- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 25 September 2024 20:02
- Hits: 5527
กสทช. ร่วมหารือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง กรณีความรุนแรงในเนื้อหารายการข่าว ตลอดจนส่งเสริมสื่อคุณภาพให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะได้เข้าพบคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา เพื่อหารือแนวทางในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ตลอดจนกลุ่มที่มีตวามเปราะบางในสังคม อันเนื่องมาจากรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาความรุนแรงและอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว
ทั้งนี้ ประเด็นที่ร่วมหารือส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับสถานการณ์รายการ “ขยี้ข่าว” หรือรายการข่าวที่มีวิธีการนำเสนอแบบเร้าอารมณ์ เน้นดราม่า และรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอความรุนแรงเกี่ยวกับเด็ก สตรี กลุ่มเปราะบาง หรือความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ตลอดจนการรับรู้และค่านิยมของสังคมโดยรวมได้ กสทช. จึงมีการดำเนินงานในหลายๆ มิติเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าวทั้งในแง่กลไกการกำกับดูแล การเปิดพื้นที่ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรวิชาชีพสื่อ และภาควิชาการ ตลอดจนการให้ความรู้กับสังคม และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า “รายการข่าวที่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะปุถุชนสนใจเหล่านี้ เป็นเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นการเปิดประเด็นเกี่ยวกับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่อีกด้านหนึ่ง วิธีการและเนื้อหาในการนำเสนอก็อาจจะกระทบสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นข่าวไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่”
“เราปฎิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมโทรทัศน์กำลังอยู่ในช่วงขาลง การพยายามหาจุดขายผ่านเนื้อหาเพื่อให้ได้เรตติ้งหรือยอดคนดูเป็นแนวทางที่หลายช่องทำเพื่อความอยู่รอด แต่กสทช.ก็จำเป็นต้องดูแลในเรื่องนี้เพราะข่าวเป็นพื้นที่และสาระที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในสังคม ทั้งในแง่การหล่อหลอมมติมหาชนหรือการบ่มเพาะค่านิยมทางสังคมต่างๆ มาตรฐานจริยธรรมและรสนิยมที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ในการนำเสนอข่าว” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศฯ ได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของปัญหาและการป้องกันแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นเห็นชอบที่จะเข้าร่วมรณรงค์และแก้ปัญหา อีกทั้งยินดีที่จะทำงานร่วมกับ กสทช. โดยจะมีการติดตามและประสานงานต่อไปในอนาคต
นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศฯ กล่าวว่า “วันนี้ต้องยอมรับว่าคนไม่ค่อยเสพข่าวที่ดีสักเท่าไหร่ เสพข่าวไม่ดีเยอะ เพราะเรียกเรตติ้ง”
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ผู้ประกาศข่าวไม่ควรใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไป จูงใจผู้ชมให้คล้อยตามโดยที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง กล่าวว่า ควรมีเส้นแบ่ง ที่ชัดเจนระหว่างรายการข่าว กับรายการ “ขยี้ข่าว” ที่มีการนำเสนอในลักษณะเร้าอารมณ์หรือดราม่า และควรมีการให้ความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของผู้ที่มาออกรายการและผู้ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหารายการด้วย
“รายการขยี้ข่าวอาจต้องสร้างนิยามใหม่ เนื่องจากองค์ประกอบของรายการเน้นการนำเสนอข่าวด้วยอารมณ์และความรู้สึกมากกว่าการรายงานข้อเท็จจริง การนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดการเล่าเรื่องแบบละคร (dramatization) และการขยายประเด็นอารมณ์ (sensationalism) ซึ่งอาจทำให้ข่าวขาดความเป็นกลาง และสร้างความเข้าใจผิดในสังคม ขยี้ข่าวจึงมีความแตกต่างจากข่าวแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์” นายธัญวัจน์ กล่าว
“หากรายการขยี้ข่าวไม่ใช่ข่าวในนิยามเดิม การผลิตและเผยแพร่เนื้อหาของรายการอาจเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ถูกสัมภาษณ์หรือถูกนำเสนอ การคำนึงถึงลิขสิทธิ์และสิทธิในการเผยแพร่ซ้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ควรมีสิทธิในการควบคุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น สิทธิในการอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำหรือได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการผลิตเนื้อหานั้น” นายธัญวัจน์ กล่าว
9628