WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

5ตร.ระดมไอเดีย ปฏิรูปเอง แก้เกมรธน.ใหม่ สปช.สับที่มานายก-สว. ฮึ่มงัดม.44แก้ขรก.โกง อียูแจกใบเหลืองไทย จี้สางปัญหาใน6เดือน จ่อคว่ำ-สินค้าประมง!

     'สมยศ'ตั้งกรรมการ 6 คณะ ระดมข้อมูลปฏิรูปตำรวจเอง ไม่เอาตามรธน.ใหม่ให้'พงศพัศ'เป็นเซ็นเตอร์ อภิปรายร่างแรกวันที่สอง ประเด็นผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง 129 สปช.ต่อคิวชำแหละ 3 วันรวด รุมถล่มเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสม ที่มา นายกฯ-ส.ว. บิ๊กตู่เครียด'อียู'ให้ใบเหลืองไทย ขีดเส้นตาย 6 เดือนขู่คว่ำบาตรสินค้าประมง 'ปีติพงศ์'ผวาลามถึงใบแดง ถกด่วนเร่ง 6 มาตรการแก้ไข หัวหน้า คสช.จ่อใช้อำนาจมาตรา 44 เปิดเก้าอี้รองรับโยกย้ายบิ๊กข้าราชการ

นายกฯถกคตช.สั่งลุย

   เวลา 09.30 น. วันที่ 21 เม.ย. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นหัวหน้าการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 3/2558 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. นายประยงค์ ปรีชาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผบ.เหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมพร้อมเพรียง

  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนประชุมว่า การทำงานต่างๆ ต้องเร่งรัดให้เดินหน้าได้ โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนต่างๆ ที่ต้องใช้กระบวน การตามกฎหมายต้องได้คำตอบและได้ข้อยุติ แต่หากการดำเนินการตามระบบล่าช้าก็จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อกให้การทำงานเร็วขึ้นเพราะรัฐบาลมีเวลาทำงานจำกัด แต่การใช้มาตรา 44 ต้องให้ความเป็นธรรม รัดกุมและถูกต้อง หากพบมีผู้กระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตต้องดำเนินคดี รัฐบาลจะดำเนินการกับสิ่งเหล่านี้ทุกเหตุการณ์และทุกรัฐบาลก็ต้องทำเช่นกัน

มีคดีใหญ่ที่รบ.จับตา 30คดี

     เวลา 12.45 น. นายวิษณุ แถลงผลการประชุมคตช.ว่า พล.อ.ประยุทธ์แจ้งว่าได้รับรายชื่อข้าราชการ 100 รายชื่อเข้าข่ายทุจริต ตามที่ศอตช. ส่งให้แล้ว ถือว่าอยู่ในขั้นตอนดำเนินการทางปกครองและวินัย คืออาจต้องพักงาน หรือโยกย้ายเปลี่ยนหน้าที่จำนวนมาก ซึ่งรายชื่อเหล่านี้มาจากองค์กรตรวจสอบ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ป.ป.ท. สำนัก งานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้ง 100 รายชื่อเป็นรุ่นที่ 1 ส่วนรุ่นต่อๆ ไปจะตรวจสอบไปเรื่อยๆ

    นายวิษณุกล่าวว่า มีการตรวจสอบก่อนที่ คสช.จะเข้ามา บางครั้งเรื่องเงียบไม่คืบหน้าแต่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาก็ให้ดำเนินการต่อ ไม่ได้แก้แค้นหรือเล่นงานใคร ใครไม่ผิดก็ปล่อยไป ใครผิดก็ดำเนินการ ไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก หนีเสือปะจระเข้ มีการส่งชื่อพฤติกรรมมาที่คณะทำงานที่ตั้งขึ้น แต่ไม่อาจปักใจได้ว่าพวกเขาทุจริต เรื่องพวกนี้ตนรายงานในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายว่ามีคดีใหญ่ๆ ที่รัฐบาลจับตาดูอยู่ 30 คดี

ใช้ม.44 เปิดตำแหน่งรับเด้งขรก.

   นายวิษณุ กล่าวว่า รายชื่อที่ส่งมาวันนี้อยู่ในข่ายที่เป็นคนของรัฐบาล เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ข้าราชการ จึงต้องคิดว่าจะจัดการอย่างไร บางคนปล่อยไปเพราะหลักฐานไม่ชัดเจน แต่บางพวกถ้าปล่อยให้อยู่ต่ออาจเป็นปัญหา อาจไปยุ่งกับพยานหลักฐานทำให้เสียรูปคดีหรือเป็นปัญหาทางปกครอง จึงต้องโยกย้ายสับเปลี่ยน แขวนให้พ้นจากตำแหน่งเดิม เพื่อแสดงว่าเอาจริงกับการแก้ปัญหา จากนี้จะเห็นการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาลเกือบครึ่ง เพื่อจัดการกับคนบางประเภท จากปกติจะโยกย้ายช่วงเดือนต.ค. ขณะที่การโยกย้ายเดือนเม.ย. จะมีแค่ตำรวจและทหาร

   รองนายกฯ กล่าวว่า เหตุผลการโยกย้ายจะมี 3 ประเภท เพื่อใช้กับคน 3 ประเภท คือ 1.การแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้าราชการ 100 กว่าชื่อที่ส่งถึงนายกฯ 2.การย้ายเพื่อประสิทธิภาพของงาน และ 3.รายชื่อนับ 100 คน ที่ส่งชื่อมานั้น พบมีตั้งแต่ซี 3-11 มีทั้งชั้นผู้น้อยถึงชั้นผู้ใหญ่ ขณะนี้ตรวจสอบว่าอยู่ในขั้นต้องจัดการทั้งหมดหรือไม่ อาจมีทั้งพวกที่ปล่อยให้อยู่ ที่เดิม หรือโยกย้ายออกจากกระทรวงที่สังกัด

                นายวิษณุ กล่าวว่าการหาตำแหน่งรองรับ หัวหน้า คสช.อาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อสร้างตำแหน่งใหม่รองรับ หากสอบสวนแล้วไม่มีความผิดก็กลับตำแหน่งเดิม แต่ถ้าผิดก็ถูกดำเนินคดี

                นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงกระแสข่าวเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมบัญชีกลาง จากนายมนัส เป็นน.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังว่า ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าใครปล่อยข่าวเห็นแต่ข่าวหนังสือพิมพ์ ถ้าเขาอยากย้ายก็ย้ายไปเราทำดีที่สุดแล้ว

มท.รอปรับใหญ่ต.ค.

                เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมนายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงผลงาน 6 เดือนของกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า พอใจการทำงานในภาพรวม แม้ก่อนหน้าจะเคยกังวลในส่วนของท้องถิ่นกำนันผู้ใหญ่บ้านแต่เมื่อเห็นแล้วพบว่าทำงานได้ดี ผู้ว่าฯ ทำงานได้น่าพึงพอใจ ขอเน้นการทำงานโปร่งใสในทุกระดับและทำงาน ตามอำนาจหน้าที่ ไม่ยุ่งงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง

                เมื่อถามถึงการดำเนินการกับข้าราชการที่ทุจริต พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ถ้ามีการร้องเรียนก็ต้องสืบสวนสอบสวน ให้ผู้ถูกร้องเรียนมีโอกาสชี้แจง หากพบว่าทำผิดก็ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตตามที่นายกฯ ส่งกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มอบปลัดฯ มหาดไทยดำเนินการแล้ว ต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ถ้ากฎหมายสอบสวนจบแล้วต้องดำเนินการทางวินัย ส่วนการปรับย้ายตอนนี้เท่าที่ดูยังไม่มี น่าจะปรับใหญ่ทีเดียวช่วงเดือนต.ค.

                พล.อ.อนุพงษ์กล่าวกรณี ป.ป.ช.ส่งหนังสือเรียกให้ถ้อยคำในฐานะพยานตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ระบุในคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ว่า ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช.แล้ว โดยส่งเป็นคำถามมา 8 ข้อ ส่วนใหญ่สอบถามถึงกลไกการสั่งการสลายชุมนุมในขณะนั้น ซึ่งจะทำหนังสือตอบเป็นลายลักษณ์อักษรส่งกลับไปที่ ป.ป.ช. คาดว่าจะส่งกลับไปอย่างช้าที่สุดต้นสัปดาห์หน้า

สุเทพแจงคดีสลายม็อบ 53

                เวลา 12.40 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. สนาม บินน้ำ พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) พระชินวรณ์ จันทสาโร หรือนายชินวรณ์

                บุณยเกียรติ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนายความ เข้ามาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีถูกกล่าวหาสั่งการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53 ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง

                พระสุเทพ ให้สัมภาษณ์ว่า อธิบายต่อองค์คณะไต่สวนหลายประเด็น ประเด็นสำคัญที่สุดคือนำคลิปและภาพนิ่งของกองกำลังชายชุดดำติดอาวุธซึ่งออกมาเข่นฆ่าประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นคลิปที่เผยแพร่ทางสื่อขณะนั้น เพื่อให้เห็นชัดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ก่อเหตุร้ายแรงทำให้เกิดความสูญเสียเอาคลิปมาให้ ป.ป.ช.เห็นกันจะจะว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร

                พระสุเทพกล่าวว่า นอกจากนี้ยังอธิบายแต่ละคำสั่งของศอฉ. ในฐานะผอ.ขณะนั้น สั่งตั้งด่านและจุดตรวจล้อมรอบพื้นที่ราชประสงค์ จุดตรวจตั้งอยู่กับที่ เช่น ที่ราชปรารภ ถนนพระราม 4 และหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ไม่ได้เคลื่อนไปหากลุ่มผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ที่มีการปะทะที่ด่านตรวจเหล่านั้นเกิดจากกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าโจมตี เท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามีกลุ่มชายชุดดำเข้าโจมตี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ ฝึกฝนมาอย่างดี และมียุทธวิธีปฏิบัติคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐ

พัลวันสั่งใช้อาวุธจริง

                ส่วนที่ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีควบคุมกลุ่ม ผู้ชุมนุม พระสุเทพกล่าวว่า ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เช่นวันที่ 10 เม.ย. 2553 ให้ เจ้าหน้าที่กดดันขอคืนพื้นที่จราจรแต่ไม่ได้ผล และมีกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต จากนั้นวันที่ 13-18 พ.ค. จึงปรับเปลี่ยนตั้งด่านสกัดรอบพื้นที่ชุมนุมเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวและไม่ให้เติมคน ไม่ให้ขนอาวุธ และลดการใช้สาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อกดดันเลิกการชุมนุมไปเอง ต่อมามีการยิง เอ็ม 79 ไปบนสถานีรถไฟฟ้าและทั่วสารพัดทิศในพื้นที่สวนลุมพินี ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนเสียชีวิต จัดตั้งด่านสกัดเหมือนเดิมไม่ได้จึงต้องส่งกำลังคนเข้าควบคุมพื้นที่ ไม่มีทางเลือก เหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.2553 จึงเกิดขึ้น

                เมื่อถามว่าป.ป.ช.ติดใจเรื่องการใช้กระสุนจริงหรือไม่ พระสุเทพกล่าวว่า ก่อนหน้านี้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนลูกซองและกระสุนยาง ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงมีคำสั่งให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริง เพื่อป้องกันตัวเองและผู้บริสุทธิ์จากกลุ่มกองกำลังชายชุดดำ แต่มีกฎใช้อาวุธเพื่อความจำเป็น รักษาชีวิตเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์ และไม่มุ่งเอาชีวิตของเป้าหมาย

ไม่ตอบออกกม.อภัยโทษ

                เมื่อถามว่าการเข้าให้ถ้อยคำครั้งนี้ถือว่าครบถ้วนหมดแล้วใช่หรือไม่ พระสุเทพ กล่าวว่า คิดว่าครบถ้วน อยู่ที่ดุลพินิจของ ป.ป.ช. หากมีการชี้มูลในส่วนของการถอดถอนก็พร้อมชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดีเหมือนกันจะได้ห่มจีวรเข้าสภาสักครั้ง

                ส่วนคดีอาญาก็พร้อมขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่กังวลใจ ยืนยันว่าไม่หลบหนี เป็นคนไทยต้องเคารพกฎหมายไทย และยืนยันว่าไม่ต้องการเพิ่มพยานเพราะเป็นคนออกทุกคำสั่งเอง และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

                พระสุเทพ กล่าวกรณีร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสร้างสันติสุขด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการอภัยโทษว่า ประเทศจะมีความสันติสุขได้ถ้าคนมีธรรมะ เข้าวัดไปปฏิบัติธรรม หนุ่มๆ ไปบวชกันบ้าง

                เมื่อถามว่าให้กำลังใจพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ พระสุเทพกล่าวว่า ให้กำลังใจเสมอ ทั้งนายกฯ สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ให้เขาทำกันให้เรียบร้อย ปฏิรูปประเทศให้ได้อย่างที่ประชาชนต้องการ เหนื่อยหน่อย เห็นใจ เมื่อถามย้ำว่า ยังเชื่อมืออยู่หรือไม่ พระสุเทพกล่าวว่า เชื่อมือ ศรัทธา มั่นคง

ถวิลเป็นพยานมาร์คด้วยตัวเอง

                รายงานข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. แจ้งว่า กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอเพิ่มพยาน 2 ปาก คือนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสมช. และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. กรณีการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ขณะนี้ ป.ป.ช.ประสานนายถวิลแล้ว โดยจะมาด้วยตัวเองในวันที่ 28 เม.ย. ส่วนพล.อ.

อนุพงษ์ เบื้องต้นทราบว่าอาจชี้แจงด้วยเอกสาร

                รายงานข่าวจากที่ประชุมป.ป.ช. เผยว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานจากคณะอนุกรรมการกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอยื่นขอขยายเวลาเข้าชี้แจงรายละเอียดการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามที่ป.ป.ช.ได้มีหนังสือไปถึงนายธาริตเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวที่มีนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานและผู้รับผิดชอบสำนวน เรียกประชุมวันพุธที่ 22 เม.ย.นี้เป็นผู้พิจารณาเรื่องการให้นายธาริต ขยายเวลาเข้าชี้แจงทรัพย์สิน ออกไปอีก 30 วันตามที่ร้องขอหรือไม่ เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นไปตามกรอบของกฎหมายอยู่แล้ว

23 เม.ย.แถลงเปิดสำนวนบุญทรง

                ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. แถลงว่า ที่ประชุมวิปสนช. กำหนดให้การประชุมสนช.วันที่ 23 เม.ย.เป็นวันแถลงเปิดสำนวนที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ให้สนช.พิจารณาถอดถอนหรือไม่ถอดถอน

                นพ.เจตน์กล่าวว่า วันดังกล่าวจะตั้งกมธ.ซักถาม 7 คน โดยยกเว้นข้อบังคับการประชุมให้สมาชิก ยื่นญัตติซักถามได้ภายในเวลา 12.00 น. วันที่ 27 เม.ย. และวันที่ 30 เม.ย. กมธ.ซักถามจะซักถามคู่กรณี และวันที่ 7 พ.ค. จะแถลงปิดสำนวน ก่อนลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 8 พ.ค.นี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. จะมาแถลงเปิดสำนวนด้วยตัวเอง โดยจะแถลงข้อกล่าวหาทีเดียวทั้ง 3 คน เนื่องจากเป็นข้อหาเดียวกัน ส่วนผู้ถูกกล่าวหาสามารถแถลงแก้ข้อกล่าวหาได้ทีละคน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งมายังสนช.ว่าจะมาด้วยตัวเองหรือไม่

อียูให้ใบเหลืองไทย-ขู่คว่ำบาตร

                สำนักข่าวเอพีรายงานว่า อียูประกาศให้เวลาประเทศไทย 6 เดือน ปรับเปลี่ยนนโยบายการประมงผิดกฎหมาย แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกและทำรายได้เกือบ 5,000 ล้านยูโร หรือ 173,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของอียูได้ทันกำหนด อุตสาหกรรมประมงของไทยจะถูกคว่ำบาตรและสูญเสียรายได้กว่า 17,300 ล้านบาท จากมูลค่าสูงสุดของการส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศสมาชิกอียูที่ 25,000 ล้านบาทต่อปี

                รายงานระบุ เนื่องจากปริมาณปลาทั่วโลกมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง อียูจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเด็ดขาดกับประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคของตนเอง เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อบังคับทางการค้ากับประเทศนอกกลุ่มสมาชิก และวิกฤตการจับปลาผิดกฎหมายทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณปลาที่จับได้ทั้งหมด ส่งผลให้มีเงินหวุนเวียนในตลาดมืดมากกว่า 347,000 ล้านบาท ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกลุ่มผู้ทำประมงท้องถิ่น

                อียูจึงหวังว่าจะหันมาร่วมมือกับไทยเพื่อลดช่องว่างทางกฎหมายที่ให้ผลประโยชน์กับอุตสาหกรรมประมงผิดกฎหมาย หลังจากช่วงที่เรียกว่า "ใบเหลือง" นี้ หากไทยทำตามเงื่อนไขของอียู จะสามารถกู้สถานะและกลับมาเป็นคู่ค้าส่งออกอาหารทะเลได้อีกครั้ง แต่ถ้าไม่ก็อาจได้รับ "ใบแดง" และคว่ำบาตรห้ามค้าขายกับประเทศสมาชิกอียู

ให้เวลา 6เดือน-แก้ประมงผิดกม.

                คณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์ให้เวลารัฐบาลไทย 6 เดือน แก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หลังจากที่ผ่านมาประเทศ ไทยไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เพียงพอ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า จากการวิเคราะห์และพูดคุยกับทางการไทยตั้งแต่ปี 2554 คณะกมธ.ชี้ว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องการเฝ้าติดตามปัญหา การควบคุมและแทรกแซงอุตสาหกรรมประมงผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหามากเพียงพอ

                นายคาร์เมนู เวลลา กมธ.ยุโรปว่าด้วยกิจการทางทะเลและการประมง ระบุว่า อียู มีนโยบายที่เข้มงวดเรื่องการกระทำซึ่งเป็นอันตราย เช่น การประมงผิดกฎหมาย จึงเรียกร้องให้ไทยร่วมมือต่อสู้เพื่อการทำประมงที่ยั่งยืน และ มีมาตรการที่เข้มแข็งต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย โดยให้เวลารัฐบาลไทย 6 เดือน เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการประมงให้เหมาะสม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อียูจะระงับการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารทะเลจากไทย ซึ่งมาตรการนี้เคยนำมาบังคับใช้กับประเทศเบลีซ กินี กัมพูชา และศรีลังกา มาก่อนแล้ว

                แถลงการณ์ระบุว่า ปัจจุบันมีปลาทะเล 11-26 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 15 ของปลาที่ถูกจับได้ทั่วโลก ถูกจับมาอย่างผิดกฎหมายในแต่ละปี ซึ่งอียูในฐานะผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก ไม่ประสงค์เป็นผู้ร่วมกระทำผิดและรับอาหารทะเลที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายนี้เข้าสู่ตลาด

"บิ๊กตู่"เครียดเจอขีดเส้นตาย

                เวลา 14.05 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะเดินทางด้วยเครื่องบินแอร์บัส 319 ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ Halim Perdanakusuma กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ตามคำเชิญของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย วันที่ 21-23 เม.ย. นายกฯ ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ เพียงส่งยิ้มและโบกมือให้ก่อนเข้าไปยังห้องรับรองทันที และนายกฯ จะเดินทางกลับวันที่ 23 เม.ย. เวลา 15.30 น. จากเดิมเวลา 23.00 น.

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้าไม่สู้ดีนัก คาดว่าเกิดจากกรณีกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ยื่นคำขาดให้เวลาไทย 6 เดือน แก้ไขนโยบายการทำประมงหรือจับปลาโดยผิดกฎหมาย หากไม่ปรับปรุงจะคว่ำบาตร ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยปลายปีนี้

"ปีติพงศ์"เรียกถกด่วน

                เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ เรียกนายชวลิต ชูขจร ปลัดฯ นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง และนายฉันทานนท์ วรรณเขจร ผอ.สำนักงานการเกษตรต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมด่วนรับมืออียู ออกประกาศให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทย

                นายชวลิตกล่าวว่า ใบเหลืองของอียูครั้งนี้ยังไม่มีผลทันทีต่อการส่งออกสินค้าประมงไทยไปตลาดอียู ซึ่งเฉลี่ยปีละ 200,000 ตัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท เนื่องจากอียู จะให้เวลาไทยปรับปรุงกฎหมายและมาตรการต่างๆ 6 เดือน ระหว่างนี้อียูจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินความก้าวหน้าการแก้ปัญหาของไทยเป็นระยะ ก่อนพิจารณาอีกครั้งต.ค.นี้ ว่าจะถอดใบเหลือง หรือออกใบแดง ห้ามไทยส่งออกสินค้าประมงทั้งหมดไปอียู

                นายชวลิตกล่าวว่า ใบเหลืองครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากอียูไม่พอใจมาตรการแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาลปัจจุบัน แต่เป็นผลจากการทำประมงของไทยก่อนหน้านี้ ขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้า 6 มตรการอย่างจริงจัง 1.การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 2.การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) 4.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5.ปรับปรุงพ.ร.บ.การประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6. จัดทำแผนระดับชาติป้องกันสินค้า ไอยูยู

เร่ง 6 มาตรการก่อนเจอใบแดง

                นายปีติพงศ์กล่าวว่า กระทรวงวางแผนเร่งรัด 6 มาตรการให้ทันเส้นตาย 6 เดือนที่อียูกำหนดหรือต.ค.นี้ ถึงเวลานั้นอียูจะพิจารณาอีกครั้ง อาจเป็นไปได้ 3 แนวทางคือ การออกใบเขียว ยกเลิกการเตือนสินค้าประมง การออกใบแดงห้ามนำเข้าสินค้าประมงไทย ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ หรือยืดเวลาให้ไทยแก้ปัญหาต่อไปอีก ตนสั่งการให้ใช้แผนเร่งรัดเดินหน้า 6 มาตรการ แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด และจะนำแผนเร่งรัดนี้รายงานให้ครม.ต่อไป และจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไอยูยู ที่มีรมวเกษตรฯ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรมช.คมนาคม ที่ดูแลกรมเจ้าท่า ให้พิจารณาแนวทางการเร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยูร่วมกันต่อไป

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงไทยไปอียู โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ระบุปี 57 ไทย ส่งออกสินค้าทะเล 148,995 ตัน มูลค่า 26,292 ล้านบาท ปี 56 ส่งออก 176,939 ตัน มูลค่า 31,072 ล้านบาท ปี 55 ส่งออกปริมาณ 189,904 ตัน มูลค่า 33,782 ล้านบาท

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 เม.ย. รมว.เกษตรฯ สั่งให้แถลงข่าวชี้แจงกรณีอียูออกใบเหลืองแก่ไทยด้วย

ลั่นพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

                ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีอียูขู่คว่ำบาตรสินค้าประมงของไทยว่า พล.อ.ประยุทธ์รับทราบแล้วและปรารภในที่ประชุม คตช. พร้อมกำชับให้แก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่และ เป็นระบบ ปัญหาดังกล่าวสะสมมานานจนเป็นเหตุให้อียูยื่นคำขาดดังกล่าว

                พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ที่ผ่านมา นายกฯ แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ มีคณะอนุกรรมการย่อยอีก 5 ชุด แก้ปัญหาค้ามนุษย์ทั้งระบบ มั่นใจว่าการแก้ปัญหาเดินมาถูกทางแล้ว การแจ้งเตือนดังกล่าวก็ทราบมาก่อนหน้านี้ และถ้าประกาศอย่างเป็นทางการจริงจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ให้ทุกภาคส่วนมุ่งมั่นและร่วมกันทำตามแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในเวลา 6 เดือน ถ้าครบกำหนดแล้วจะเกิดผลกระทบต่อการส่งออก เกิดผลเสียต่อประเทศมาก หากบางประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใหม่แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามเวลา นายกฯ ก็พร้อมใช้มาตรา 44 ปลดล็อกเรื่องดังกล่าว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมา

ตั้งกรรมการ-ส่งผู้เชี่ยวชาญแจง

                ที่บ้านเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงอียูเตือนไทยเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายว่า เราทราบมาก่อนและพยายามแก้ไขทั้งกฎหมาย เจ้าหน้าที่ แรงงานผิดกฎหมาย แต่อียูยังไม่พอใจเรื่องกฎหมายว่าลงโทษน้อยเกินไป รออียูส่งเรื่องมาว่ายังไม่พอใจเรื่องใดบ้าง ปัญหาเกิดมานานตั้งแต่ปี 2548 พยายามแก้ไขแต่ยังไม่เป็นที่พอใจในแบบที่เขาต้องการ ก็ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้อียูรับทราบ จากการหารือกับนายกฯ เห็นว่าจะตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแล ประกอบกับต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ แต่การชี้แจงอาจยังไม่เพียงพอ ขอดูก่อนว่ามีเรื่องใดบ้างที่เราตกหล่น

                "เรารู้อยู่แล้วว่าเขาจะให้ใบเหลืองแต่ยืดมาหลายเดือน ที่ผ่านมาก็ออกกฎหมายและปรับปรุงข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการตรวจเรือและการปล่อยเรือ ทำทุกอย่างที่คิดว่าเพียงพอแต่อาจจะยังไม่เพียงพอ" รองนายกฯ กล่าว

แจงถกฝึกคอบร้าโกลด์

                พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงรัฐบาลสหรัฐเลื่อนประชุมเตรียมการฝึกร่วมผสมภายใต้รหัสคอบร้าโกลด์ 2016 ว่า สหรัฐทำหนังสือเป็นเอกสารยืนยันว่าจะขอเลื่อนการประชุมไปต้นเดือนมิ.ย. ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการฝึก จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกปีก็มีการเลื่อนประชุมไม่เฉพาะปีนี้ อาจเป็นความไม่พร้อมแต่ไม่ได้มีปัญหา

                เมื่อถามว่าการเลื่อนฝึกครั้งนี้เกี่ยวกับทางการไทยไปสานความสัมพันธ์กับรัสเซียและจีนเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับจีนและรัสเซีย เรารักและเปิดรับทุกประเทศ ซึ่งนายกฯ รัสเซียไม่เคยมาเยือน ก็มาเยือนปีนี้เป็นครั้งแรก สมัยตนเป็นผบ.ทบ.ก็ไปเยือนรัสเซีย ไม่มีอะไรแปลกประหลาด

ปมนายกฯ คนนอกไม่ใช่เรื่องใหญ่

                พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงข้อกังวลการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ว่า หลายประเทศก็เป็นแบบนี้ นายกฯ ต้องเป็นคนในประเทศไม่ใช่คนนอกประเทศ นายกฯ จะมาอย่างไรตนไม่ทราบ แต่ที่ทราบ ส.ส.เป็นคนเลือกนายกฯ จะเป็นหรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ ไม่มีอะไรน่ากังวล

                เมื่อถามว่ากรณีนี้นายกฯ ไม่ได้มาจากตัวแทนของประชาชน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะเอาอย่างไรก็ได้ ตนไม่ได้มีไฟเขียว ไฟดำ ไฟแดง เป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกมธ.ยกร่างฯ ต้องคุยกันว่าจะ เอาแบบไหนเพื่อให้ประเทศอยู่ได้ คิดว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างฯ เพื่อเปิดช่อง เพราะเมื่อถึงเวลามันเดินไปไม่ได้ก็ต้องมาแก้ไขปัญหาแบบนี้อีก จึงเปิดโอกาสส.ส.เลือกคนที่เหมาะสม หรือเป็นกลางมาเป็นนายกฯ เพื่อแก้ไขปัญหาในชั้นต้น ตนว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ปกติ ส.ส.ต้องเลือกคนที่เป็นส.ส.ที่มาจากพรรคอยู่แล้ว ส่วนการทำประชามตินั้นเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ต้องดูในอนาคตว่าควรหรือไม่ควรทำ สปช.ต้องดำเนินการว่าควรมีประชามติหรือไม่ รัฐธรรม นูญไม่ได้เขียนว่าห้ามหรือเขียนว่า ต้องทำ

"พงศพัศ"รวบรวมข้อมูลปฏิรูปตร.

   ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงเรื่องปฏิรูปตำรวจที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 282 (8) ที่ระบุการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า เรื่องการปฏิรูปตำรวจทำกันมาโดยตลอด มีการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากข้าราชการตำรวจ ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น 6-7 คณะ มีเซ็นเตอร์ เป็นผู้รวบรวมทั้งหมด คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ซึ่งวันศุกร์ที่ 24 เม.ย. ตนคงต้องเรียกประชุม ผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้เพื่อติดตามสถานการณ์ ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูป ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงออกมาเป็นเช่นใด สิ่งสำคัญต้องบอกว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเปลี่ยนแปลง ถ้าประชาชนได้รับประโยชน์แล้วมาเปลี่ยนไปแล้วประชาชนเกิดความเสียหาย เช่น ความสะดวกสบาย ความเข้าอกเข้าใจ หรือวิธีการที่เปลี่ยนไป ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ มีความสะดวกสบาย และทำให้เข้าถึงได้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ดี

ผบ.ตร.เรียกถก 24 เม.ย.

    พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ยังไม่เห็นแบบแผนโครงสร้างปฏิรูปตำรวจ จึงยังไม่อยากพูดอะไรมากต้องขอรอดูก่อนว่าการปฏิรูปตำรวจจะออกมาตรงจุดไหน ส่วนที่จะแยกพนักงานสอบสวนนั้นคิดว่ามีปัญหากำลังพลที่ไม่เพียงพอกับคดี ถ้าแยกออกไปแล้วเป็นอิสระจะไปอยู่ตรงไหนนั้นยังไม่ขอออกความคิดเห็น

    พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง.ผบ.ตร. กล่าวว่า ผบ.ตร. มอบให้ตนเป็นประธานประชุมเรื่องการปฏิรูปตำรวจ แบ่งเป็นคณะต่างๆ รวม 6 คณะ ทั้งหมดได้ไปประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะร่วมกับตร. ถือว่าได้เหตุผล เป็นไปด้วยดี และวันที่ 24 เม.ย. เวลา 13.30 น. จะนำเรื่องปฏิรูปทั้งหมดเสนอผบ.ตร.รับทราบว่าตำรวจมีความคิดเห็นอย่างไร จะได้นำความเห็นในส่วนของตร. นำเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

รบ.กรอง 7 ข้อศาลเห็นต่าง

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีนายกฯ สั่งให้แต่ละกระทรวงรวบรวมข้อเสนอแนะและสิ่งที่ต้องแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะรวบรวมข้อแก้ไขของแต่ละกระทรวง แต่ไม่ใช่รัฐบาลจะยอมแก้ให้ทุกข้อเพราะบางข้อเอาแต่ความสะดวกให้ตัวเอง อยากให้ข้อเสนอที่จะยื่นต่อกมธ.ยกร่างฯเป็นข้อเสนอของบ้านเมืองก่อน

       เมื่อถามถึงศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใน 7 ประเด็น นายวิษณุ กล่าวว่า ทราบว่าจะมีการรวบรวมข้อเสนอ 7 ข้อส่งมาให้รัฐบาลพิจารณาเพราะศาลไม่มีสิทธิไปขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องกรองทั้ง 7 ข้ออีกครั้ง จากนั้นจะส่งให้กมธ.ยกร่างฯ เพื่อพิจารณาเป็นข้อแปรญัตติต่อไป

     นายวิษณุกล่าวว่า ได้อ่านข้อเสนอทั้ง 7 ข้อของศาลยุติธรรมจากสื่อ บางข้อไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพราะไม่ร้ายแรง แต่บางข้อเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตายสำหรับเขาจริงๆ แต่แปลกใจว่าทำไมบางข้อที่น่าแก้ไข เช่น ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานศาลฎีกา แต่กลับไม่ได้อยู่ใน 7 ข้อเสนอนั้น ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดินที่ไม่ต้องการควบรวมกันนั้น คงจะส่งข้อเสนอมาให้รัฐบาล หากรัฐบาลเห็นด้วยก็ส่งต่อ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ตัดทิ้งไป

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญว่า ความคิดหลักของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ที่จะกำจัดเผด็จการเสียงข้างมากน่าจะผิดทิศผิดทาง พรรคเห็นด้วยกับนายกฯที่ตั้งคณะทำงานประกบกมธ.ยกร่างฯ รวมทั้งให้ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบระบุปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาเป็นกุนซือ เพราะลำพังความคิดหลักของนายบวรศักดิ์ คงไปต่อได้ยากเต็มทน

อภิปรายรธน.ภาค2นาน 3วัน

    เวลา 08.50 น. ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกมธ.กิจการวิสามัญสปช. หรือวิปสปช. แถลงว่า การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ซึ่งเป็นวันแรกเป็นไปด้วยดีและน่าพอใจ สมาชิก สปช.และประธานกมธ.ปฏิรูปอภิปรายตามแนวทางและกรอบที่กำหนดไว้ อย่างสร้างสรรค์

     นายอลงกรณ์กล่าวว่า การประชุมวันที่สองจะเข้าสู่ภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง มีทั้งหมด 144 มาตรา มีสมาชิกแสดงเจตจำนงอภิปราย 129 คน แบ่งเป็นประธานกมธ.ปฏิรูป 13 คณะ สมาชิกสปช. 116 คน คาดจะใช้เวลาอภิปรายถึงวันที่ 23 เม.ย. มี 9 ประเด็นที่น่าสนใจคือ 1.ที่มานายกฯ 2.ที่มาส.ว.

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 09:55 น. [ข่าวสดออนไลน์]   

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!