WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คดีปกครอง คดีปกครอง

1aaaDศาลปกครองกลาง

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ในคดีการลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19

        วันที่ 24 เมษายน 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรวมจำนวน 4 สำนวนคดี ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และได้ลงทะเบียนของรับเงินช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน .com แต่ได้รับแจ้งผลทาง sms ว่าไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาฯ

        เนื่องจากศาลฯเห็นว่า กระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดี ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับเงินตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ไว้ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องดำเนินการขอทบทวนสิทธิ์ตามขั้นตอนและวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดเสียก่อน ไม่สามารถใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ทันที การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลฯ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้

รายละเอียดคำวินิจฉัยโปรดอ่านจากคำสั่งศาลปกครองฉบับเต็มที่แนบมาพร้อมนี้

 

 

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

1aaa Kศาลปกครอง

ศาลปกครองสูงสุด สั่งบอร์ดคัดเลือกฯเมืองการบิน รับข้อเสนอซีพี กลุ่มซีพี พันธมิตร พร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเมืองการบินฯ

 ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอซองที่ ๒ และซองที่ ๓ ของกลุ่มซีพี

 ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ. ๓๘๑/๒๕๖๒ หมายเลขแดงที่ อ. ๑/๒๕๖๓ ระหว่าง บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม ๕ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดี) ณ ห้องพิจารณาคดีที่ ๑๒

 ​คดีนี้ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดี ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ที่ไม่รับซองข้อเสนอฉบับจริงและฉบับสำเนากล่องที่ ๖ (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และซองข้อเสนอฉบับจริงและฉบับสำเนากล่องที่ ๙ (ข้อเสนอด้านราคา) ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า แจ้งตามหนังสือสำนักงานบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.๑๘๒/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

      ​ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการที่มีการยื่นข้อเสนอในคดีนี้ เป็นการดำเนินการในกรอบของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และได้มีการดำเนินการสืบเนื่องมาตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีลักษณะเป็นการคัดเลือกเอกชนที่จะร่วมลงทุน ซึ่งกฎหมายได้กำหนดหลักการสำคัญในการดำเนินการเอาไว้ ได้แก่ หลักการความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับเอกชน หลักการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

 สำหรับในส่วนของข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการยื่นข้อเสนอตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนนั้น นอกจากข้อ ๓๑ (๑) ที่กำหนดวันเวลาในการรับและปิดการรับซองข้อเสนอ และข้อ ๓๑ (๓) ที่กำหนดว่า คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และ/หรือบุคคลที่คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ มอบหมายจะไม่รับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองข้อเสนอตามที่ระบุไว้ในข้อ ๓๑ (๑) แล้ว ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอแต่ละส่วน กระบวนการประเมินข้อเสนอ ตามข้อ ๒๖ ซึ่งกำหนดกระบวนการประเมินข้อเสนอแต่ละส่วนตามกระบวนการที่เป็นลำดับและในเวลาแตกต่างกันไปทีละขั้นตอน และกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในแต่ละส่วนเอาไว้ และกำหนดขั้นตอนวันเวลาในการเปิดซองและพิจารณาซองต่างๆ เอาไว้เป็นลำดับ

 ซึ่งจากข้อกำหนดต่างๆ ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนเห็นได้ว่า ถึงแม้กำหนดวัน เวลา และสถานที่เปิดและปิดรับซองข้อเสนอ และการที่มีข้อกำหนดว่าจะไม่รับซองข้อเสนอที่ยื่นหลังวันเวลาดังกล่าวนั้น จะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งในกระบวนการยื่นข้อเสนอก็ตามแต่ข้อกำหนดข้ออื่นๆ ได้กำหนดให้เห็นถึงกระบวนการยื่นและรับข้อเสนอ รวมถึงการเปิดซองข้อเสนอด้วยเช่นกัน ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าได้มีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจนเป็นเหตุที่จะไม่รับพิจารณาข้อเสนอหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงของกระบวนการยื่นและรับข้อเสนอที่เกิดขึ้นในคดีนี้ โดยคำนึงถึงหลักการสำคัญของกฎหมาย

 จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในคดีนี้ เห็นได้ว่า ปัญหาอันเป็นที่มาของเหตุแห่งการฟ้องคดีในคดีนี้มิใช่ปัญหาว่า กลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่ได้เข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ หรือกระทำการใดอันแสดงให้เห็นว่า ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ เพราะตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่รับฟังได้เป็นที่เห็นโดยประจักษ์ว่า กลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมในการยื่นข้อเสนอ และได้เข้าร่วมการยื่นข้อเสนอแล้วโดยการลงทะเบียนภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น

 ทั้งยังเห็นได้ว่า ปัญหาในคดีนี้ มิใช่ปัญหาว่ากลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ยื่นข้อเสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีปิดรับซองข้อเสนอแล้ว เพราะเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์เช่นกันว่า ในขณะที่กลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้าลงทะเบียนนั้น ได้มีการนำกล่องไม่ปิดผนึก (ซองศูนย์) จำนวน ๑ กล่อง มาด้วยแล้ว และได้มีการทยอยนำเอกสารซองข้อเสนอฉบับจริงจำนวน ๘ กล่อง ที่ได้มีการกำหนดลำดับเลขที่ของซองเอกสารล่วงหน้าไว้แล้ว ประกอบด้วย กล่องหมายเลข ๑/๑๐, ๒/๑๐, ๓/๑๐, ๔/๑๐, ๕/๑๐, ๗/๑๐, ๘/๑๐ และ ๑๐/๑๐ พร้อมฉบับสำเนามายังสถานที่ยื่นข้อเสนอแล้วก่อนเวลา ๑๕ นาฬิกาด้วยแล้ว และหลังจากนั้น จึงมีกระบวนการให้เข้ายื่นและตรวจรับข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอทีละราย แต่เป็นประเด็นปัญหาว่า ตามข้อเท็จจริงของกระบวนการยื่นและรับข้อเสนอในคดีนี้ การที่ข้อเสนอกล่องที่ ๖ ของซองที่ ๒ ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และกล่องที่ ๙ ของซองที่ ๓ ข้อเสนอด้านราคา ของกลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้า มีการขนผ่านจุดลงทะเบียนภายหลังเวลา ๑๕ นาฬิกา จะเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาไม่รับซองข้อเสนอดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 ในปัญหานี้ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์เห็นว่า กระบวนการในการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ที่กำหนดให้กระทำในวันและเวลาดังกล่าว เริ่มจากการลงทะเบียนแสดงตนของผู้ประสงค์เข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ หลังจากนั้น ในขั้นตอนการให้ผู้ยื่นข้อเสนอเข้ายื่นข้อเสนอและการตรวจรับซองข้อเสนอโดยผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการดำเนินการโดยให้ผู้ยื่นข้อเสนอเข้ายื่นข้อเสนอและทำการตรวจรับข้อเสนอทีละรายภายในห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ ส่วนผู้ประสงค์จะยื่นข้อเสนอรายอื่นให้รอการยื่นและตรวจรับซองข้อเสนออยู่ด้านนอก โดยกระบวนการในส่วนนี้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา และเสร็จสิ้นรายสุดท้ายในเวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา ซึ่งปรากฏว่าได้มีการดำเนินการยื่นและรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย รวมทั้งของกลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้แล้ว โดยมีเอกสารหลักฐานรับรองอย่างชัดเจน

 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ว่า ประเด็นเกี่ยวกับเวลาที่ลงในเอกสารดังกล่าว เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในการลงเวลานั้น เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ปฏิบัติเช่นเดียวกันแก่ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย และตามเอกสารหลักฐานดังกล่าวก็กำหนดให้ลง “เวลาที่มายื่น/ลงทะเบียน” เป็นเวลาสำคัญ อีกทั้งยังเห็นได้ว่า กำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชนก็จำต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกระบวนการยื่นข้อเสนอตามที่เกิดขึ้นจริง เช่นกรณีกำหนดเวลาเปิดซองที่ ๑ คุณสมบัติทั่วไป ตามที่กำหนดไว้เป็นวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๖ นาฬิกา ตามข้อ ๓๑ (๔) (ก) นั้น ตามข้อเท็จจริงก็จำต้องมีการให้เลื่อนกำหนดการเปิดซองที่ ๑ ออกไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รายงานว่ามีเอกสารจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบ

 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ถึงแม้ข้อกำหนดตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ เอาไว้ก็ตาม แต่ไม่ได้สอดคล้องกับกระบวนการยื่นและรับข้อเสนอตามที่ปฏิบัติและเกิดขึ้นจริงในวันดังกล่าวแต่อย่างใด สำหรับเอกสารข้อเสนอกล่องที่ ๖ ของกลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้า นั้น เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอซองที่ ๒ ซึ่งมีจำนวน ๔ กล่อง เอกสารข้อเสนอกล่องที่ ๙ เป็นเอกสารข้อเสนอซองที่ ๓ ซึ่งเอกสารทั้ง ๒ กล่องดังกล่าวเป็นเอกสารส่วนหนึ่งของเอกสารซองข้อเสนอฉบับจริง จำนวน ๑๐ กล่อง (ไม่รวมซองศูนย์) และเป็นเอกสารที่ได้มีการกำหนดเลขลำดับของกล่องเอาไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจงแล้ว และเอกสารทั้งหมดทุกกล่องนอกเหนือจากเอกสาร ๒ กล่องดังกล่าวได้มีการขนมาถึงก่อนเวลา ๑๕ นาฬิกาทั้งหมดแล้วเช่นกัน

 นอกจากนั้น ซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายล้วนอยู่ในความครอบครองเก็บรักษาของผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นๆ ตั้งแต่ต้น และต่อมาเมื่อมีการตรวจรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายซึ่งกระทำภายในห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือแล้ว เอกสารข้อเสนอของแต่ละรายก็จะอยู่ในความครอบครองของผู้ถูกฟ้องคดี ตลอดจนไปถึงขั้นตอนการนำไปเก็บรักษาไว้ในห้อง Navy Club อีกทั้งเอกสารข้อเสนอซองที่ ๒ ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองที่ ๓ ข้อเสนอด้านราคาที่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่รับพิจารณาในคดีนี้ ก็หาใช่เอกสารที่มีข้อกำหนดให้ต้องทำการเปิดซองในวันและเวลานั้นทันทีแต่อย่างใดไม่ โดยวิสัยและพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เป็นข้อสงสัยได้อย่างจริงจังว่า สาเหตุที่ซองเอกสารกล่องที่ ๖ และซองเอกสารกล่องที่ ๙ ลำเลียงมาถึงจุดลงทะเบียนหลังเวลา ๑๕ นาฬิกา นั้น เกิดขึ้นจากการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ล่วงรู้ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือเกิดขึ้นจากการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นอันจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า หรือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นแต่อย่างใด เพราะในที่สุดแล้ว ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกย่อมเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นผู้พิจารณาและให้คะแนนเป็นสำคัญ

 สาระสำคัญที่แท้จริงของกระบวนการยื่นข้อเสนอในคดีนี้จึงอยู่ที่การแสดงตนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ และหลังจากนั้น จะเป็นการนำข้อเสนอทั้งหมดยื่นและส่งมอบให้แก่ฝ่ายรัฐ เพื่อที่ฝ่ายรัฐจะได้นำเอาข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายไปพิจารณาในเวลาต่อไป โดยทำการเปิดซองข้อเสนอแต่ละซองของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายพร้อมกันในวันเวลาเดียวกันที่จะมีการกำหนดและแจ้งให้ทราบต่อไปอีกครั้งหนึ่ง เป็นลำดับกันไปตามกระบวนการ ดังนั้น การที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเฉพาะเอกสารข้อเสนอ กล่องที่ ๖/๑๐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซองที่ ๒ ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจที่มีจำนวน ๔ กล่อง และกล่องที่ ๙/๑๐ ซึ่งเป็นซองที่ ๓ ข้อเสนอด้านราคา ของกลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีการขนผ่านจุดลงทะเบียน เวลาประมาณ ๑๕.๐๙ นาฬิกา จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องหรือการปฏิบัติไม่ถูกต้องถึงขนาดที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการร่วมลงทุนในครั้งนี้ ในทางที่จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อหลักการดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

 ​ด้วยเหตุผลดังที่ได้พิเคราะห์มาข้างต้น จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับซองที่ ๒ ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ ๖ และซองที่ ๓ ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ ๙ ของกลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งห้าโดยเหตุผลเพียงว่า เป็นเอกสารข้อเสนอที่มาถึงจุดลงทะเบียนภายหลังกำหนดเวลา ๑๕ นาฬิกา นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดี แจ้งตามหนังสือสำนักงานบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.๑๘๒/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ ๒ ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ ๖ กับฉบับสำเนา และซองที่ ๓ ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ ๙ กับฉบับสำเนา ของผู้ฟ้องคดี และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้สิ้นผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

กลุ่มซีพี พันธมิตร พร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเมืองการบินฯ

 กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตร พร้อมเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เข้าร่วมประมูล ยืนยันความตั้งใจในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมประเทศไทยให้ก้าวไกล

 จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้กลับเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในการนี้กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง และพันธมิตร ซึ่งประกอบไปด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 4. บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด เครือ BGRIM และ 5. Orient Success International Limited ขอขอบพระคุณศาลปกครองสูงสุดที่ให้ความเป็นธรรม ทำให้กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง และพันธมิตรได้กลับเข้าสู่กระบวนการตามสิทธิที่พึงมีในการเข้าร่วมประมูลโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

 โดยพร้อมยอมรับผลการคัดเลือกและเคารพกฎกติกาการประมูลที่โปร่งใสเป็นธรรม และไม่ว่าผลการคัดเลือกจะออกมาเป็นเช่นไร กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรยินดีที่จะให้การสนับสนุนในทุกมิติเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง เนื่องจากตระหนักดีว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทย

 พร้อมกันนี้ ต้องกราบขออภัยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกรวมไปถึงกองทัพเรือ ที่กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงมีตามกฏหมาย แต่ทั้งนี้ขอยืนยันด้วยความจริงใจว่ากลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างมากที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ เพราะต้องการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาล

 ในการนี้กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งและพันธมิตรจึงได้ผนึกกำลังนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรซึ่งล้วนเป็นบริษัทชั้นนำระดับสากล มาช่วยกันสร้างสรรค์และขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการรวมพลังครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

GOVราชกฤษฎกาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 7 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมตรี เรื่อง มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย นายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ในศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง รองประธานศาลปกครองสูงสุด

     นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง รองประธานศาลปกครองสูงสุด

     นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีบริหารงานบุคคลในศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง ประธานแผนกคดีบริหารงานบุคคลในศาลปกครองสูงสุด

     นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง ประธานแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองสูงสดุ

     นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด

     นายพรชัย มนัสศิริเพ็ญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

      นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

                อินโฟเควสท์

Gศโรตม สวสดพาณชยศาลปค.นัดอ่านคำพิพากษาใหม่คดีศิโรตม์ฟ้องปลัดคลังสั่งปลดโดยมิชอบ

     ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีที่นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงการคลัง ในวันที่ 1 ส.ค.60 เวลา 10.00 น.

      คดีนี้นายศิโรฒม์ ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการตามมติของ ป.ป.ช. และมีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ โดยกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่กรณีร่วมกันพิจารณาการรับโอนหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี โดยรับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ลดโทษปลดอดีตอธิบดีกรมสรรพากรออกจากราชการและคืนสิทธิประโยชน์ให้ คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว

       ต่อมา ป.ป.ช.ได้ยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลของคำพิพากษา ซึ่งไม่ได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากมิได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งพิพาท โดยวินิจฉัยก้าวล่วงไปถึงกระบวนการไต่สวนของผู้ร้องว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่ศาลฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนของผู้ร้อง และไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการของผู้ร้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประกอบกับไม่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอพิจารณาใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง

      แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณา และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี เนื่องจากกรณีนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและได้มีการดำเนินการไต่สวนอดีตอธิบดีกรมสรรพากร พยานบุคคล รวมทั้งพยานเอกสารและพยานวัตถุ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการชี้มูลความผิดของอดีตอธิบดีกรมสรรพากรมาตั้งแต่ต้น ป.ป.ช.จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในการวินิจฉัย หรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดี ป.ป.ช.จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

      ดังนั้น การที่ ป.ป.ช.มิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแต่แรก ทำให้ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดี และไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว ป.ป.ช.จึงเป็นผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ได้ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว

อินโฟเควสท์

Gบญทรง เตรยาภรมยศาลปกครอง ยกคำร้องบุญทรง ขอเพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าสินไหม GtoG หลังคำขอไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กม.กำหนด

      ศาลปกครอง มีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกรวม 5 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับนายกรัฐมนตรีกับพวก รวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทในระหว่างพิจารณาคดีได้นั้นต้องครบเงื่อนไขตามกฎหมายทั้ง 3 ประการ คือ 1.คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และ 3.การทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ

      คดีนี้ผู้ฟ้องทั้ง 5 ฟ้องว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการ กรรีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการระบายข้าวจากโครงการดังกล่าวด้วยวิธีการค้าข้าวระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (G to G) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 มีคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

         โดยเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว  เห็นว่า ภายหลัง จากผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้ง 5และผู้ถูกฟ้องคดีให้ถ้อยคำต่อศาลรับกันว่า นอกจากหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 และขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด

        ในชั้นนี้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า คำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการนั้น เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองในชั่นนี้จึงรับฟังไม่ได้ว่า หากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างในคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

      "ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี"

          อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!