- Details
- Category: สภาหอการค้าไทย
- Published: Saturday, 24 August 2024 20:29
- Hits: 8722
หอการค้า หารือนายกฯ เสนอแผน กระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการเร่งด่วน 5 มาตรการสร้างความเชื่อมั่น ทั้งในไทย และต่างประเทศ
ภารกิจนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตลอดทั้งวันนี้ ประชุมหารือกับภาคเอกชน 3 คณะ ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อสะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจ และเสนอมาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
โดยคณะแรก เป็นสภาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย-จีน นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย
โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวทักทาย นายสนั่น และขอบคุณที่มาหารือกันในวันนี้ เพราะทราบว่ามีประชุมที่จ.ร้อยเอ็ด เลยต้องยกเลิกมาที่นี่ ซึ่งวันนี้อยากให้มาแลกเปลี่ยนกัน เพราะตอนนี้ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำได้แค่เปิดพื้นที่และรับฟัง โดยอยากให้แลกเปลี่ยน หรือแนะนำ เกี่ยวกับสภาหอการค้าไทย ซึ่งตนเองมีทีมงานมารับฟัง เพื่อจะได้แบ่งปันความคิดเห็นกันในด้านต่างๆ
ด้านนายสนั่น กล่าวแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรี ขอให้บริหารประเทศอย่างราบรื่น และทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน และขอขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติสภาหอการค้าไทย ซึ่งอยากนำเสนอ 3 เรื่องเร่งด่วน คือ การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งระยะ สั้นกลาง และระยะยาว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs เพราะร้อยละ 90 ของสมาชิกเป็น SMEs การวางยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน เพราะการพูดคุยกับชาวต่างประเทศ ต่างอยากเห็นยุทธศาสตร์ของประเทศไทยไปในลักษณะอย่างไร
นายสนั่น ยังเสนอการสร้างความเชื่อมั่น ในประเทศและต่างประเทศ 5 เรื่อง คือ การกระจายงบประมาณด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จัดทำงบประมาณปี 2568 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งจ่ายงบประมาณที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3 กลุ่ม
โดยมุ่งไปยังกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชน กลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะคนละครึ่ง และกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยผ่านมาตรการภาษีอื่นๆ มาตรการช่วยเหลือ และเยียวยาด้วยการลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟค่าน้ำมัน และตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละประเภทให้ชัดเจน
และให้สถาบันการเงินผ่อนผันค่าปรับการจ่ายหนี้ล่าช้าเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน รวมถึงการจัดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้รวดเร็ว โดยทำเป็น Supply Chain Financing การกระจายอำนาจโดยออกมาตรการทางภาษีเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนในเมืองรอง ส่งเสริมการใช้โลโก้คอนเทนท์และสานต่อโครงการยกระดับเมืองสู่เมืองหลัก โดยมีเป้าหมาย 10 จังหวัดทั่วประเทศและปรับปรุงระเบียบที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการแข่งขัน