WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1กฤษฎา บญราช'กฤษฎา บุญราช' เปิดจุดยืน 'ปลัดตาบอดสี'

สัมภาษณ์ : มติชนออนไลน์ :

      หมายเหตุ - นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์มติชนเนื่องในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ถึงแผนการทำงานในอนาคต ทั้งเรื่องการลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง และการดำเนินการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

@ในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทยป้ายแดง วางนโยบายการทำงานจากนี้อย่างไรบ้าง

       เรียกว่า วางแนวการปฏิบัติงานของฝ่ายข้าราชการประจำของกระทรวงมหาดไทย หลังจากที่เราได้รับนโยบายจากรัฐบาลแล้วก็ได้วางแนวทางไว้คือ 1.ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มุ่งไปที่คำว่า ให้งานสัมฤทธิผล ประชาชนพึงพอใจ ใช้คำง่ายๆ เลยคือ เมื่อลงไปช่วยชาวบ้านจนเกิดผลสำเร็จแล้ว ชาวบ้านจะต้องรู้สึกพึงพอใจด้วย ถ้าชาวบ้านยังไม่พอใจก็ถือว่างานยังไม่สำเร็จ ดังนั้น เวลาเราสั่งการอะไรลงไป เราจะมีตัวชี้วัดความพึงพอใจของประชาชนเป็นส่วนสำคัญด้วย อย่างครั้งนี้ มีงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท งานสัมฤทธิผลคือ เมื่อเงินลงไปแล้วเขาได้ทำตามกรอบแนวทางและระยะเวลาหรือไม่ แต่ประชาชนจะพึงพอใจหรือไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องตามกลับไปดูด้วย ว่าประชาชนพึงพอใจไหม สิ่งที่ทำไปตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่

@ความพึงพอใจของชาวบ้านประเมินอย่างไร

        ถ้าชาวบ้านยังร้องเรียน ยังเดือดร้อน ยังมีเดินขบวนอยู่ เรื่องร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมยังมากอยู่ ก็ประเมินได้อย่างหนึ่งแล้วว่าความพึงพอใจยังน้อยอยู่ เช่น ก่อนนาย ก. จะไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ เฉลี่ยมีเรื่องร้องเรียน 100 เรื่อง ไปอยู่ 3 ปี เรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 150 เรื่อง อันนี้ถือว่าสอบไม่ผ่าน

@แล้วถ้าสอบไม่ผ่านจะมีมาตรการอะไรหรือไม่

      เราก็ต้องมีการรับฟังเหตุผล เราจะต้องดูเงื่อนไขอื่นๆ ว่าพื้นที่มีอะไรบ้างที่ทำให้สอบไม่ผ่าน เช่น งบตำบลละ 5 ล้านบาท อนุมัติไป 10 โครงการ ปรากฏว่าทำไม่ได้เลยเพราะน้ำท่วม อันนี้ก็มีเหตุผล แต่ถ้าเราให้สิ่งในการบริหารจัดการไปหมดแล้วยังทำไม่ได้ ทำไม่เสร็จ อันนี้ก็ต้องมาพิจารณา และต้องมีเหตุผลให้ว่าเพราะอะไร

@การทำงานของกระทรวงมหาดไทยในช่วงที่ คสช.กำลังวางโรดแมปในการปฏิรูปประเทศนี้ มีอะไรที่เป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่

      วาระเร่งด่วนเรามีอยู่ 12 เรื่อง หลักๆ คือการปกป้องสถาบัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ไม่ให้ใครมาจาบจ้วงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างวิธีการที่จะเชิดชูสถาบันด้วย เช่น 1.ไปดูว่ามีโครงการในพระราชดำริอะไรบ้างที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด อำเภอของตนเอง แล้วไปต่อยอดโครงการนั้น 2.การปรองดองสมานฉันท์ ได้อธิบายความให้ผู้ว่าฯฟังไปแล้วว่ามันแตกต่างกับคนที่มีความคิดไม่เหมือนกัน ถ้าคนมีความคิดไม่เหมือนกันไม่ได้ถือว่าแตกแยก แต่ถ้าข้าราชการปล่อยให้คนไปยุแล้วเขาตีกัน แสดงว่าไม่สำเร็จแล้ว ผู้ว่าฯจะต้องไปอธิบาย ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยที่มีอยู่ ตั้งแต่ระดับนายอำเภอลงไปถึงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เราต้องไปหาข้อมูลว่าแต่ละกลุ่มเขาคิดอย่างนั้นเพราะอะไร คิดได้ แสดงความเห็นได้ แต่ถ้าใครไม่เห็นด้วยแล้วมาตีกันอันนี้ยอมไม่ได้ 

     3.เรื่องความโปร่งใสในการทำงาน ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยต้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ 4.เรื่องยาเสพติด ต้องการให้ผู้ว่าฯไปวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่คนต้องการยาเสพติดคืออะไร ถ้าเกิดจากเด็กหรือเกิดจากคนไม่มีงานทำก็อยากให้ผู้ว่าฯไปทำโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน พัฒนางาน เพื่อลดอุปสงค์ลง 5.เรื่องการค้ามนุษย์และการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ต้องอาศัยผู้ว่าฯเหมือนกันว่าต้องไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ปัญหานี้ลดลง และ 6.ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าฯต้องรู้ว่ายุทธศาสตร์ที่ กอ.รมน.ส่งลงไปนั้นทำได้ผลหรือไม่ได้ผล ผู้ว่าฯและนายอำเภอต้องมีข้อมูลในการตอบคำถามของหน่วยเหนือ

@ศูนย์ดำรงธรรมที่ทาง คสช.เน้นหนักจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป

     ที่ผ่านมาทำได้ดีแล้ว ก็อยากให้ผู้ว่าฯดำรงภารกิจของศูนย์ดำรงธรรมต่อไป โดยในปีงบประมาณนี้จะมีเจ้าหน้าที่ไปเพิ่มอีก 300 คนทั่วประเทศ นอกจากรับเรื่องราวร้องทุกข์แล้ว ให้ผู้ว่าฯเตรียมอีกภารกิจหนึ่งคือการบริการข้อมูลข่าวสารด้วย

@มีการพูดกันถึงว่าปลัดเป็นสิงห์ทองคนเดียวที่เข้ามานั่งตรงนี้

     ผมว่า การทำงานในกระทรวงมหาดไทยไม่มีปัญหา เพราะว่าเราเติบโตมาด้วยกัน เป็นปลัดอำเภอรุ่นเดียวกันเข้าโรงเรียนนายอำเภอรุ่นเดียวกัน เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เข้ารับตำแหน่งนี้ ทุกคนก็ยอมรับ นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็บอกว่าให้เอางานเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าคุณจะจบจากสถาบันไหน ถ้าคุณทำให้งานสัมฤทธิผล ประชาชนพึงพอใจได้ ผมตั้งคุณ เลื่อนระดับคุณ หรือให้ 2 ขั้นคุณ นอกจากนี้ ผมได้ประชุม ผมประกาศต่อหน้าข้าราชการกระทรวงมหาดไทยว่าผมตาบอดสี เพราะฉะนั้นผมไม่มีสีนั้นสีนี้เข้ามา ให้เป็นสีธงชาติสีเดียวกันในการทำงานเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่คือสิ่งสำคัญของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ถ้าเรามัวไปคิดถึงสถาบันการศึกษาที่เราจบมาหรือว่าสีนั้นสีนี้ มันจะยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยก เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่ารัฐบาลต้องการความปรองดองสมานฉันท์ ถ้าคนมหาดไทยเองยังไปแบ่งสีแบ่งพวก แล้วเราจะไปทำให้พี่น้องประชาชนปรองดองสมานฉันท์ได้อย่างไร ดังนั้น ผมไม่กังวล และไม่ห่วง ที่ผ่านมาตอนอยู่กรมการปกครอง ผมก็ได้รับความร่วมมือดีจากทุกคนในกรมการปกครอง ซึ่งก็มาจากหลายสถาบัน ผมก็คิดว่าผมจะสามารถพูดคุยกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกฝ่ายได้

@จะทำอย่างไรให้ภาพเรื่องสิงห์สีต่างๆ หายไปจากกระทรวงมหาดไทย

      ต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนระดับ แต่งตั้ง หรือการให้ความดีความชอบ เราก็จะดูที่ผลงานว่างานที่ให้ไปนั้นสัมฤทธิผลไหม ผู้ว่าฯใส่ใจกับปัญหาของประชาชนไหม ผมจะไม่มาใส่ใจกับเรื่องผู้ว่าฯคนนี้จบจากที่ไหน ผมจะใส่ใจว่า

    ผู้ว่าฯคนนี้ทำงานแล้วเป็นอย่างไร ผมคิดว่าคนมหาดไทยเรียนรู้เร็ว และก็ต้องยอมรับ กระทรวงมหาดไทยไม่ได้เพิ่งมีมาปีสองปี แต่มีมาเป็นร้อยกว่าปีแล้ว ไม่ห่วงครับ และก็ไม่อยากให้สื่อสนใจเรื่องนี้ บางทีคนไม่คิด แต่เมื่อพี่น้องสื่อมวลชนไปกระตุ้นมากๆ คนก็เลยคิดกันเลยทีนี้

@ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งจะอยู่ในช่วงที่จะต้องมีการเลือกตั้งจะวางกลไกอย่างไรสำหรับเรื่องนี้และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

    กลไกอย่างหนึ่งที่เราทำคือ ข้าราชการและบุคลากรในกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเราเน้นย้ำว่าให้ไปทำตามอำนาจหน้าที่ คือดูแลเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อย่าไปยุแหย่หรือไปเป็นผู้นำในการนำคนมาเดินขบวนเรื่องระบอบประชาธิปไตย ตอนนี้ผมเน้นย้ำกับผู้ว่าฯว่า โครงการเงินส่งเสริมฯตำบลละ 5 ล้านบาทนี้

     เป็นบทเรียนสอนประชาธิปไตยที่ชัดเจนที่สุด คือโครงการต้องเสนอโดยพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน เมื่อได้รับการอนุมัติผมได้มีหนังสือสั่งการลงไปว่า ให้กรรมการตรวจรับให้แต่งตั้งพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านด้วย 2 คนมาทำงานร่วมกับข้าราชการรวมเป็น 5 คน เป็นการให้พี่น้องประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับ ตรวจสอบ ติดตาม ซึ่งพี่น้องประชาชนจะได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นว่าไม่ใช่การเอาเงินมาให้ฟรีๆ แต่ตัวเองต้องเข้ามารับผิดชอบด้วยโดยการเป็นกรรมการ ถ้าผิดตัวเองก็ผิดด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะมีผลดีในช่วงเปลี่ยนผ่านพอดี

     ส่วนการทำงานร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งในปี 2560 นั้น ไม่มีปัญหาในเรื่องของการทำงาน แต่เราต้องดูรายละเอียดก่อน เพราะเรายังไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะกำหนดเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ในการเลือกตั้งอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับ กกต.และพี่น้องประชาชน

@เรื่องใกล้ๆ เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการพูดคุยกับทาง กกต.หรือไม่

เมื่อเดือนที่แล้วมีการพูดคุยกับ กกต.เรื่องการทำประชามติ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ตอนนี้ก็ต้องรอรัฐธรรมนูญก่อน

@ความขัดแย้งในพื้นที่จะให้ผู้ว่าฯเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขอย่างไรบ้าง

    ผู้ว่าฯ มีหน้าที่ไปทำความเข้าใจในเรื่องที่ประชาชนขัดแย้งกัน ผู้ว่าฯต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าในหมู่บ้านมีความขัดแย้งกันเรื่องอะไร เช่น การใช้น้ำ โรงงานไปปล่อยน้ำเสีย อันนี้แก้ง่าย แต่ถ้าขัดแย้งกันว่า กลุ่มหนึ่งชอบ ก.ไก่ อีกกลุ่มชอบ ข.ไข่ ก็ต้องเรียกทั้ง 2 กลุ่มมาคุยกันว่าคุณชอบได้แต่อย่าตีกัน ถ้าตีกันต้องจับทั้ง 2 ฝ่าย คือ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นกลาง ใครทำผิดก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ผู้ว่าฯ นายอำเภอต้องเข้าไปห้ามปรามและทำความเข้าใจ

@เรื่องสีทางการเมืองของข้าราชการ

     เรื่องการชอบพรรคการเมืองไหนเราคงไปห้ามปรามไม่ได้ แต่ผมก็จะกำชับว่า เราเป็นข้าราชการ มีระเบียบ มีวินัยอยู่ คุณจะเอาอำนาจหน้าที่ไปช่วยเหลือพรรคการเมืองที่คุณชอบไม่ได้ คุณต้องใช้อำนาจหน้าที่ผดุงความเป็นธรรมและความยุติธรรมในสังคม ผมก็ให้ไปแบบนี้

@จะวางกลไกอย่างไรไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง

     เรื่องนี้ทราบว่าทางรัฐบาลกำลังคิดกันอยู่ โดยอาจจะมีการปฏิรูประบบ อาจจะมีคณะกรรมการสรรหา หรือมีการแต่งตั้งข้าราชการขึ้นไป ให้มีหน่วยงานหรือองค์กรกลางเข้าไปเป็นฐานรองรับว่าข้าราชการที่จะได้รับการเลื่อนหรือการย้ายมาอย่างถูกต้อง มาในระบบคุณธรรม 

@มีคนมองว่าท่านปลัดฯเป็นหนึ่งในลูกป๋าเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

      ผมเป็นคนแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ได้จบสวนกุหลาบ ไม่ได้เรียนมหาวชิราวุธ และถ้าไปดูประวัติการรับราชการของผม ซึ่งรับราชการครั้งแรกที่จังหวัดเชียงรายอยู่ 5 ปี ย้ายเข้ามา กทม. 7 ปี แล้วก็ไปอยู่จังหวัดปัตตานี 2 ปี จากนั้นกลับไปภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา รวม 11 ปี และก็เพิ่งกลับไปอยู่จังหวัดในภาคใต้เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในจำนวน 8 ปีในภาคใต้ ผมอยู่ที่จังหวัดสงขลาแค่ 3 ปีเท่านั้น แล้วจะบอกว่าผมเป็นลูกป๋าได้อย่างไร ไม่มี 

      พล.อ.เปรม เป็นคนสงขลา มีบ้านอยู่อำเภอสิงหนคร ประมาณ 2-3 เดือน ท่านก็จะกลับไปเยี่ยมบ้านสักครั้งหนึ่ง และในฐานะที่ท่านเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นอดีตผู้นำประเทศ ผมในฐานะที่เป็นผู้ว่าฯในช่วงที่อยู่จังหวัดสงขลาก็ได้ไปต้อนรับ พูดจาปรึกษากับท่าน ไม่มีและไม่เคยที่ พล.อ.เปรมประกาศว่านายกฤษฎา บุญราช เป็นลูกท่าน แต่ท่านมีความเมตตา กรุณา มีประสบการณ์มาก และเป็นบุคคลที่ผมเคารพ ถือเป็นไอดอล เป็นบุคคลต้นแบบ บางครั้งผมจึงไปขอคำปรึกษาท่านปกติ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น 

       ผมมั่นใจว่า คนเป็นองคมนตรีคงไม่มาเจ้ากี้เจ้าการสั่งให้คนนั้นคนนี้ทำอะไร ไม่มีเด็ดขาด เพราะเท่าที่อยู่สงขลา 3 ปี และเท่าที่รู้จัก พล.อ.เปรม และคนใกล้ชิดจะทราบว่าท่านเป็นคนระมัดระวัง จะไม่พูดเรื่องการเมือง จะไม่พูดเรื่องฝ่ายบริหาร แต่อะไรที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็จะสนับสนุนให้ผู้ว่าฯสงขลาได้ทำ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ผมเปิดเผยได้

ส่อง?ครอบครัว?ปลัดมหาดไทย

     ลูกคนสุดท้องเรียนจบแล้ว และก็มีงานทำแล้วทุกคน ก็ไม่เป็นห่วงเท่าไร แต่กลับเป็นว่าลูกๆ เขาเป็นห่วงเราแทน เพราะบางทีเขาไปเจอคำวิจารณ์พ่อตามโซเชียลมีเดียแรงๆ ก็จะโทรมาหา กินข้าวกันก็จะถามว่าพ่อไปทำอะไรถึงโดนว่าขนาดนี้ แต่ก็ไม่ถึงว่าเป็นปัญหาภายในครอบครัว 

     ที่ไม่เป็นปัญหาเพราะลูกๆ คงชิน เพราะตลอดชีวิตผมอยู่กับชาวบ้าน 21 ปี ผมอยู่กับชาวบ้านมาโดยตลอด หรือเมื่อครั้งที่อยู่ภาคใต้ เป็นรองผู้ว่าฯในจังหวัดชายแดนใต้ คงจะเห็นผมตามภาพข่าวบ่อยก็คงเข้าใจ และก็คงสบายใจมากขึ้นว่ากลับมาอยู่ กทม.แล้ว ก็คงไม่เสี่ยงอันตรายเหมือนอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

     ยอมรับเลยว่า เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้วชีวิตเปลี่ยน เพราะจากที่เคยเป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดข้างนอกแล้วกลับเข้ามาส่วนกลางใหม่ๆ งานที่เคยเป็นผู้ปฏิบัติต้องเปลี่ยนหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ สั่งการ หรือเป็นผู้ทำความเข้าใจให้คนที่ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่เข้าใจและทำได้ เป็นเรื่องยากพอสมควร 

     ที่ผ่านมาชีวิตผมเป็นผู้ปฏิบัติ เมื่อมีหนังสือสั่งการมาหรือมีคำชี้แนะเรื่องการปฏิบัติมา ผมก็นำมาปรับปรุงกับพื้นที่จริงได้ก็ทำ แต่ตอนนี้การมาเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ผมมีหน้าที่ต้องดูแลทั้ง 77 จังหวัด เวลาสั่งการลงไปจังหวัดภาคเหนือก็ต้องมีมติอีกแบบ สั่งไปภาคใต้ก็อีกอย่างหนึ่ง จึงต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น 

     แน่นอนว่า ด้วยภารกิจที่เพิ่มขึ้น ความเป็นส่วนตัวก็น้อยลง ขณะที่ระบบงานประจำของกระทรวงก็มีมาก และงานที่ต้องไปเร่งรัดแก้ไข จากสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ก็มากเช่นกัน จึงกังวลและวิตกว่าจะทำงานไม่ได้ดีเท่าที่ควร 

       ผมหวังนะว่า จะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เหมือนกับที่เคยได้รับความร่วมมืออย่างดีเหมือน 1 ปีที่ผ่านมาที่กรมการปกครอง จนทำให้สิ่งที่ผมเคยกังวลมันผ่านพ้นไปได้...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!