดตัวลงตามสินค้าน้ำมันปาล์มเป็นหลักและหันไปนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดจีนหดตัวลงตามสินค้าผลไม้สด(ทุเรียน) กุ้ง และไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น
ดร.ศุภวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับมูลค่าการค้าอาหารโลก 6 เดือนแรก ปี 2567 หดตัวลงร้อยละ 4.0 มูลค่าการค้า 933 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศผู้ส่งออก 9 อันดับแรกของโลก มีอันดับโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส สเปน แคนาดาและอิตาลี ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยส่งออกในรูปดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เป็นอันดับที่ 12 ของโลก
“แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 797,568 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะมีมูลค่า 395,536 ล้านบาท และ 402,032 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และ 9.9 ตามลำดับ โดยภาพรวมในปี 2567 คาดว่าการส่งออกของอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เทียบจากปีก่อน(66) ที่มีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศขาดศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก สินค้าอาหารไทยมีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพมาตรฐานและได้รับความเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในภาคเกษตรที่ต่อเนื่อง ค่าเงินบาทยังคงผันผวนและมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าระวางเรือ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามในประเด็นข้อกังวลเรื่องการนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนในกลุ่มผัก ผลไม้ที่มีปริมาณมากขึ้นนั้น จากข้อมูลการค้าอาหารระหว่างไทยกับจีนในปี 2566 พบว่าไทยส่งออกไปจีนที่มูลค่า 370,000 ล้านบาท ขณะที่นำเข้าจากจีนมูลค่า 98,000 ล้านบาท เกินดุล 272,000 ล้านบาท สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน ได้แก่ ผลไม้สด ทูน่าลอยน์ และวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 25 ร้อยละ 5 และร้อยละ 4 ตามลำดับ สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน เช่น ผลไม้สด แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 60 ร้อยละ 9 และร้อยละ 8 ตามลำดับ ส่วนในครี่งปีแรก 2567 ไทยเกินดุลการค้าอาหารกับจีน มูลค่า 131,866 ล้านบาท”
ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการส่งออก ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาและกลั่นกรองลูกค้าที่มีศักยภาพทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายโอกาสของสินค้าอาหารไทยในอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องหันกลับมามองตลาดในประเทศด้วยว่าปัจจุบันมีสินค้าอะไรบ้างที่กำลังถูกเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้านำเข้า โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศจีนที่รุกหนักมากทั้งธุรกิจร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ที่เชื่อมโยงไปสู่สินค้าเกี่ยวเนื่อง ตัวอย่างเช่น เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มชนิดต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผักและผลไม้อบแห้ง ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตลาดอาหารในประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งมิติของตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยที่มีมากถึง 65 ล้านคน และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนต่อปี จึงเป็นที่หมายปองของหลายๆ ประเทศ
ดังนั้น การบรรลุเป้าหมายด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืนของสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีมาตรการติดตามและเฝ้าระวังสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยต้องมีกลยุทธ์ในการปรับตัวรับสภาวะการแข่งขันดังกล่าว ทั้งในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนสินค้า การรักษาคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยอาหาร การมุ่งเน้นการผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ ตลอดจนการเฟ้นหาลูกค้าและตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ทางธุรกิจเหล่านี้เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญช่วยให้สินค้าอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าต่างชาติได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก
ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนและภาคผลิตของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งการส่งออกอาหารไทยยังมีปัจจัยจากแรงกดดันเรื่องต้นทุนค่าระวางเรือ ส่งผลให้ผู้นำเข้าปลายทางชะลอการนำเข้าโดยตรง ประกอบกับสินค้าที่ประเทศจีนสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ส่งผลทำให้ตลาดต่างๆ อยู่ในภาวะการแข่งขันสูง ดังนั้น ยังคงต้องติดตามการตอบโต้ทางการค้าของประเทศปลายทางด้วย
“ประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างรุนแรง จากมาตรการทางการเงินของประเทศต่างๆ ที่เริ่มมีการลดดอกเบี้ยในหลายประเทศ เบื้องต้นผู้ประกอบการต้องประกันความเสี่ยงค่าเงิน ส่วนในภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทยต้องติดตามนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด และแก้ไขสถานการณ์ให้ทันเหตุการณ์ไม่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการส่งออกของประเทศไทยที่ยังเป็นส่วนสำคัญในการชี้ชะตา GDP ของไทยในอนาคต”
สุดท้ายนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภายใต้นโยบาย “Connect-Competitive-Sustainable” เราได้มุ่งมั่นยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรและอาหารของไทย โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการอันส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพธุรกิจเกษตรและอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ อาทิ จัดตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร หรือ ศูนย์ AFC ร่วมกับภาคีเครือข่าย 28 องค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้ร่วมมือกับสถาบันอาหารในการศึกษารูปแบบบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือ และสร้างต้นแบบการบริหารจัดการ Food Valley ในจังหวัดขอนแก่นภายใต้โครงการ Khon Kaen Food Valley Cluster เพื่อขยายผลให้เป็น Role Model ไปในจังหวัดต่างๆ ตลอดจนการรณรงค์บริโภคอาหารโปรตีนทางเลือกในการประชุมภายในองค์กรอย่างน้อย 30% ของมื้ออาหารปกติ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอาหารจากโปรตีนทางเลือกของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย 500,000 ล้านบาทในปี 2570 ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์เป้าหมาย SDGs และ BCG เท่านั้น แต่ยังจะเป็นการจัดการและเพิ่มมูลค่าของ Food waste และ Food loss ในระบบการผลิตอาหาร เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรผู้ประกอบการและความยั่งยืนของโลกอีกด้วย
8471